นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ พ.ศ. .... เป็นร่างกฎหมายที่ร่างขึ้นใหม่เพื่อ ปรับปรุง แก้ไข พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ที่เป็นกฎหมายที่รับรอง และคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ รวมทั้งการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้อายุโดยปี2556 มีจำนวนผู้สูงอายุร้อยละ 14.73 และในปี2563 จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 19.13 จึงจำเป็นที่จะดูแลผู้สูงอายุโดยไม่เลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ตามจากการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่ต้องการสงเคราะห์แต่ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จึงต้องการที่จะพึ่งตนเองได้ ดังนั้นจึงต้องคุ้มครองส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ส่งเสริมการมีรายได้ที่เพียงพอ และควรได้รับการบริการที่มีคุณภาพและทั่วถึง
นางสุนี กล่าวว่า ในแง่ของสิทธิในร่างกฎหมายดังกล่าวได้ขยายสิทธิผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพอนามัย ได้กำหนดให้มีการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาและฟื้นฟูสมรรถนภาพอย่างครบวงจรทั้งในสถานพยาบาลและที่พักอาศัย อีกทั้งในด้านที่อยู่อาศัยในมาตรา 30 ได้ระบุให้หน่วยงานของรัฐส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุซึ่งมีที่พักอาศัยสามารถดำรงชีวิตอยู่กับครอบครัว กรณีที่ดำรงชีวิตตามลำพัง ให้หน่วยงานของรัฐสนับสนุนช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตามปกติ กรณีที่พักอาศัยไม่เหมาะสมสำหรับการดำรงชีวิตตามปกติให้หน่วยงานรัฐสนับสนุนให้มีการปรับปรุงแก้ไขหรือซ่อมแซม นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญเรื่องการทำงานและการมีรายได้ ที่ถือเป็นเรื่องใหม่คือ ให้นายจ้างรับผู้เกษียณอายุเข้าทำงาน โดยนายจ้างมีสิทธิได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี แต่หากนายจ้างที่ไม่รับผู้สูงอายุเข้าทำงานให้จ่ายเงินเข้ากองทุนเป็นรายปีร้อยละ50 ของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน
***ภาคประชาสังคมหนุนคลอดกม. เพิ่มคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ
แพทย์หญิงลัดดา ดำริการเลิศ ผู้จัดแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้นี้ค่อนข้างครอบคลุมในประเด็นปัญหาที่ต้องการปรับปรุงแก้ไข อย่างไรก็ตามยังมีรายละเอียดบางประเด็นที่จะต้องแก้ไขเพิ่มเติม เช่น มาตรการคุ้มครองตามสิทธิ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไร้สมรรถภาพยังไม่มีกลไกในการคุ้มครองทรัพย์สินแก่ผู้สูงอายุในทางกฎหมาย ขณะเดียวกันร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมาในลักษณะรัฐสวัสดิการ อีกทั้งอาจจะเป็นภาระทางการคลังในอนาคต เนื่องจากจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมากหรือคิดเป็น 14% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) นอกจากนี้ยังมีประเด็นเสนอแนะว่า ควรจะสร้างสิ่งแวดล้อมหรือสถานที่ซึ่งเอื้อต่อผู้สูงอายุ โดยอาจจะต้องมีมาตรการบังคับใช้ทางกฎหมาย แม้กระทั่งการใช้เทคโนโลยีในสถานที่ทำงานก็ต้องมีมาตรการในการส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ให้ชัดเจน
นายทวีป กาญจนวงศ์ ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กล่าวว่า ในร่างฯมาตรา 19 ที่กำหนดให้มีสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ควรเพิ่มประเด็นเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ เพื่อจะได้วินิจฉัยเรื่องราวร้องทุกข์ต่างๆและติดตามตรวจสอบด้วย เมื่อผู้สูงอายุมีสิทธิแล้วจะได้ติดตามตรวจสอบอีกขั้นตอนหนึ่งว่ารับสิทธิดังกล่าวจริงหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับมาตรา26 ซึ่งกำหนดให้ผู้สูงอายุได้รับการคุ้มครองส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตในเรื่องต่างๆควรเปิดกว้างไว้ ไม่ควรเขียนไว้ในกรอบแคบๆ
***ห่วงเป็นภาระท้องถิ่น แนะผนึกรัฐ-เอกชนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ
นางปราณีต ถาวร รองเลขาธิการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ส่วนตัวมองด้วยความเป็นจริงยังคิดว่าเป็นกฎหมายในฝัน อาจไม่นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง โดยเฉพาะประเด็นที่ไม่กำหนดสัญชาติ จะเป็นการเปิดกว้างเกินไปหรือไม่แต่ในเมื่อระบุว่าจะมีกำหนดไว้ในประกาศฯ ส่วนตัวก็ไม่ขัดข้อง นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมและกระจายอำนาจให้องค์กรส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมนั้นยังไม่ปรากฏรายละเอียดที่ชัดเจน อาจะนำข้อสังเกตไปปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม เช่นเดียวกับในมาตรา 32 ระบุ ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับเงินส่งเสริมคุณภาพชีวิตเป็นรายเดือนนั้น ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นภาระแก่ท้องถิ่น เพราะในความเป็นจริงที่ผ่านมาเป็นความฉ้อฉลทางนโยบายของนักการเมือง จึงอยากให้ คปก.เชิญผู้แทนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ทั่วประเทศร่วมหารืออีกครั้งเนื่องจากอปท.เป็นผู้ปฏิบัติโดยตรง
นางสาวพรรณประภา อินทรวิทยนันท์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ในแง่ของกฎหมายประเทศมีความก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง หากพิจารณากฎหมายฉบับนี้ เราควรมีนโยบายส่งเสริมระหว่างกันระหว่างภาครัฐ อปท. ผู้สูงอายุ ครอบครัวผู้สูงอายุ และภาคเอกชน เป็นไปในลักษณะหุ้นส่วน โดยสรุปกฎหมายฉบับนี้หากไปบังคับให้เกิดโมเดลนี้ คิดว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายที่ก้าวหน้าที่สุด
นายนิธิ พันธุ์มณี ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม อ.หาดใหญ่ กล่าวว่า ในการเตรียมการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องกองทุนอาจจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมว่าจะใช้ระบบสมัครใจหรือระบบบังคับ เพราะในเรื่องของกองทุนที่จะเข้าไปดูแลผู้สูงอายุนั้นเป็นเรื่องสำคัญ และท้องถิ่นควรจะเข้าไปสนับสนุน ขณะเดียวกันยังตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ของมาตรา 32 ที่ระบุให้ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับเงินส่งเสริมคุณภาพชีวิตเป็นรายเดือนนั้นจะมีความเป็นไปได้หรือไม่
***ชี้ช่องโหว่นิยาม“หน่วยงานรัฐ”ส่อปัญหา ก.แรงงานหวั่นเรื่องร้องเรียนพุ่ง
นางวิไลวรรณ เทียงดาห์ ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัญหาและอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นกับพ.ร.บ.ฉบับนี้ ประเด็นที่สำคัญคือ มาตรา 13 เห็นว่าควรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นแกนกลาง เนื่องจากมีบทบาทสำคัญ ส่วนร่างฯมาตรา 32 ที่นำไปผูกติดกับค่าจ้างขั้นต่ำ ควรที่จะศึกษาให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น และการที่จะให้กระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์นั้นอาจจะมีปัญหาเรื่องร้องเรียนอื่นๆตามมาเช่นเดียวกับประเด็นปัญหาคนพิการ
นางสาวณัฐภัทร ถวัลโพธิ กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า มีประเด็นข้อสังเกตว่า หน่วยงานของรัฐ ตามคำนิยามในร่างฯนี้ หมายความถึง กระทรวง กรม ส่วนราชการ ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา อาจจะส่งผลต่อการปฏิบัติงานตามมาตรา 38-40 ที่ระบุเพียงให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ซึ่งไม่ได้ระบุว่าเป็นหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งอย่างชัดเจนคาดว่าจะมีปัญหาในทางปฏิบัติอย่างแน่นอนนางราศี เบญจาทิกุล ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ร่างฯในส่วนที่ 4 เรื่องเงินส่งเสริมคุณภาพชีวิตไปผูกโยงกับเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน แนวคิดดังกล่าวควรมีการศึกษาข้อมูลในเชิงลึกเพื่ออ้างอิงหลักคิดนี้ด้วย และในมาตรา 36 ที่ระบุให้นายจ้างรับผู้สูงอายุแล้วเข้าทำงานถือเป็นความพยายามที่ดีที่จะบังคับทางกฎหมายแต่ควรจะพิจารณาในรายละเอียดที่รอบด้านอีกครั้งโดยควรจัดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากนายจ้างและผู้มีส่วนได้เสียด้วย ขณะเดียวกันการจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ยังเห็นว่า ควรเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการด้วย และควรให้ผู้ประกอบการได้มีระยะเวลาเตรียมตัวเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง
*** ผุดกลไกรวมกลุ่มผู้สูงอายุ-กลไกจังหวัดติดตามผล
นายวันชัย บุญประชา ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ดี หากพิจารณาการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตในกฎหมายฉบับนี้ได้เขียนไว้ครอบคลุมแล้ว แต่อยากให้พิจารณาถึงเรื่องคุณค่าผู้สูงอายุและการดูแลสุขภาพรวมถึงเรื่องของสิทธิไว้ด้วย ประกอบกับเห็นว่า ควรจะมีกลไกใหม่ทางวิชาการซึ่งในกฎหมายยังไม่ได้ระบุว่าจะมาจากไหน อีกทั้งยังขาดกลไกการรวมกลุ่มของประชาชนผู้สูงอายุซึ่งยังไม่ได้ระบุ สิทธิในการรวมกลุ่มเพื่อการจัดบริการกันเองและดูแลกันเอง ขณะเดียวกันเห็นว่า ควรจะเพิ่มกลไกในระดับจังหวัดและการติดตามและประเมินผลเข้าไปด้วยเพื่อให้ร่างกฎหมายฉบับนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
*** วางกรอบเตรียมความพร้อมรายได้-การศึกษา
แพทย์หญิง วันทนีย์ วัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า อปท.จะมีบทบาทสำคัญ ตามร่างฯที่ยกขึ้น ซึ่งยังไม่สอดคล้องกับบริบทของกรุงเทพมหานคร และจากการสำรวจการติดตามแผนของผู้สูงอายุแห่งชาติ ขณะนี้มีผู้สูงอายุที่มีสมรรถภาพและผู้สูงอายุที่ต้องรักษาพยาบาล หากมีระบบบริการทางการแพทย์ที่ดีก็ไม่น่าเป็นห่วง แต่ผู้สูงอายุอีกประเภทคือผู้ป่วยติดเตียง ขณะนี้อยู่ระหว่างการดูแลโดยกรุงเทพมหานคร แต่สิ่งที่ยังไม่พูดถึงคือการเตรียมความพร้อมของประชาชนใน 4 ด้านคือ1.การเตรียมตัวในเรื่องสุขภาพ 2.การเตรียมการในเรื่องรายได้3.การเตรียมความพร้อมด้านที่พักอาศัยและสิ่งแวดล้อม 4.การเตรียมความพร้อมด้วยการเชื่อมโยงไปสู่เรื่องการศึกษา หากพิจารณาในรายละเอียดร่างฯฉบับนี้ ในเรื่องคำนิยามนั้น องค์กรชุมชนผู้สูงอายุ ในกทม.มีองค์กรและชมรมผู้สูงอายุจำนวนมาก อาจจะต้องมีการทำความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งคำนิยามนี้ควรกำหนดคุณสมบัติให้ชัดเจนด้วย เช่นเดียวกับคำนิยาม ผู้ดูแลผู้สูงอายุและผู้ช่วยผู้สูงอายุ
นางสุวัฒนา ศรีภิรมย์ ที่ปรึกษาแผนงานเรื่องการขับเคลื่อนบำนาญชราภาพ กล่าวว่า ในส่วนของภาระทางการคลัง แม้จะต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมากแต่คิดว่าคงไม่เหนือบ่ากว่าแรง ดังนั้นจึงควรมีการเตรียมการมาตั้งแต่ต้นก่อนที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยกฎหมายที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุควรจะสอดคล้องกับกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องรวมถึงสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยทั้งเรื่องการออม การรักษาพยาบาล เป็นต้น
นางสุรีรัตน์ ตรีมรรคา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า ภาพรวมของกฎหมายฉบับนี้ค่อนข้างดีเน้นการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างครอบคลุม และพร้อมจะเข้ามามีส่วนร่วมกับคปก.ในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ ขณะเดียวกันส่วนตัวเห็นว่าควร เพิ่มมาตรา 33 เขียนให้ชัดว่าจะทำอย่างไรผู้สูงอายุเข้าถึงข้อมูลข่าวสารแก่ผู้สูงอายุ ประเด็นที่สอง กฎหมายฉบับนี้ต้องระบุเรื่องสิทธิให้ชัดเจน โดยยืนยันบนหลักการให้คุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุอย่างสมศักดิ์ศรี เพิ่มความมั่งคั่งโดยกระจายการจัดเก็บภาษีอย่างเหมาะสม และมีข้อเสนอด้วยว่า ควรเพิ่มอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการในเรื่องการรณรงค์และทำความเข้าใจ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit