บริษัทที่ได้มีการประเมินความพร้อมของตนเองก่อนการทำไอพีโอ และมีการเตรียมตัวที่ดีจะสามารถเพิ่มมูลค่าของธุรกิจของตนได้อย่างสูงสุด อีกทั้งยังเป็นการช่วยยกระดับมาตรฐานความโปร่งใสของบริษัทในการดำเนินธุรกิจ และช่วยส่งเสริมสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาร์ผ่านตลาดหลักทรัพย์ที่มีความน่าสนใจและน่าเชื่อถือ
“บริษัทเมียนมาร์ที่กำลังพิจารณาเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ควรตั้งคำถามกับตนเองก่อนว่าการเสนอขายหุ้นใหม่ต่อประชาชนเป็นทางเลือกที่เหมาะสมหรือไม่ โดยให้ตระหนักถึงสถานะและความพร้อมของบริษัท และช่วงเวลาในการทำไอพีโอที่เหมาะสม การทำการประเมินตนเองอย่างรอบด้านก่อนการทำไอพีโอจะช่วยให้บริษัทสามารถประเมินเวลาและความพร้อมในการจะเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์,” คุณฟูจิอิ กล่าว
ในงานเสวนา Myanmar Business Forum ของเคพีเอ็มจี ในหัวข้อ Getting Ready for the 2015 Yangon Stock Exchange เคพีเอ็มจี ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบสำคัญของการประเมินความพร้อมก่อนการทำไอพีโอ โดยแนะนำเรื่องที่ควรคำนึงถึงเพื่อช่วยบริษัทในการพิจารณาประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเข้าจดทะเบียน ซึ่งมีแนวทางที่จะช่วยประเมินโครงสร้างของบริษัทและกลุ่มธุรกิจที่จะเข้าจดทะเบียน มาตรฐานบัญชี ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจและแนวทางการแก้ไขป้องกัน รายงานทางการเงิน แผนเชิงกลยุทธ์ และการดูแลเรื่องธรรมาภิบาล
ในแง่ของการรายงานและความเสี่ยง บริษัทต้องแน่ใจว่าการควบคุมภายใน ขั้นตอนการปฏิบัติตามกฎระเบียบ นโยบายการกำกับดูแลกิจการ และระบบการบัญชี สอดคล้องกับมาตรฐานของตลาดหลักทรัพย์และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ปัจจัยที่ใช้ในการประเมินความพร้อมก่อนการทำไอพีโอมีความสำคัญยิ่งต่อทั้งบริษัทและตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น การจัดโครงสร้างการดำเนินงานบนหลักการกำกับดูแลกิจการและความโปร่งใสจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น ลดความเสี่ยงและสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้ง
คุณฟูจิอิ กล่าวว่า “ยังมีรายละเอียดที่บริษัทต้องใส่ใจอีกมากในการเตรียมตัวเพื่อเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีคุณภาพ การเตรียมความพร้อมในทุกด้าน การกำกับดูแลกิจการและความโปร่งใสจะไม่เพียงช่วยเพิ่มจำนวนหลักทรัพย์ที่ดีในตลาดหลักทรัพย์ แต่ยังช่วยเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุนในตลาดหุ้นให้กับนักลงทุนต่างชาติอีกด้วย”
คุณฟูจิอิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระยะแรกของการพัฒนาตลาดทุน บริษัทที่มีศักยภาพในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้งน่าจะเป็นบริษัทที่อยู่ในภาคธนาคาร เกษตรกรรม สินค้าอุปโภคบริโภค โครงสร้างพื้นฐาน ก่อสร้าง การผลิต และอสังหาริมทรัพย์
ประเทศเมียนมาร์เคยเปิดดำเนินการตลาดหลักทรัพย์ร่างกุ้งในช่วงทศวรรษที่ 1930 โดยปิดตัวลงเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้นในช่วงทศวรรษที่ 1950 ได้เปิดให้มีการซื้อขายอีกครั้ง แต่ต้องปิดตัวลงในเวลาต่อมาเนื่องจากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ
ปัจจุบัน มีการซื้อขายหุ้นของบริษัท 2 แห่ง ในตลาดซื้อขายตรง (over the counter: OTC) ที่ใช้ชื่อว่า Myanmar Securities Exchange Centre ตลาด OTC นี้เป็นการร่วมทุนระหว่างธนาคารของรัฐ Myanmar Economic Bank กับกลุ่ม Daiwa Securities Group โดยการเปิดตัวของตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้งในปี 2558 จะเข้ามาแทนที่การซื้อขายในตลาด OTC ในปัจจุบัน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit