คร. เข้มข้นมาตรการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสเมอร์ส-โควี พบผู้เข้าข่ายเฝ้าระวังฯ รายที่ 2 ผลห้องปฏิบัติการไม่ได้ติดเชื้อโรคนี้

07 May 2014
กรณีพบผู้ป่วยเข้าข่ายเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 ชาวอินโดนีเซีย ในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ป่วยรายที่ 2 ที่เข้าข่ายเฝ้าระวังฯ กรมควบคุมโรค ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไม่พบเชื้อเมอร์ส-โควี และไม่พบเชื้อไข้หวัดใหญ่ เช่นกัน ขณะนี้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ 2012 หรือ เมอร์ส-โควี ในประเทศตะวันออกกลาง และประเทศอื่นๆ ที่มีรายงานผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อนี้ ใน 14 ประเทศ และมีผู้ป่วยกว่า 263 ราย เสียชีวิต 93 ราย ประเทศไทยได้จัดให้มีระบบการเฝ้าระวังโรคนี้ ในผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด และผู้ป่วยปอดบวมที่มีประวัติเสี่ยงทั้งจุดคัดกรอง ณ สนามบิน ในโรงพยาบาล และในชุมชน รวมทั้งมาตรการอื่นๆ เช่น การสอบสวน การป้องกันและควบคุมโรค และการรักษาพยาบาลผู้ป่วยอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ดีขอให้ผู้เดินทางไปหรือมาจากประเทศตะวันออกกลาง หลังจากเดินทางถึงประเทศไทย 14 วัน ถ้ามีไข้ ไอ เจ็บคอ ให้รีบพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจรักษา

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แจ้งว่า European Centre for Disease Prevention and Control (ECDC) มีการเผยแพร่ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2557 ที่ผ่านมาทั่วโลกมีรายงานผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 แล้ว 424 ราย เสียชีวิต 131 ราย มีทั้งที่ติดเชื้อในตะวันออกกลางหรือมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับผู้ที่ติดเชื้อในตะวันออกกลาง อัตราป่วยตาย ร้อยละ 30.90 โดยพบรายงานผู้ป่วยทั้งหมดจาก 15 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ จอร์แดน โอมาน คูเวต อียิปต์ อังกฤษ เยอรมันนี ฝรั่งเศส อิตาลี กรีซ ตูนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศดำเนินการเฝ้าระวังโรคในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจรุนแรงเฉียบพลัน ติดตามรูปแบบความผิดปกติต่างๆ อย่างใกล้ชิด ไม่แนะนำให้มีการจำกัดการเดินทางไปยังประเทศใด และไม่แนะนำให้ตั้งจุดตรวจคัดกรองพิเศษบริเวณทางเข้า-ออกประเทศ สำหรับประเทศไทยมีระบบการเฝ้าระวังโรคที่เข้มแข็ง และดำเนินการสอบสวน ป้องกัน ควบคุมโรคในผู้ป่วยเข้าข่ายการเฝ้าระวังโรคใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ป่วยปอดบวมที่มีประวัติสัมผัสเชื้อโรคนี้ 14 วันก่อนมีอาการป่วย เช่น เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค บุคคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยเข้าข่าย ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยเข้าข่าย ผู้ป่วยปอดบวมที่เป็นกลุ่มก้อน 2.ผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรง หรือภาวะระบบทางเดินลมหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน และ 3.ผู้ป่วยติดเชื้อระบบทางเดินลมหายใจส่วนบน เช่น มีอาการไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยเข้าข่าย ภายในช่วงเวลา 14 วันก่อนหรือหลังวันเริ่มป่วย

ขณะนี้มีผู้ป่วยเข้าข่ายเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ 2012 จำนวนทั้งหมด 2 ราย สัปดาห์นี้มีผู้ป่วยเข้าข่ายเฝ้าระวังเพิ่ม 1 ราย เป็นผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 63 ปี สัญชาติอินโดนีเชีย มีโรคประจำตัวคือโรคหัวใจ เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2557 ด้วยอาการ ไข้ ไอ อ่อนเพลีย วันที่ 28 เม.ย. 2557 เริ่มมีอาการหอบเหนื่อย ไม่ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และในระหว่างวันที่ 25 – 28 เม.ย. 2557 เดินทางไปยังประเทศซาอุดิอาระเบีย เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2557 เดินทางจากเมืองเจดดาร์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย มาต่อเครื่องบินที่ประเทศไทย เพื่อเดินทางไปยังเมืองจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย ในขณะที่รอเปลี่ยนเครื่อง เพื่อเดินทางต่อ ผู้ป่วยมีอาการ ไอหายใจหอบเหนื่อย ปวดท้องและปวดหลัง ไม่มีไข้ จึงเข้ารับการตรวจที่คลินิกในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งแพทย์ได้ให้การรักษาเบื้องต้น และเตรียมส่งต่อไปรับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร ขณะที่รถพยาบาลมาถึงพบว่า ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น ได้ทำการกู้ชีพ (ปั๊มหัวใจ) กระทั่งหัวใจกลับมาเต้นอีกครั้งจึงส่งต่อไป รพ.เอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ต่อมาผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นอีก และเสียชีวิต ในการนี้กรมควบคุมโรคได้ดำเนินการ คือ แนะนำให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้สัมผัสใกล้ชิดเฝ้าระวังอาการ โดยหากมีอาการไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อยให้รีบแจ้งกับสำนักระบาดวิทยาทันที สำหรับเจ้าหน้าที่ประจำด่านควบคุมโรคที่สนามบินสุวรรณภูมิ ได้ปฏิบัติตามแนวทางการปฏิบัติงานเฝ้าระวังโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2012 (MERS-CoV) อย่างเข้มข้น โดยการประสานหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยรักษาพยาบาล และหน่วยสอบสวนโรค เพื่อการดูแลผู้ป่วยอย่างรวดเร็วและการควบคุมโรคอย่างเหมาะสมต่อไป

“โรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัส 2012 เป็นโรคติดเชื้อทางเดินลมหายใจเฉียบพลันที่มีอาการรุนแรงคล้ายโรคซาร์ส เชื้อจะลุกลามเข้าปอดอย่างรวดเร็ว ติดต่อได้ง่ายจากการไอ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการป่วยรุนแรง ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวาน โรคปอดเรื้อรังและโรคไตวาย ดังนั้นผู้ป่วยเหล่านี้ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ จึงขอให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้ยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือฟอกสบู่บ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้คนที่เป็นหวัดและการอยู่ในสถานที่แออัด หากมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัด คือ ไข้สูง ไอ มีน้ำมูก ขอให้ใส่หน้ากากป้องกันโรค และพักผ่อนอยู่ที่บ้าน หากอาการไม่ดีขึ้นใน 2 วัน ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา พร้อมบอกประวัติการเดินทางไปต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอถึง 2 วัน ประชาชนสงสัย

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค 0-2590-3159 หรือ เว็บไซต์ http://beid.ddc.moph.go.th หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว