Ms.Penchan Manawanitkul, Senior Officer Enterprise Development, Asean Economic Community (AEC), Department ASEAN Secretariat กล่าวถึงการพัฒนา SMEs เพื่อรองรับ AEC โดยระบุว่า หัวใจหลักที่จะทำให้ธุรกิจ SMEs สามารถรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีด้วยกัน 4 ช่องทาง ได้แก่ 1.การพัฒนาบุคลากรทางธุรกิจ 2.การผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ 3.การทำให้วัตถุดิบมีมูลค่ามากขึ้น และ 4.การขยายตลาด นอกเหนือจากคู่แข่งทางการค้า ควรมีการเปิดตลาดใหม่ๆเพิ่มเติม ขณะเดียวกันการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐในการไปดูงานต่างประเทศจะช่วยให้ผู้ประกอบการเพิ่มวิสัยทัศน์เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าได้มากยิ่งขึ้น
คุณอดิทัต วะสีนนท์ ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักบริหารยุทธศาสตร์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากผลสำรวจความพร้อมที่จะเข้าสู่ AEC ของผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs เมื่อปลายปีที่แล้วพบว่า มีผู้ประกอบการถึงร้อยละ 60 ที่ระบุว่ายังไม่พร้อม โดยให้เหตุผลว่ารอนโยบายทิศทางที่ชัดเจนจากภาครัฐ เงินสนับสนุน การปรับตัว และบางส่วนระบุว่าเป็นแค่กิจการขนาดเล็กไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับนานาชาติเนื่องจากมีตลาดในประเทศอยู่แล้ว ขณะที่ร้อยละ 30 ระบุว่าพร้อม และ ร้อยละ10 ระบุว่ายังไม่แน่ใจ นอกจากนี้จากผลการสำรวจยังพบว่า ไทยมีจุดอ่อนเรื่องภาษาที่ต้องปรับปรุง ทำให้มีผลต่อการแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องการจัดอบรมความรู้ การจัดการบริหารบุคลากร รวมทั้งการลดต้นทุน พลังงาน วัตถุดิบ ภาษี การเพิ่มผลิตภาพและการสนับสนุนการส่งออกให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
คุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการ AEC Prompt หอการค้าไทย กล่าวว่าผู้ประกอบการ SMEs ไม่ควรมองแค่เพียงกลุ่มประเทศอาเซียนแต่ควรมองรวมไปถึงทั่วโลก เนื่องจากหัวใจการทำธุรกิจในปัจจุบันไม่ใช่แค่การหวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องควบคู่ไปกับมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ภายใต้แนวคิดที่ว่าโลกต้องการอะไร ทำอย่างไรให้ธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ทำลายธรรมชาติน้อยที่สุด ซึ่งผู้ประกอบการต้องเชื่อมโยงธุรกิจให้ตอบสนองพร้อมๆกันทุกด้าน จากนั้นตลาดจะเข้ามาเองMr.Agus Muharram,lr.,MSP,Secretariat Ministry, Ministry of Cooperatives and SMEs, Indonesia กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของอินโดนีเซีย โดยระบุว่า รัฐบาลของอินโดนีเซียมีนโยบายที่จะทำให้ธุรกิจ SMEs ในประเทศรับมือกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วยการสนับสนุนทางการเงิน มีการออกนโยบายให้เงินกู้พิเศษแก่ผู้ประกอบการ รวมถึงการสนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้า SMEs ในกรุงจาร์กาตาและการจัดตั้งสหกรณ์เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่ผู้ประกอบการ เสริมความเชื่อมั่นทำให้ธุรกิจ SMEsเข้มแข็งขึ้น
ในงานยังมีการถ่ายทอดประสบการณ์ความสำเร็จ กลยุทธ์ของเอสเอ็มอีในการเจาะตลาดอาเซียน ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดย Ms.Tran Thi Hai Yen, SLIMMER STYLE Shareholding Inc., ประเทศเวียดนาม มองว่าการทำธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จนั่นคือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างธุรกิจกับธุรกิจโดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หากประเทศที่เป็นสมาชิกมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จะทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆอันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนและเพิ่มมุมมองในการทำธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และประเด็นที่ต้องคำนึงถึงในการผลิตสินค้าคือ ต้องสร้างแบรนด์สินค้าอาเซียน สินค้าที่สามารถไปขายได้ทุกประเทศสมาชิกอาเซียน
Yen เล่าประสบการณ์การทำตลาดนิชมาร์เกตในเวียดนามซึ่งกำลังเติบโตขณะนี้นั้น มีประสบการณ์ลองถูกลองผิดมาเช่นกัน ในการผลิตและออกแบบแฟชั่นเสื้อผ้าแต่สุดท้ายตระหนักว่าเราไม่จำเป็นต้องผลิตสินค้าสำหรับคนทุกกลุ่มแต่ผลิตสินค้าที่เราเชี่ยวชาญและทำได้ดีที่สุดเท่านั้น จึงเจาะที่กลุ่มลูกค้าเฉพาะช่วงวัย 27-45 ปีเท่านั้น โดยปัจจัยที่ทำให้สำเร็จคือคุณภาพสินค้าและบริการหลังการขาย มีบริการดี และติดตาม รวมทั้งพัฒนาไปข้างหน้า เมื่อสินค้าพร้อม ตลาดพอไปได้ และจังหวะเวลามาถึง ก็ลุยเลย แต่ต้องไปอย่างรู้เขารู้เรา ไม่ต้องไปกังวลกับรายละเอียดที่เป็นอุปสรรคมากนักเพราะทุกกฎระเบียบย่อมมีข้อยกเว้น
คุณมรกต สิงหแพทย์ ประธานบริษัท SIGMA&HEARTS ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ มีการขยายไปตั้งโรงงานแห่งที่สองที่ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยเหตุผลตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศเริ่มอิ่มตัวมองหาตลาดต่างประเทศ และพบว่าตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศอินโดนีเซียยังเปิดกว้าง มีความต้องการใช้รถจักรยานยนต์มากกว่า 7-8 ล้านคัน และอัตราค่าจ้างขั้นต่ำถูกกว่าประเทศไทย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยต้องอย่ากลัวที่จะไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่อินโดนีเซียเป็นตลาดที่ยังเปิดกว้างในหลาย ๆ ด้าน นับเป็นโอกาสของนักธุรกิจเอสเอ็มอีไทยให้กล้าเข้าไปลงทุน
อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจ SMEs (Small and Medium Enterprises) ถือเป็นธุรกิจที่มีบทบาทไม่ต่างจากธุรกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการเปิดประตูสู่ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (AEC) ในปี 2558 จะส่งผลให้ภูมิภาคอาเซียนกลายเป็นกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีฐานการผลิตรวมกัน รวมถึงเป็นการสร้างอำนาจต่อรองด้านการค้าและเศรษฐกิจในเวทีการค้าโลกได้อย่างเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น การพัฒนาและปรับโหมดธุรกิจ SMEs ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจ SMEs ปรับตัวภายใต้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit