นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีนโยบายที่สำคัญในการส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการพัฒนาศักยภาพในกระบวนการผลิต การบริหารจัดการเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ลดต้นทุนการผลิต เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันให้แก่สถานประกอบกิจการ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะหากสามารถลดการสูญเสียและเพิ่มผลิตภาพแรงงานได้ ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ซึ่งในจุดนี้เอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงได้ดำเนินการจัดโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานตามความต้องการสถานประกอบกิจการ ให้กับสถานประกอบกิจการจำนวน 200 แห่งทั่วประเทศ ใน 10 อุตสาหกรรม อันได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและสินค้าเกษตร, อุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนและโลหะ, อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ, อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์, อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, อุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์, อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพ, อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ โดยเน้นการดำเนินงานไปยังผู้ประกอบกิจการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ใช้งบประมาณในการดำเนินการทั่วประเทศทั้งสิ้น 75 ล้านบาท
“โครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานตามความต้องการสถานประกอบกิจการในพื้นที่รับผิดชอบของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 1 สมุทรปราการ ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่มุ่งให้ความช่วยเหลือสถานประกอบกิจการ เพื่อรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินธุรกิจ ที่จำเป็นต้องคำนึงถึงต้นทุนการผลิต และการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยการปรับปรุงกระบวนการด้านต่างๆ ในสถานประกอบกิจการ ไม่ว่าจะเป็นการขจัดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น (Eliminate) การรวมงานที่ซ้ำซ้อนเข้าไว้ด้วยกัน (Combine) การปรับลำดับขั้นตอนการทำงานเพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายที่มีประสิทธิภาพ (Rearrange) และการปรับปรุงขั้นตอนการทำงานให้ทำงานได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น (Simplify) เป็นต้น โดยการเพิ่มผลิตภาพแรงงานอย่างเป็นระบบนั้น จะช่วยให้แรงงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพแรงงานของสถานประกอบกิจการและโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการคลังสินค้า รวมถึงช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับสถานประกอบกิจการได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้ดำเนินโครงการหวังว่าโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานตามความต้องการสถานประกอบกิจการในครั้งนี้จะสามารถเป็นต้นแบบในการนำไปปฏิบัติ อันจะส่งผลถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมของประเทศต่อไป” อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าว
นายสุภพ ปิงตา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 1 สมุทรปราการ กล่าวว่า โครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานตามความต้องการสถานประกอบกิจการ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานในสถานประกอบกิจการ/โรงงาน มีความรู้จากการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกและสามารถนำแนวทางไปปฏิบัติเพื่อลดการสูญเสียในวงจรการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานได้อย่างยั่งยืน และเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบการด้านการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน สำหรับเป็นต้นแบบของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการรวมถึงเพื่อให้สถานประกอบกิจการ/โรงงาน ที่เข้าร่วมโครงการ สามารถลดการสูญเสียโดยลดต้นทุนที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม และมีแนวทาง วิธีปฏิบัติในการเพิ่มผลิตภาพแรงงานเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในโรงงานและการสูญเสียในกระบวนการผลิตและเพิ่มผลิตภาพแรงงานในสถานประกอบการอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีความรู้และทักษะในการวิเคราะห์/แนะนำสถานประกอบกิจการ ในการเพิ่มผลิตภาพแรงงานของสถานประกอบกิจการอีกด้วย
ทั้งนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้อนุมัติจัดสรรเป้าหมายและงบประมาณให้แก่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 1 สมุทรปราการ และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานในเครือข่าย เพื่อดำเนินการเพิ่มผลิตภาพแรงงานตามความต้องการสถานประกอบกิจการในพื้นที่รับผิดชอบของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 1 สมุทรปราการ โดยมีจำนวนสถานประกอบกิจการทั้งสิ้น 68 แห่ง แยกเป็นจังหวัดสมุทรปราการ 20 แห่ง ปทุมธานี 9 แห่ง นนทบุรี 6 แห่ง และกรุงเทพมหานคร 33 แห่ง และมีจำนวนลูกจ้างในสถานประกอบกิจการเข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 6,800 คน โดยได้มอบหมายให้ สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต หรือ SMI สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ
ด้าน นายมานะผล ภู่สมบุญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานตามความต้องการของสถานประกอบกิจการนั้น สภาอุตสาหกรรมแห่ง-ประเทศไทย โดย สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (Small and Medium Industrial Institute : SMI) รับหน้าที่ในการเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ โดยเห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อสถานประกอบการ โดยเฉพาะสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าจ้างที่สูงขึ้น และยิ่งในสภาวะปัจจุบัน ภาคธุรกิจยังได้รับผลกระทบทั้งจากปัญหาสถานการณ์ภายในประเทศ และผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา รวมถึงคู่แข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศที่แข่งขันกันอย่างรุนแรงมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับตัวและหาแนวทางในการพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพในการแข่งขันให้มากขึ้น โดยเฉพาะแนวทางในการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะฝีมือที่สูงขึ้น รวมถึงแนวทางการลดต้นทุนในกระบวนการผลิตหรือการบริหารจัดการภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ ก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้อยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ได้ โครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานตามความต้องการของสถานประกอบกิจการ จึงเสมือนเป็นอีกหนึ่งกุญแจดอกสำคัญของผู้ประกอบการไทยที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างเต็มศักยภาพ
อย่างไรก็ตาม โครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานตามความต้องการของสถานประกอบกิจการ มีวิธีการดำเนินโครงการฯ โดยเริ่มตั้งแต่การประชาสัมพันธ์รับสมัครสถานประกอบกิจการ หรือโรงงาน เข้าร่วมโครงการ จากนั้นจะมีการนำผู้เชี่ยวชาญเข้าศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลของสถานประกอบกิจการนั้นๆ และเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเรียบร้อย โครงการฯ จะดำเนินการฝึกอบรมให้ความรู้แก่พนักงานของสถานประกอบการกิจการ (On the Job Training) มีการดำเนินการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่สถานประกอบการ จากนั้นจะทำการวิเคราะห์และประมวลผล พร้อมจัดทำคู่มือการให้คำปรึกษาและสื่อเครื่องมือในการเพิ่มผลิตภาพแรงงานและลดความสูญเสียในวงจรการผลิตสำหรับให้กับสถานประกอบการ และคณะกรรมการควบคุมกำกับการทำงานด้วย