นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเรื่อยมางานแรกนาขวัญมีแต่เพียงพิธีทางศาสนาพราหมณ์เท่านั้น จนกระทั่งถึงรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้นงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงเป็นพระราชพิธีที่สมบูรณ์พร้อม นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่น ๆ ส่วนจะเป็นวันใดในเดือนหกหรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมตามประเพณีก็ให้จัดขึ้นในวันนั้น สำหรับในปีนี้งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 8 และ 9 พฤษภาคม 2557
การจัดงานพระราชพิธีฯ ได้กระทำเต็มรูปบูรพประเพณีครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2479 แล้วว่างเว้นไปจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชพิธีขึ้นใหม่และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน และนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันพระราชพิธีฯ เป็น วันเกษตรกร ประจำปีอีกด้วย เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีฯ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตนทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ จึงได้จัดงานวันเกษตรกรควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีฯ ตลอดมา
ในแต่ละปีได้มีการกำหนดไว้ว่า ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนาจะต้องเป็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เท่านั้น นอกจากว่าปลัดกระทรวงฯติดราชการสำคัญยิ่งอื่นๆ หรือสุขภาพไม่ดี ท่านจึงจะขอพระบรมราชานุญาตมอบหมายให้ผู้อื่นที่เหมาะสมทำหน้าที่แทน โดยในปี 2557 นี้ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่พระยาแรกนา ส่วนผู้ที่จะมาทำหน้าที่ เป็นเทพีทั้งหาบทองและหาบเงิน ซึ่งจะทำการคัดเลือกจากบรรดาข้าราชการสาวโสด ของกรมต่างๆ ในสังกัด สำหรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกเทพีในแต่ละปีก็ดูที่ความเหมาะสมต่าง ๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ที่เป็นทางการ คือ โสดและได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แล้ว ที่ไม่เป็นทางการคืออายุพอสมควร สุขภาพดี ส่วนสูงพอเหมาะหรือสูงใกล้เคียงกันในระหว่างคู่หาบเงินด้วยกัน สำหรับเทพีคู่หาบทองปีนี้ ได้แก่ นางสาวกาญจนา มาลัยกฤษณะชลี นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นางสาวพชร ลาภผล นักวิชาการประมงปฏิบัติการ กรมประมง เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวฑิฆัมพร สุทธิฤทธิ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมการข้าว นางสาวจารุรัตน์ พุ่มประเสริฐ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมวิชาการเกษตร
สำหรับพระโคปีนี้ กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการคัดเลือกพระโคเพื่อใช้ในการประกอบ พระราชพิธีฯ ตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมคือ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร ความยาวของลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอบไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกันผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่าย ไม่ดุร้าย เขามีลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงาม มีขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวาและขวัญหลังถูกต้องตามลักษณะที่ดี กีบและข้อเท้าแข็งแรง ถ้ามองดูด้านข้างของลำตัวจะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม งานพระราชพิธีฯ ทุกปีจะเตรียมพระโคไว้ 2 คู่ ปีนี้พระโคแรกนา ได้แก่ พระโคฟ้า และพระโคใส ส่วนพระโคสำรอง ได้แก่ พระโคมั่น และพระโคคง
พันธุ์ข้าวที่ใช้ในงานพระราชพิธีฯ ซึ่งใครๆ ก็สงสัยว่าทันทีที่พระราชพิธีฯสิ้นสุดลง ผู้คนในสนามหลวงทุกเพศทุกวัยจะกรูกันเข้าไปยังลานแรกนา เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวกลับไปเป็นสิริมงคลนั้น ได้มาจากที่ใด ที่มาของพันธุ์ข้าวเหล่านี้ นับตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันได้มาจากแปลงนาในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมการข้าวจัดทำขึ้นเพื่อเก็บเกี่ยวเป็นพันธุ์ข้าว ทรงปลูกพระราชทานสำหรับไว้ใช้ในงานพระราชพิธีฯ โดยเฉพาะ ซึ่งในปี 2557 นี้ เมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกที่นำเข้าในพระราชพิธีมีน้ำหนักรวมทั้งสิ้น 2,082 กิโลกรัม ประกอบด้วย ข้าวนาสวน 8 พันธุ์ (ปทุมธานี 1, สังข์หยดพัทลุง, ขาวดอกมะลิ 105, กข 49, กข 41 ,กข 31, กข 47 และ กข 6) ข้าวไร่ 3 พันธุ์ (พันธุ์ดอกพะยอม พันธุ์ซิวแม่จัน และพันธุ์ลืมผัว ) ส่วนหนึ่งใช้หว่านในระหว่างพิธี และจัดเป็น “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” บรรจุใส่ซองขนาดเล็กเพื่อจัดส่งให้จังหวัดต่างๆสำหรับใช้แจกจ่ายแก่เกษตรกรรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพตามพระราชประสงค์ และเมล็ดพันธุ์ที่เหลือทั้งหมด กรมการข้าวขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำไปปลูกไว้ทำพันธุ์ในฤดูกาลปี 2557 เพื่อเป็นต้นตระกูลของพืชพันธุ์ดีเผยแพร่สู่เกษตรกรต่อไป
การเสี่ยงทายในพระราชพิธีฯ แต่ละปีนั้นมีอยู่ 2 ช่วงคือ ช่วงแรกพระยาแรกนาจะตั้งสัตยาธิษฐานหยิบนุ่งทับผ้านุ่งเดิมนั้นเป็นผ้าลายมีด้วยกัน 3 ผืน คือ หกคืบ ห้าคืบ และสี่คืบ ผ้านุ่งนี้จะวางเรียงบนโตกมีผ้าคลุมเพื่อให้ พระยาแรกนาหยิบ ถ้าหยิบได้ผืนใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้นคือ ถ้าหยิบได้ 4 คืบ พยากรณ์ว่าน้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่ ถ้าหยิบได้ 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าหยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดีแต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้าง ไม่ได้ผลเต็มที่ ส่วนช่วงที่ 2 คือ ภายหลังจากการไถหว่านซึ่งจะเป็นการไถดะไปโดยรี 3 รอบ เพื่อพลิกดินให้เป็นก้อน ไถโดยขวาง 3 รอบ เพื่อย่อยดินให้ละเอียดพร้อมหว่านเมล็ดพันธุ์พืช และไถกลบอีก 3 รอบ เพื่อกลบเมล็ดพันธุ์พืชลงในดิน เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการไถแล้วจะเป็นการเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งตั้งเลี้ยงพระโค ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำและหญ้า เมื่อพระโคกินของสิ่งใดโหรหลวงจะถวายคำพยากรณ์ ดังนี้ ถ้าพระโคกินข้าวหรือข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี ถ้าพระโคกินถั่วหรืองา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าพระโคกินน้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหารผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี และถ้าพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้นทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
และสิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้ในงานพระราชพิธีฯ คือ เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นประเภทต่างๆ ที่ผ่านการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลและยกย่องประกาศเกียรติคุณพร้อมทั้งเผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จักและยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้
เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 15 ราย· สาขาอาชีพทำนา นายทวี ประสานพันธ์ เลขที่ 8 หมู่ที่ 1 ตำบลนาเยีย อำเภอนาเยีย จังหวัดอุบราชธานี· สาขาอาชีพทำสวน นายบัญชา ฉานุ เลขที่ 20 หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านช่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา· สาขาอาชีพทำไร่ นายบุญสม แย้มครวญ เลขที่ 137 /1 หมู่ 10 ตำบลดงดินแดง อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี· สาขาอาชีพไร่นาสวนผสม นายพัฒน์พงษ์ มงคลกาญจนคุณ เลขที่ 119 หมู่ที่ 4 ตำบลหนองเป็ด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี· สาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม นางบุญช่วย กรอบไธสง เลขที่ 628 หมู่ที่ 9 ตำบลหนองขาม อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี· สาขาอาชีพเลี้ยงสัตว์ นายอารักษ์ สันประเสริฐ บ้านเลขที่ 32 / 2 หมู่ที่ 2 แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร · สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด นางหนูวาด ไข่นุ่น เลขที่ 52 / 1 หมู่ 7 ตำบลเทศบาลตำบลที่วัง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช· สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย นายอดุลย์ พันธุโพธิ์ เลขที่ 182 หมู่ที่ 2 ตำบลบางหิน อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง· สาขาอาชีพปลูกสวนป่า นายคำเดื่อง ภาษี บ้านเลขที่ 97 หมู่ที่ 8 ตำบลหัวฝาย อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์· สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ นายศักรินทร์ สินทะสุทธิ์ เลขที่ 118 หมู่ที่ 3 ตำบลท่าราบ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี· สาขาบัญชีฟาร์ม นายจันทร์ เรืองเรรา เลขที่ 74 / 1 หมู่ที่ 5 ตำบลหนองพันจันทร์ อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี· สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นายวิทยา นาระต๊ะ เลขที่ 103 / 5 หมู่ที่ 5 ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่· สาขาการใช้วิชาการเกษตรที่ดีเหมาะสม นายสุรชาติ ประสงค์สันต์ เลขที่ 141 หมู่ที่ 12 ตำบลพลับพลา อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา· ที่ปรึกษากลุ่มยุวชนเกษตรกร นางสุวิกาญจน์สิริ พิจอมบุตร เลขที่ 118 หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านเป้า อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง· สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร นายศุภากร ดำรงธรรมคุณ เลขที่ 106 หมู่ที่ 11 ตำบลลำพญา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 13 สถาบัน· กลุ่มเกษตรกรทำนา กลุ่มเกษตรกรทำนาบ่อทอง เลขที่ 69 / 2 หมู่ที่ 1 ตำบลบ่อทอง อำเภอทองแสนขันธ์ จังหวัดอุตรดิตถ์· กลุ่มเกษตรกรทำสวน กลุ่มเกษตรกรทำสวนภูเงิน เลขที่ 73 หมู่ที่ 10 ตำบลภูเงิน อำเภอกันทราลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ· กลุ่มเกษตรกรทำไร่ กลุ่มเกษตรกรทำไรแม่กาษา เลขที่ 372 / หมู่ที่ 3 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก· กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงแพะบ้านทะคลอง เลขที่ 6 หมู่ที่ 6 ตำบลเขาคราม อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่· กลุ่มเกษตรกรทำประมง หรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์น้ำตำบลท่าซุง เลขที่ 31 หมู่ที่ 5 ตำบลท่าซุง อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี· กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ กลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปปลาบ้านท่าลาด เลขที่ 25 หมู่ที่ 4 ตำบลหนองเรือ อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู· กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านกกต้อง เลขที่ 100 หมู่ที่ 3 ตำบลฟากท่า อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์· กลุ่มยุวเกษตรกร กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนทุ่งกว๋าววิทยาคม เลขที่ 194 หมู่ที่ 4 ตำบลทุ่งกว๋าว อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง· วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจชุมชนโรงสีข้าวชาวนาตราด เลขที่ 63 / 1 หมู่ที่ 5 ตำบลเนินทราย อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด· สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานคลอง MC (สนามบิน) เลขที่ 100 หมู่ที่ 12 ตำบลธวัชบุรี อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด· กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านคำไผ่ เลขที่ 47 หมู่ที่ 6 ตำบลหนองแวง อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์· ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนประเภทข้าวหอมมะลิ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านฮ็อง เลขที่ 7 หมู่ที่ 2 ตำบลเพี้ยราม อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ · ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนประเภทข้าวอื่นๆ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลหนองยาว เลขที่ 65 / 1 หมู่ที่ 3 ตำบลหนองยาว อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี
สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 7 สหกรณ์· สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์การเกษตรบ้านตาก จำกัด เลขที่ 111 หมู่ที่ 4 ตำบลเกาะตะเภา อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก· สหกรณ์นิคม สหกรณ์นิคมวังทอง จำกัด เลขที่ 467 หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านน้อยซุ้มขี้เหล็ก อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก· สหกรณ์ผู้ผลิตยางพารา สหกรณ์กองทุนสวนยางโสตประชา จำกัด เลขที่ 164 หมู่ที่ 1 ตำบลบางขัน อำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช· สหกรณ์บริการ สหกรณ์หมู่บ้านสหพร เลขที่ 47 / 62 หมู่ที่ 5 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม· สหกรณ์ร้านค้า ร้านสหกรณ์จังหวัดตราด เลขที่ 7 / 7 ตำบลบางพระ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด · สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจสุราษฎร์ธานี จำกัด เลขที่ 128 / 4 หมู่ที่ 10 ตำบลวัดประดู่ เมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี· สหกรณ์เครดิตยูเนียน สหกรณ์เครดิตยูเนียนหมอสมวังแควัง จำกัด เลขที่ 82 / 1 หมู่ที่ 2 ตำบลปงแสงทอง อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง
นอกจากนี้ได้มีการคัดเลือกปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน เพื่อเข้ารับพระราชทานประกาศเกียรติคุณในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2557 จำนวน 3 สาขา คือ 1. นายเอนก จีวะรัตน์ สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง2. นายสุพงษ์ วรวงษ์ สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น3. นายสมพงษ์ พรผล สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย
ทั้งนี้เกษตรกร สถาบันเกษตรกรดีเด่น และปราชญ์เกษตรทั้งหมด จะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในวันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม 2557 ณ บริเวณมณฑลพิธีสนามหลวง