สำหรับนักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.pr.kmitl.ac.th
นางสาวจารุพัชร อาชวะสมิต อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. และดีไซเนอร์ชื่อดัง เจ้าของผลงานการออกแบบลายผ้าไทยให้กับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงการจัดนิทรรศการครั้งนี้ว่า นิทรรศการ ID CLOSE UP เป็นกิจกรรมแสดงผลงานวิทยานิพนธ์และผลงานนักศึกษาที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมายาวนานกว่า 30 ปี โดยในปีนี้ แนวคิดของงานคือ “The pixel of idea” หมายถึงการสร้างสรรค์ผลงานจากไอเดียเล็กๆ แต่สามารถต่อยอดไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ ผลงานที่มีการนำมาจัดแสดง จึงไม่ได้นำเสนอเพียงเรื่องดีไซน์อันสวยงาม แต่ยังมุ่งเน้นเรื่องการนำไอเดียเหล่านั้นมาต่อยอดสู่การผลิตจริงในภาคอุตสาหกรรมด้วย โดยทางภาควิชาฯ ได้คัดเลือกผลงานที่กำลังเป็นเทรนด์สินค้าสำหรับคนรุ่นใหม่มาทั้งสิ้น 6 กลุ่ม ซึ่งจะครอบคลุมทั้ง 6 กลุ่มสาขาที่มีการเปิดสอนในภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม ได้แก่ ผลงานกระเป๋าจากขนสุนัข จากกลุ่มสาขาการออกแบบสิ่งทอ ลายผ้า (Textile Design) ผลงานเครื่องประดับแห่งการให้ จากกลุ่มสาขาการออกแบบโลหะ เครื่องประดับ (Metal Design) ผลงานเซรามิคดูดซับน้ำ จากกลุ่มการออกแบบเซรามิกส์ และเครื่องปั้นดินเผา (Ceramic Design) ผลงานเก้าอี้ไม้ภูมิปัญญาสถาปัตยกรรมไทย จากกลุ่มสาขาการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือน(Furniture Design) ผลงานสินค้าไลฟ์สไตล์เอาใจวัยรุ่นอาเซียน จากกลุ่มสาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Industrial design) และผลงานบรรจุภัณฑ์ยกระดับโอทอป จากกลุ่มสาขาการออกแบบกราฟฟิกและบรรจุภัณฑ์ (Graphic & packaging design) ทั้งนี้ ผลงานทุกชิ้นจะสะท้อนถึงแนวทางการเรียนการสอนของภาควิชาฯ ที่เริ่มต้นตั้งแต่การฝึกฝนกระบวนการคิด
การวางคอนเซ็ปต์ การออกแบบ การผลิต ตลอดจนการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ เพื่อไม่ให้เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการตีโจทย์เรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่สามารถนำมาต่อยอดสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมได้จริง เพื่อเป็นการช่วยยกระดับอุตสาหกรรมไทยได้อย่างสร้างสรรค์ และช่วยสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยในมิติต่างๆ ทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ฯลฯ นอกจากนี้ ผลงานต่างๆ ยังสะท้อนถึงศักยภาพของบัณฑิต สจล. ที่พร้อมต่อการก้าวสู่เส้นทางวิชาชีพด้านการออกแบบอย่างแท้จริง
อาจารย์จารุพัชร กล่าวเพิ่มเติมถึงเทรนด์การบริโภคสินค้าและไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งขณะนี้กำลังเข้าสู่ยุค Generation Z หรือ Gen Z ว่า ขณะนี้ ประเทศไทย และประเทศต่างๆในโซนเอเชีย มีค่าครองชีพค่อนข้างสูง เทรนด์ในเรื่องการใช้สินค้าที่มีความหรูหรา (Luxury) จึงลดลง และคนจะหันไปใช้บริโภคสินค้าหน่วยเล็กแทน รวมถึงเทรนด์เรื่อง “Green and Small Space” หรือความชื่นชอบในการใช้ชีวิตภายในสถานที่ที่ไม่กว้างขวางและต้องการความเงียบสงบ กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น ดังจะเห็นการเติบโตของที่พักอาศัยประเภทคอนโด ซึ่งขณะนี้ มีจำนวนมากกว่า 75,000 หน่วย ประกอบกับไลฟ์สไตล์ในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคก็มีความเปลี่ยนแปลงไป โดยการซื้อสินค้าผ่านสื่อ Social Media ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคได้รับความสะดวก รวดเร็วจากสื่อประเภทนี้มากกว่าสื่ออื่นๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการยุคนี้ จึงควรเน้นการผลิตสินค้าภายใต้หลัก “เล็ก สะดวก เร็ว ง่าย” เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ ซึ่งหากมองในแง่การผลิตสินค้าในวงการอุตสาหกรรมการออกแบบแล้ว สิ่งที่เป็นจุดแข็งของเราคือความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้ จะเห็นว่าในบ้านเรามีผลิตภัณฑ์ดีไซน์ใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย แต่ยังมีจุดอ่อนในด้านการตลาด เพราะผลงานหลายๆชิ้นมักจะเป็นที่รู้จักแค่ในกลุ่ม Niche Market เท่านั้น เพราะฉะนั้น การสื่อสารกับผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มสาธารณชนมากขึ้น จึงเป็นสิ่งที่นักออกแบบต้องรีบปรับตัวต่อไป
“Caninie” กระเป๋าถือจากขนสุนัข เทรนด์ใหม่มาแรงแห่งวงการสิ่งทอ
นางสาวศิริอาภรณ์ พงศ์หิรัญรัฐ หรือเนม นักศึกษาสาขาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. เจ้าของผลงาน “Caninie” กระเป๋าจากเส้นด้ายขนสุนัข ผลงานการออกแบบในกลุ่มสาขา Textile Design กล่าวถึงที่มาของการออกแบบผลงานชิ้นนี้ว่า ทุกวันนี้ มีผู้เลี้ยงสุนัขในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งเจ้าของสุนัขบางกลุ่มนิยมนำสุนัขไปใช้บริการตัดแต่งขนที่ร้าน ทำให้ขนสุนัขเหล่านั้นกลายเป็นขยะไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้น แนวคิดในการนำขนสุนัขมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอจึงเกิดขึ้นมา เพื่อเป็นการนำขนของสุนัขซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับเส้นด้าย มาใช้งานต่อให้เกิดประโยชน์ และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้วัตถุดิบที่กำลังจะกลายเป็นขยะ โดยการนำขนสุนัขมาทำความสะอาด ด้วยการต้ม ก่อนจะใช้เทคโลยีในการปั่นด้ายขนสุนัขร่วมกับอะคริลิค ในอัตราส่วน 40:60 แล้วนำมาทอสลับกับด้ายคอตตอน ซึ่งจะทำให้ได้ผิวสัมผัสของเส้นใยที่มีความนุ่ม แข็งแรงทนทาน เหมาะกับการทำเป็นสิ่งทอประเภทต่าง ๆ และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ ส่วนสาเหตุที่สนใจการทำผลิตภัณฑ์กระเป๋า เนื่องจากคิดว่า สามารถออกแบบลวดลายต่างๆได้ง่ายกว่าการทำเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น และเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีความแปลกใหม่ โดยผลิตภัณฑ์กระเป๋าที่ออกแบบขึ้น มีชื่อแบรนด์ว่า “Caninie” ซึ่งมาจากคำว่า Canine ที่แปลว่าสุนัข โดยตนได้ออกแบบกระเป๋าจากขนสุนัขทั้งหมด 5 รูปแบบ เพื่อตอบสนองการใช้งานที่หลากหลาย ได้แก่ กระเป๋าสะพายไหล่ กระเป๋าถือ กระเป๋าสะพายข้าง กระเป๋าใส่โน้ตบุ๊ค และกระเป๋าเครื่องสำอาง ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้ มีต้นทุนตั้งแต่ 400 – 1,100 บาท แต่มีราคาขายอยู่ที่ราวๆ 1,500 – 4,000 บาท จึงตอบโจทย์ทั้งในแง่การต่อยอดทางธุรกิจ และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบแนวใหม่อย่างด้ายขนสุนัขไปพร้อมกัน
“Endless Giving เครื่องประดับแห่งการให้” ที่มีแรงบันดาลใจจากอวัยวะมนุษย์ กระตุ้นวงการอัญมณีเครื่องประดับ
นายธเนศ ศรีกฤษณพล หรือโน้ต นักศึกษาสาขาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. เจ้าของผลงาน “เครื่องประดับแห่งการให้” ผลงานการออกแบบในกลุ่มสาขา Metal Design กล่าวว่า เมื่อพูดถึงคำว่าเครื่องประดับ คนส่วนใหญ่จะนึกถึงเรื่องความสวยงาม ความหรูหรา แต่สำหรับผลงานชิ้นนี้ เกิดจากโจทย์ที่ว่า เราต้องการให้เครื่องประดับ ไม่ได้เป็นเพียงสินค้าที่ผลิตขึ้นเพื่อเสริมความสวยงามให้กับผู้สวมใส่เท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความงามในด้านจิตใจได้ด้วย ทำให้เกิดไอเดียในการออกแบบเครื่องประดับ
สำหรับใช้เป็นของที่ระลึกในโครงการ “Endless Giving แบ่งปันสิ่งเล็ก สร้างสิ่งยิ่งใหญ่” ของศูนย์บริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยเพื่อรณรงค์และส่งเสริมความเข้าใจในการบริจาคอวัยวะ ซึ่งการออกแบบเครื่องประดับแต่ละชิ้น ได้รับแรงบันดาลใจจากการนำลักษณะอวัยวะมนุษย์ เช่น ไต หัวใจ มาผสมรวมกับลวดลายต่างๆของต้นกล้วย เพื่อบ่งบอกถึงความหมายที่แตกต่างกันไป เช่น เครือกล้วยหมายถึงการรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกัน ใบตองหมายถึงการห่อหุ้มสิ่งดีๆ ก่อนถึงมือผู้รับ เป็นต้น โดยผลงานจะปรากฏออกมาในรูปแบบของ แหวน สร้อยข้อมือ และเข็มกลัด ซึ่งเป็นรูปอวัยวะต่างๆ เพื่อสะท้อนให้ผู้พบเห็นเกิดทัศนคติว่า การบริจาคอวัยวะเป็นการให้ที่สวยงาม เพราะการให้ของเราสามารถช่วยต่อลมหายใจของผู้อื่นได้
“เซรามิคดูดซับน้ำ” นวัตกรรมเก็บกักน้ำมันหอมระเหยปลุกอุตสาหกรรมเซรามิคลำปางสู่ตลาดโลก
นายณัฐพล ศรีอภิวัฒน์ หรือเพชร นักศึกษาสาขาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. เจ้าของผลงาน “เครื่องเคลือบดินเผาดูดซับน้ำ” ผลงานการออกแบบในกลุ่มสาขา Ceramic Design กล่าวถึงผลงานการออกแบบชิ้นนี้ว่า ผลิตภัณฑ์เซรามิคในบ้านเราขณะนี้ จะเน้นเรื่องดีไซน์มากเป็นพิเศษ ตนเองจึงพยายามหาจุดขายของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ซ้ำใคร โดยการเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณสมบัติพิเศษ นั่นคือการใช้ดินเทอร์ราคอตต้า (Terracotta) ซึ่งมีเนื้อดินที่มีความพรุนสูง และมีคุณสมบัติในการช่วยดูดซึมและกระจายของเหลวได้ดี ประกอบกับเมื่อนำไปเผาแล้ว จะได้ผิวดินที่มีสีเอิร์ธโทนอันสวยงาม สะท้อนถึงเอกลักษณ์ของการอยู่กับธรรมชาติ ซึ่งเหมาะกับการนำมาพัฒนาเป็นเครื่องเคลือบดินเผา โดยตนได้เพิ่มเอกลักษณ์ของผลงานด้วยการออกแบบเซรามิคที่เพิ่มประโยชน์การกระจายกลิ่นของน้ำมันหอมระเหย พร้อมการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับการพกพาติดตัวในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น การออกแบบพวงกุญแจเซรามิค ที่วางนามบัตรเซรามิค เครื่องประดับเซรามิค ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดมีคุณสมบัติในการเก็บกลิ่นหอมเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ แนวคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งหมด เกิดขึ้นเพื่อให้คนไทยเห็นความสำคัญของผลิตภัณฑ์เซรามิคมากขึ้น เพราะจากเดิม เรามักจะคิดว่า ผลงานเซรามิคส่วนใหญ่มีคุณค่าในด้านการใช้งานไม่มาก และเหมาะกับการเป็นของประดับตกแต่งบ้าน มากกว่าจะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ตนจึงคาดหวังว่า การเพิ่มคุณสมบัติการใช้งาน และเลือกวัตถุดิบที่จะช่วยเสริมให้ผลงานมีความโดดเด่นมากขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้ผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมเซรามิคไทยได้
“BAAN Chair” เก้าอี้ไม้ภูมิปัญญาสถาปัตยกรรมไทย ดีไซน์ไม่ซ้ำใครในอาเซียนตอบเทรนการเติบโตอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ นายวงศธร ชัยเชิดชูวงศ์ หรือนิว นักศึกษาสาขาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. เจ้าของผลงาน “Bann Chair” เก้าอี้ภูมิปัญญาสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบในกลุ่ม Furniture Design กล่าวว่า การออกแบบผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้งานในปัจจุบัน จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ด้านการใช้งานเป็นพิเศษ แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ละทิ้งความสวยงามด้านดีไซน์ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ตนคิดว่า คนรุ่นใหม่ชื่นชอบสินค้าที่มีกลิ่นอายของการย้อนยุค จึงนำไอเดียจากการสร้างบ้านทรงไทยสมัยโบราณ ที่มีการใช้เทคนิคการเข้าไม้ หรือ wood joinery มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบผลงานชิ้นนี้ โดยหลักการคือ เราจะไม่มีการใช้ตะปูในการต่อไม้แต่ละชิ้นเข้าหากันเลย แต่จะนำใช้วิธีประกอบไม้เข้าด้วยกันโดยการเข้ามุม ซึ่งนี่เป็นจุดเด่นของเก้าอี้ Baan Chair ที่แสดงถึงภูมิปัญญาของคนไทยอย่างชัดเจน ส่วนวัสดุที่ใช้คือไม้วอลนัท ซึ่งเป็นไม้ฝรั่งที่มีความแข็งแรง ทนทาน ลวดลายสวยงาม และมีสีที่ใกล้เคียงกับไม้ของไทย ผลงานชิ้นนี้จึงเปรียบเสมือนการผสมผสานความเป็นไทยด้วยการออกแบบที่เกิดจากภูมิปัญญาเรื่องการเข้าไม้ ผสมกับความสากล ด้วยการใช้ไม้วอลนัท นอกจากนี้ จะเห็นว่าขาของเก้าอี้ จะมีเพียง 3 ขา เพื่อให้เหมาะแก่การใช้งานภายในสถานที่ที่มีเนื้อที่จำกัด เช่น ในร้านอาหาร ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีผู้คนเดินเข้าออกตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องเลือกเก้าอี้ที่เคลื่อนย้ายได้ง่าย และไม่เป็นอุปสรรคต่อการสะดุดล้ม ซึ่งเป็นจุดเด่นอีกประการหนึ่งของเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้
สำหรับงานนิทรรศการ “ID CLOSE UP 2014 : THE PIXEL OF IDEA” จัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ณ บริเวณลานอีเดน ชั้น 2 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยนักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจ สามารถ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.pr.kmitl.ac.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit