ดร.มัทนา สานติวัตร อธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพจับมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกันผลักดันแนวคิด Creative Convergence Education การพัฒนาวิชาการเรียนการสอนแบบสร้างสรรค์ 360º ที่ปลดล็อคกรอบการเรียนรู้จากข้อจำกัดเดิมมาเป็นการคิดอย่างแตกต่างรอบด้าน เพื่อเตรียมความพร้อมของบัณฑิตที่กำลังจะก้าวสู่โลกของการทำงานและการแข่งขันในอนาคต เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางปัญญา พัฒนาศักยภาพความรู้ความเข้าใจในหลายมิติทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง ด้วยการผนวกความรู้ในเชิงวิชาการเข้ากับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ นำมาต่อยอดกลายเป็นผลงานที่ใหม่ สด แตกต่าง เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติ
ภายใต้ “โครงการบียู สตาร์ทอัพ” (BU STARTUP PROJECT) โดยนำนักศึกษาจาก 6 คณะ ได้แก่ คณะนิเทศศาสตร์, คณะวิศวกรรมศาสตร์, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, คณะมนุษย์ศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว, คณะบริหารธุรกิจ และคณะเศรษฐศาสตร์ มาเรียนรู้การทำงานเป็นทีม แลกเปลี่ยนหลักวิชาการและความคิด เพื่อเสริมจุดแข็งปิดจุดอ่อนของกันและกัน ต่อยอดเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่โดดเด่น เปี่ยมประสิทธิภาพ และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้จริง
นายศุกรีย์ สิทธิวนิช รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กล่าวว่า “ททท.เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรและส่วนรวม จึงร่วมสนับสนุนการจัด “โครงการบียู สตาร์ทอัพ” (BU STARTUP PROJECT) ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยมอบหมายโจทย์ให้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการบริหารจัดการ แคมเปญ “หลงรักประเทศไทย” รณรงค์ให้นักท่องเที่ยวหันมาเที่ยวเมืองไทย อย่างเข้าถึง เข้าใจ และหลงรักแหล่งท่องเที่ยวของไทย ซึ่งมุ่งเน้นไปยังกลุ่มเยาวชนไทยที่จะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่มีความสำคัญในการท่องเที่ยวของไทยในอนาคต”
ดังนั้น แคมเปญ “หลงรักประเทศไทย” จึงกลายเป็น หัวข้อ หลักในการเรียนการสอน โดยนักศึกษาจะต้องนำความรู้จาก 6 คณะมาหลอมรวมกัน ตามแนว คิด Creative Convergence Education เพื่อคิดค้นไอเดียสดใหม่ ที่สามารถตอบโจทย์ของแคมเปญหลัก “หลงรักประเทศไทย” ให้ประสบความสำเร็จ และการร่วมโครงการครั้งนี้ของ ททท. เป็นการทำกิจกรรม เพื่อสังคมที่ล้ำหน้ามากกว่า CSR ทั่วไป ซึ่งถือเป็น Marketing 3.0 ที่เข้าไปร่วมคิดร่วมสร้าง ร่วมพัฒนา ศักยภาพเยาวชนไทย ผ่านกระบวนการทางการศึกษาที่สร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน”
นางสาวพนิดา งามมณีวัฒน์ ตัวแทนนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 กล่าวว่า “ขอบคุณอาจารย์และมหาวิทยาลัยกรุงเทพที่ได้จัด โครงการบียู สตาร์ทอัพ” (BU STARTUP PROJECT) ซึ่งหลักสูตรนี้ทำให้ตนเองและเพื่อนๆ ได้เข้ามาเรียนรู้ในโลกการทำงานอย่างจริง นำความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ของแต่ละคนมาแชร์ แล้วร่วมกันสร้างสรรค์งานออกมาให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย อย่างการออกแบบ App แนะนำการท่องเที่ยว หรือการนำเทคโนโลยีสื่อสารใหม่ๆ มาถ่ายทอดวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้กับคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และหลงรักประเทศไทยในมุมที่อาจจะไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน หลักสูตรนี้เราทำงานกันเป็นกลุ่ม แต่ละกลุ่มประกอบด้วยเพื่อนๆ จากคณะนิเทศศาสตร์, คณะวิศวกรรมศาสตร์, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, คณะมนุษย์ศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว, คณะบริหารธุรกิจ และคณะเศรษฐศาสตร์ ร่วมกันวางคอนเซ็ปต์ แล้วแบ่งหน้าที่กันทำงาน อย่างตนเองอยู่คณะนิเทศศาสตร์ วางคอนเซ็ปต์ในการเล่าเรื่องผ่านสื่อสร้างสรรค์ 360º เพื่อนจากคณะเศรษฐศาสตร์ก็จะช่วยวิเคราะห์โอกาสทางด้านการเศรษฐกิจและสังคม คณะบริหารธุรกิจทำหน้าที่ช่วยวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย คณะมนุษย์ศาสตร์ก็จะช่วยในเรื่องของแนวคิดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และการใช้ภาษาที่เหมาะสมและถูกต้อง คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ จะช่วยในเรื่องของการผลิตเทคโนโลยีสื่อสาร หรือการสร้างแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ตอบโจทย์แคมเปญฯ ตอนนี้เราได้ทำงานกันไปกว่า 50%แล้ว มีการลงสำรวจตลาดและพื้นที่ไปสัมผัสกับกลุ่มเป้าหมาย และสถานที่ที่เราต้องการโปรโมทจริงๆ”
สำหรับ “นวัตกรรมการศึกษา” ภายใต้แนวคิด Creative Convergence Education จะเกิดขึ้นได้ต้องสร้าง ให้เกิดบรรยากาศของการเรียนอย่างสร้างสรรค์ (Creative Learning Space) และการสอนอย่างสร้างสรรค์ (Creative Teaching) ไปพร้อมกันทั้ง 2 ฝั่ง ผสมรวมกับการร่วมคิดร่วมสร้าง (Collaboration) กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อันถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ได้สำเร็จ
BU STARTUP PROJECT ทำการเรียนการสอน 15 สัปดาห์ เรียนเป็นกลุ่ม ในแต่ละกลุ่มมีนักศึกษา จากทั้ง 6 คณะ โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนเป็น Project Base เริ่มต้นกับกิจกรรม Startup Camp เพื่อเป็นการเตรียมนักศึกษาทุกคนได้ทำความรู้จักคุ้นเคยกัน พร้อมเปิดใจทำงาน ร่วมกัน มีการเชิญผู้รู้ มืออาชีพ ศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จ ผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อต่างๆ มาเป็นผู้สอน และเป็นวิทยากรรับเชิญ (Guest Speaker) เพื่อถ่าย ทอดเทคนิค ประสบการณ์ ให้นักศึกษาอย่างเต็มที่
กิจกรรม Creative Journey ให้นักศึกษาออกสำรวจ ลงพื้นที่ในชุมชนที่แตกต่างกันเพื่อเก็บข้อมูลนำมาสร้างสรรค์เนื้อหาเรื่องราวให้พื้นที่เกิดความน่าสนใจกลายเป็น Creative Tourism ปิดท้ายด้วย Final Project Showcase แต่ละกลุ่มจะต้องนำเสนอผลงานของกลุ่มตัวเองให้คณะกรรมการ พิจารณาถึง ความน่าสนใจ ความสดใหม่ ประโยชน์ และรวมถึงความเป็นไปได้ในการต่อยอดทำเป็นธุรกิจจริงซึ่งผลงานของกลุ่มที่ได้คะแนนมากที่สุดจะได้รับรางวัลชนะเลิศ และเงินรางวัล รวมถึงโอกาสที่จะได้ พัฒนาไปสู่การได้รับเงินทุนเพื่อนำผลงานไปดำเนินการเป็นธุรกิจจริงต่อไปในอนาคต นั่นหมายความ นักศึกษาที่เรียนจบวิชานี้ อาจมีโอกาสกลายเป็นเจ้าของธุรกิจตัวจริงได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้ถึงเวลา สำเร็จการศึกษาเช่นที่เป็นมาในอดีตอีกต่อไป
BU STARTUP นี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ ททท. ที่แสดงถึง ความตั้งใจพัฒนาการเรียนการสอนนักศึกษาให้มีความคิดสร้างสรรค์ หลุดออกจากกรอบความคิดเดิมๆ ที่ยึดติดอยู่กับความรู้เฉพาะตนเองเช่นในอดีตที่ผ่านมา แต่เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่มาจากต่างคณะ ต่างพื้นฐาน ต่างองค์ความรู้ ได้เรียนรู้ร่วมกัน ทำลายกรอบความคิดมิติเดียวของตัวเอง พร้อมเปิดรับความคิดต่างอย่างสร้างสรรค์จากเพื่อนนักศึกษาต่างคณะอย่างที่ไม่เคยมีที่ไหนทำมาก่อน เพื่อตอกย้ำวิสัยทัศน์ และความมุ่งมั่นตั้งใจของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในการเป็นมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ และก้าวไปสู่สังคมแห่งความคิดสร้างสรรค์อย่างแท้จริง