ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท “บ. น้ำตาลขอนแก่น” ที่ระดับ “A/Stable”

22 Apr 2014
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทของ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ เงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่จะนำไปชำระหนี้เดิมและขยายธุรกิจ อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงความเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของประเทศไทย ตลอดจนการกระจายความเสี่ยงธุรกิจไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาล ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงความเสี่ยงทั้งในด้านกฎระเบียบและการดำเนินธุรกิจอ้อยและน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชา รวมทั้งความผันผวนของราคาน้ำตาลและปริมาณผลผลิตอ้อยด้วย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มน้ำตาลขอนแก่นจะยังคงดำรงสถานะการเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทยเอาไว้ได้ โดยระบบแบ่งปันผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลและการเติบโตของธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าจะช่วยรองรับการดำเนินงานในช่วงวงจรขาลงของธุรกิจน้ำตาลได้ บริษัทน้ำตาลขอนแก่นก่อตั้งในปี 2488 โดยตระกูลชินธรรมมิตร์และคณะ ปัจจุบันตระกูลชินธรรมมิตร์ถือหุ้นในบริษัทรวม 70.0% ของหุ้นทั้งหมด บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 5 แห่งในประเทศไทย โดยมีกำลังการหีบอ้อยรวม 102,000 ตันอ้อยต่อวัน กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นหีบอ้อย 7.7 ล้านตันอ้อยในปีการผลิต 2555/2556 และผลิตน้ำตาลได้ 738,952 ตัน ซึ่งจัดเป็นกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 4 ของประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 7.4% ในปีการผลิต 2555/2556 รองจากกลุ่มมิตรผลซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาด 19.9% กลุ่มไทยรุ่งเรือง 16.3% และกลุ่มไทยเอกลักษณ์ 9.3%

ตั้งแต่ปี 2549 บริษัทได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อย รายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย(EBITDA) จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าและเอทานอล เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างปีการเงิน 2550-2556 ในปีการเงิน 2556 รายได้จากธุรกิจพลังงาน (ไฟฟ้าและเอทานอล) คิดเป็นสัดส่วน 17% ของรายได้รวม ในขณะที่ EBITDA จากธุรกิจพลังงานคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของ EBITDA รวมของบริษัท ปัจจุบันธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชามีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทย โดยผลผลิตน้ำตาลในทั้ง 2 ประเทศในปีการผลิต 2555/2556 มีเพียง 35,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 5% ของผลผลิตน้ำตาลในประเทศไทย ทั้งนี้ โรงงานของบริษัทในทั้ง 2 ประเทศนี้ขาดทุน 58 ล้านบาทในปีการผลิต 2555/2556

ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงปีการเงิน 2556 อยู่ภายใต้แรงกดดันของราคาน้ำตาลที่ลดลงและปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น บริษัทมีรายได้ลดลง 15% เป็น 18,941 ล้านบาท ในปีการเงิน 2556 จาก 22,212 ล้านบาท ในปีการเงิน 2555 จากการลดลงของปริมาณขายน้ำตาล 9.1% และการลดลงของราคาขายน้ำตาล 11% อย่างไรก็ตาม การเติบโตของรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าและเอทานอลช่วยบรรเทาผลกระทบจากการลดลงของราคาน้ำตาลได้ส่วนหนึ่ง รายได้เอทานอลปรับตัวสูงขึ้น 196.2% เป็น 1,961 ล้านบาท และรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 19.7% เป็น 1,029 ล้านบาท EBITDA ในปีการเงิน 2556 ลดลง 25.8% เท่ากับ 3,399 ล้านบาท จากระดับ EBITDA สูงสุดในปีการเงิน 2555 ที่ 4,580 ล้านบาท อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงเป็น 13.8% ของยอดขายรวมในปีการเงิน 2556 จาก 18.4% ในปีการเงิน 2555 เนื่องจากราคาขายน้ำตาลทรายอ่อนตัวลง นอกจากนี้ ต้นทุนขายน้ำตาลของบริษัทยังสูงขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยของบริษัทลดลงมากกว่าการลดลงโดยเฉลี่ยของอุตสาหกรรมในปีการเงิน 2556 โดยมีสาเหตุจากปัญหาเครื่องจักรในโรงงานน้ำตาล

