ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า TCELS ให้การสนับสนุนการทำแอพพลิเคชั่นของมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์ฯ มาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากแอพพลิเคชั่นการคัดกรองสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยเมื่อปีที่แล้ว จนมาถึงแอพพลิเคชั่นที่ช่วยในการตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญในครั้งนี้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก ศาสตราจารย์แพทย์หญิงนันทิกา ทวิชาชาติ คณะกรรมการและผู้เชี่ยวชาญของมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์ฯ ขณะเดียวกัน TCELS ก็มีแผนที่จะพัฒนาแอพพลิเคชั่นอย่างต่อเนื่องและครบวงจร เพื่อส่งเสริมการรับรู้และการคิดในผู้สูงอายุ
ศาสตราจารย์แพทย์หญิงนันทิกา กล่าวว่า แบบประเมินที่ใช้สำหรับการพัฒนาเป็นแอพลิเคชั่นโดยผู้เชี่ยวชาญในครั้งนี้ คือ แบบคัดกรองอัลไซเมอร์ฉบับย่อ หรือ Brief Alzheimer Screening (BAS) และ แบบทดสอบวาดภาพนาฬิกา Clock Drawing Test ซึ่งทั้งสองแบบประเมินนี้ มีการใช้งานที่สะดวก และใช้อย่างแพร่หลายอยู่แล้วในแพทย์ หรือบุคลากรทางสาธารณสุขโดยทั่วไป “แอพพลิเคชั่นดังกล่าว สามารถใช้ได้ทั้งระบบ iOs และ Android ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการตรวจ และแปลผลได้ทันทีจากโปรแกรมการคำนวณ สามารถจัดกลุ่มความเสี่ยงของผู้สูงอายุที่มารับการตรวจ ให้ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำที่เหมาะสมต่อไป อีกทั้งตัวโปรแกรมเองสามารถเก็บข้อมูลเชิงสถิติของผู้ที่มารับการตรวจ เพื่อใช้สำหรับการติดตามการรักษา หรือเพื่อวางแผนสำหรับศึกษาวิจัยต่อไปภายหน้าได้อีกด้วย” ศาสตราจารย์แพทย์หญิงนันทิกา กล่าว
ด้านนายแพทย์ยุทธ โพธารามิก ประธานมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์ฯ กล่าวว่า แอพพลิเคชั่นนี้ จะช่วยให้ผู้ที่อยู่ในวงการสาธารณสุขสามารถดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้สะดวกมากขึ้น แม้จะอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกล อย่างไรก็ตาม TCELS และมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์ฯ มีแผนจะเปิดอบรมให้ผู้เชี่ยวชาญที่สนใจใช้แอพพลิเคชั่นดังกล่าว และจะเปิดตัวแอพพลิเคชั่นอย่างเป็นทางการในงานสร้างสรรค์สังคมไทยห่างไกลอัลไซเมอร์ ครั้งที่ 6 ที่จะจัดขึ้นราวเดือนกันยายน โดยในปีนี้จะจัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด “ค่ายฝึกสมอง” หรือ Brain Boost Camp
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit