“ยางคอมพาวด์” เทคโนโลยีการพัฒนา ยางพาราไทยสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในตลาดโลก

28 Apr 2014
สศอ. เผยผลักดันโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมยางคอมพาวด์เพื่อยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วย “ยางคอมพาวด์” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญในการปรับปรุงคุณภาพยาง ภาคอุตสาหกรรมมีความจำเป็น ต้องใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตผลิตภัณฑ์ยาง และตลาดมีความต้องการใช้ยางพาราซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักมากขึ้น การผลิตยางคอมพาวด์ จึงต้องมีความรู้ชนิดของยาง สารเติมแต่ง และเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมยางคอมพาวด์เพื่อยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำนโยบาย และยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมยางคอมพาวด์ และยกระดับการผลิตในอุตสาหกรรมให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางทั่วโลกมีความต้องการยางคอมพาวด์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยประเทศไทยมีศักยภาพเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพาราเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ในปี 2556 มีผลผลิตยางพาราประมาณ 4.1 ล้านตัน ส่งออกในรูปยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง น้ำยางข้น ยางคอมพาวด์ และอื่นๆ รวมกันประมาณ 3.66 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 2.49 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการส่งออกเฉพาะยางคอมพาวด์เป็นจำนวน 809,776 ตัน คิดเป็นมูลค่า 65,863 ล้านบาท คาดว่าปริมาณและมูลค่าการส่งออกยางคอมพาวด์จะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น ประเทศไทย ควรปรับเปลี่ยนโครงสร้างการส่งออกยางพาราจากในรูปวัตถุดิบยางธรรมชาติ เป็นผลิตภัณฑ์ยาง พร้อมเร่งวิจัยพัฒนาและสนับสนุนการแปรรูปยางภายในประเทศให้เป็นผลิตภัณฑ์ยางที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้หลากหลาย ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนการผลิตยางพาราของเกษตรกรสู่อุตสาหกรรม ในรูปแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางโดยใช้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการทำยางคอมพาวด์เป็นพื้นฐานที่สำคัญ หลายหน่วยงานมีบทบาทในการยกระดับเทคโนโลยีการผลิต และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนภายในประเทศ รวมถึง การจ้างแรงงาน และการสร้างห่วงโซ่อุปทานให้เกิดขึ้นภายในประเทศ ซึ่งยางคอมพาวด์ เกิดจากการนำยางพารามาผสมกับสารเคมีต่างๆ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติที่ดีขึ้น เป็นนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการผลิตและการแปรรูปยางเพื่อการส่งออก ในรูปผลิตภัณฑ์ยางชนิดต่างๆ ตัวอย่างเช่น ยางล้อ ชิ้นส่วนยานยนต์ พื้นรองเท้า สายพาน เครื่องมือทางการแพทย์ ยางรองคอสะพาน เป็นต้น

ดร.สมชาย ฯ ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้มีการตั้งโรงงานผลิตยางคอมพาวด์เพิ่มขึ้นทั้งในภาคใต้และ ภาคตะวันออก โดยส่วนมากเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน และมาเลเซีย ซึ่งตั้งโรงงานผลิต ยางคอมพาวด์เพื่อการส่งออก และเพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้สามารถผลิตยางคอมพาวด์และแปรรูปยางพาราสำหรับใช้ในเชิงอุตสาหกรรมได้ ในปี 2557 สศอ. จึงได้ดำเนินโครงการ “พัฒนาอุตสาหกรรมยางคอมพาวด์เพื่อยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์” และมีการจัดทำคู่มือปฏิบัติการเทคโนโลยีการผลิตยางคอมพาวด์ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราไทยไปสู่การใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สูงขึ้น รวมถึงทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์และศึกษาความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างโอกาสและทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการให้สามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยางมูลค่าเพิ่มสูงได้ต่อไป