ผลการดำเนินงานในช่วง 3 เดือนแรกของปีการเงิน 2557 (พฤศจิกายน 2556 - มกราคม 2557) อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 25.0% ของยอดขายรวม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีการเงิน 2556 ที่ระดับ 14.8% ของยอดขายรวม อัตรากำไรที่ดีขึ้นเกิดจากต้นทุนการผลิตน้ำตาลที่ลดลงเพราะผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยสูงขึ้น ในขณะที่ราคาขายเฉลี่ยของน้ำตาลใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2556 นอกจากนี้ ธุรกิจเอทานอลซึ่งคิดเป็น 16%ของยอดขายรวมในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีการเงิน 2557 มีอัตรากำไรเพิ่มขึ้น การเติบโตของการบริโภคแก๊สโซฮอล์เป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้ราคาขายเอทานอลปรับตัวสูงขึ้น ราคาอ้างอิงของเอทานอลในประเทศไทยช่วงเดือนตุลาคม ปี 2556 ถึง เดือนมกราคม ปี 2557 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 27.40 บาทต่อลิตร เปรียบเทียบกับราคาอ้างอิงเฉลี่ยในช่วงเวลาเดียวกันของปีการผลิตก่อนหน้าที่ระดับ 21.77 บาทต่อลิตร ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทที่เพิ่มสูงส่งผลให้ EBITDA ของบริษัทในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2557 เพิ่มขึ้น 21.9% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็น 986 ล้านบาท แม้ว่ารายได้รวมของบริษัทจะลดลง 17.6%

อัตราการก่อหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ระดับ 57.3% สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ตุลาคม (สิ้นปีงบการเงิน 2556) อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นในปีการเงิน 2556 เนื่องจากการลงทุนในอาคารสำนักงานให้เช่า การขยายกำลังการผลิตน้ำตาล และความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทยังสูงขึ้นเป็น 60.3% ณ สิ้นเดือนมกราคม 2557 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหีบอ้อยทำให้มีความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนจำนวนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (Interest Coverage Ratio) ยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจที่ 5.2 เท่า ในปีการเงิน 2556 และ 5.4 เท่า ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 คาดว่าธุรกิจน้ำตาลยังคงเผชิญสถานการณ์ราคาน้ำตาลระดับต่ำในปีการเงิน 2557 อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานที่ดีของกลุ่มเอทานอลและไฟฟ้า รวมถึงต้นทุนน้ำตาลที่ลดลงเป็นปกติจากผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยที่เพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมจะสร้าง EBITDA ให้บริษัทระดับประมาณ 3,500 ล้านบาทต่อปี บริษัทมีแผนลงทุนประมาณ 2,500 ล้านบาทในปีการเงิน 2557 สำหรับโครงการขยายกำลังการผลิตที่ดำเนินการอยู่และแผนการซ่อมบำรุงรักษาประจำปี ทั้งนี้ เมื่อพิจารณางบลงทุนของบริษัทดังกล่าว คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับในปีถัดไป

ปริมาณผลผลิตอ้อยและราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีความผันผวนเป็นอย่างมาก ในปีการผลิต 2556/2557 ตั้งแต่เปิดหีบจนถึงกลางเดือนเมษายน 2557 ปริมาณผลผลิตอ้อยของไทยมีจำนวน 102.8 ล้านตันอ้อย คาดว่าปริมาณผลผลิตอ้อยในประเทศไทยจนถึงสิ้นสุดปีการผลิต 2556/2557 จะมีจำนวนทั้งสิ้น 105 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้นจาก 100 ล้านตันอ้อยในปีการผลิต 2555/2556 ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยอยู่ที่ 109.2 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เทียบกับปีการผลิต 2555/2556 ที่ระดับ 100.2 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ส่วนราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกซึ่งหลังจากลดลงไปสู่ระดับ 14-15 เซนต์/ปอนด์ ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ 17-18 เซนต์/ปอนด์ เนื่องจากภาวะภัยแล้งในประเทศบราซิล ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่สุดของโลก

บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) (KSL)

อันดับเครดิตองค์กร: A

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

KSL14DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A

KSL15DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A

หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2560 A

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable