ผศ.อภิชาติ ไก่ฟ้า คณบดีคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า “การศึกษาในศตวรรษที่ 21 เน้นหลักสูตรแบบยึดโครงงานเป็นฐาน (project -based curriculum) เป็นหลักสูตรที่ให้ผู้เรียนเกี่ยวข้องกับปัญหาในโลกที่เป็นจริง การศึกษาในปัจจุบันจะสอนกันเฉพาะในห้องเรียนไม่ได้ ต้องพัฒนาคุณภาพของคนให้พร้อมแก้ปัญหาและร่วมสรรสร้างพัฒนาสังคมไปพร้อมกัน ซึ่งประสบการณ์ดังกล่าวจะเป็นตัวช่วยผลักดันนักศึกษาเมื่อต้องเข้าไปสู่โลกของการทำงาน ให้รู้จักการปรับตัวและเตรียมความพร้อมในยุคแห่งการแข่งขันแห่งศตวรรษปัจจุบัน”
ดร.กุลกนิษฐ์ ทองเงา อาจารย์ประจำวิชาและที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า “โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในรายวิชาการผลิตสื่อวิทยุกระจายเสียง (Radio Production) เน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจในวิธีการวางแผนการผลิตรายการวิทยุกระจายเสียง มีความสร้างสรรค์ และนำเทคนิคต่างๆ มาใช้ในการผลิตรายการ ได้อย่างถูกต้องและเป็นระบบ ซึ่งการจัดกิจกรรมนี้เริ่มจากการให้โจทย์ไปว่าให้จัดกิจกรรมกับเด็กชั้นอนุบาลและต้องทำให้น้องสามารถเล่านิทานเป็นเรื่อง โดยพาน้องๆ เข้ามาบันทึกเสียง ตัดต่อ จนสำเร็จสามารถนำไปเผยแพร่ออกอากาศได้ นับเป็นการฝึกทักษะในเรื่องของการทำงานเป็นทีม ฝึกการวางแผน การบริหารจัดการ และการแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน เป็นการประมวลความรู้ที่ได้เรียนมาทั้งหมดให้สามารถนำไปใช้ได้จริง”
นายแม็ค วงศ์ใหญ่ หรือ แม็ค นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงและเป็น หัวหน้าฝ่ายเนื้อหาได้กล่าวว่า “การจัดโครงการนี้เราได้แบ่งงานออกเป็น 7 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายเนื้อหา ฝ่ายประสานงาน ฝ่ายพี่เลี้ยง ฝ่ายสวัสดิการ ฝ่ายเทคนิค ฝ่ายนันทนาการ และฝ่ายประชาสัมพันธ์ ผมอยู่ฝ่ายเนื้อหา ทำหน้าที่ออกแบบเนื้อหาเพื่อไปสอนน้องๆ เราต้องเตรียมเนื้อหาให้เหมาะกับวัยของเด็กที่กำลังอยู่ในช่วงวัยเรียนรู้ครับ เพราะเด็กในระดับนี้จะมีความจำดี และสามารถซึมซับสิ่งที่จะนำมาถ่ายทอดได้ดี เราจึงได้เตรียมเนื้อหาที่เป็นนิทานมาให้น้องๆ ได้นำไปอ่าน ได้นำไปฝึกซ้อมที่บ้าน ทั้งนี้ผมขอขอบคุณครูบี คุณครูโรงเรียนสาธิตราชมงคลธัญบุรี และผู้ปกครองของน้องๆ ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทุกคนช่วยสอนให้น้องมีความเข้าใจเนื้อหาก่อนที่จะเข้าห้องอัดจริงๆ ส่วนน้องๆ ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีครับ อาจจะมีซุกซนบ้างเพราะเป็นวัยที่กำลังเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว โดยเฉพาะช่วงก่อนที่น้อง ๆ จะเข้าห้องอัดเสียง เราได้พาไปเยี่ยมชมคณะของเราถือเป็นการพามาทัศนศึกษา น้องทุกคนดูมีความตื่นเต้นมากที่ได้ออกนอกสถานที่ ได้มาเยี่ยมชมห้องสตูิโอ ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีสี และโรงภาพยนตร์ของคณะ สังเกตุได้ว่าน้องๆ ทุกคนมีความอยากรู้อยากเห็น ซักถาม สดใสร่าเริง มีรอยยิ้ม พี่บอกให้ทำอะไรก็ทำตามทุกคนเลยครับ ผมขอขอบคุณเพื่อนๆ ทุกคนที่ช่วยกันทำงานเป็นอย่างดีทำให้งานผ่านไปได้ด้วยดี ผมถือว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จมากครับ”
นายฐิติกรณ์ เหมันตาเสนสอน หรือ ยิว หัวหน้ากลุ่มฝ่ายพี่เลี้ยง กล่าวว่า “ผมรู้สึกอิ่มใจ และดีใจครับที่ได้จัดโครงการนี้ อย่างแรกผมพูดได้เต็มปากว่า ผมมีความสุขมากกว่าน้องๆ ซะอีก เพราะก่อนที่จะพาน้องเข้าห้องอัดเสียงจริง ทีมของเราต้องไปฝังตัวอยู่กับน้องๆ ที่โรงเรียนสาธิตราชมงคลธัญบุรี 2 สัปดาห์ ๆ ละ 1-2 ชั่วโมง อาทิตย์แรกที่เจอกัน เด็กๆ มีพัฒนาการที่เร็วมาก กล้าคิด กล้าถาม พูดคุยกับพี่อย่างสนุกสนาน พวกเค้าสามารถทำตามที่พี่สอนได้ทันที รู้สึกประทับใจ โครงการนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก สิ่งที่พวกเราได้รับคือประสบการณ์ในการทำงาน เพราะมันจะมีปัญหาให้เราแก้ไขตลอดเวลา ผมว่าเราทำโครงการชิ้นนี้ประสบผมสำเร็จมากครับ อาจมีอุปสรรคบ้างแต่อาศัยการทำงานเป็นทีม ทุกๆ ฝ่ายทำหน้าที่ของตนเอง มีการประชุมปรึกษากัน ร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหา และพวกเรารู้สึกสนุกทุกครั้งเมื่อลงพื้นที่จริง กับเวลาอันสั้นเพียง 2 อาทิตย์ บวกกับนิสัยของเด็กๆ และเสียงเล่านิทานที่สดใส ซึ่งนิทานเรื่อง “ลูกหมู 3 ตัว” นับเป็นผลงานที่เราภาคภูมิใจเพราะนักแสดงเป็นนักเรียนชั้นอนุบาลที่สามารถภาคเสียงได้เข้าถึงอารมณ์ของตัวละครมาก ประกอบกับเราใช้เทคนิคสร้างเสียงประกอบให้น่าสนใจ นอกจากนี้เราได้จัดทำประกาศนียบัตรให้กับน้องๆ ด้วย นับเป็นประสบการณ์ใหม่กับการทำงานในครั้งนี้ครับ”
ด.ช. ณนคร จินะวงศ์ หรือ น้องเจ้าขุนทอง นักเรียนชั้นอนุบาล 3 โรงเรียนสาธิตราชมงคลธัญบุรีกล่าวเสียงเจื้อยแจ้วว่า “ตื่นเต้นมากที่ได้มาเล่านิทาน ผมพากษ์เสียงเป็นหมาป่าด้วย ตอนแรกไม่ชอบเลยเพราะมันเป็นตัวร้าย แต่ก็สนุกครับ ผมทำอย่างเต็มที่สุดความสามารถเลยครับ และผมอยากบอกว่าตอนที่ได้เจอพี่ๆครั้งแรกรู้สึกตื่นเต้น แล้วก็สนุกเวลามีการทำกิจกรรมด้วยกัน ผมมีความสุข มากๆ เลยครับ”
ด.ญ ณิชาภา กระจ่างศุภนิมิต หรือน้องณิชา นักเรียนชั้น อนุบาล 3 โรงเรียนสาธิตราชมงคลได้ให้พูดคุยด้วยเสียงแจ่มใสว่า “หนูได้รับบท เป็นลูกหมูชื่อว่า วินนี่ ตอนแรกก็พูดไม่ค่อยได้แต่ก็มีพี่ๆ ช่วยสอน ทำให้ไม่เครียด แล้วก็ลดอาการตื่นเต้นไปได้เยอะเลยค่ะ แล้วก็พี่ๆทุกคนก็ใจดี มีเกมส์สนุกให้เล่น แล้วก็มีรางวัลแจกให้ด้วย หนูอยากมาอีกค่ะ”
ท้ายสุดอาจารย์พรศิริ แสนตุ้ม หรือ ครูบี อาจารย์ประจำโรงเรียนสาธิตราชมงคลธัญบุรี ได้กล่าวว่า “ก่อนที่จะพาน้องๆไปบันทึกเสียงก็ ได้มีการฝึกเล่านิทานและใช้เทคนิคของเสียงมาอย่างต่อเนื่อง โดยรวมแล้วกิจกรรมนี้ถือว่าดีมาก เป็นครั้งแรกที่มีการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ ส่วนประโยชน์ที่ได้ คือ เป็นการปลูกฝังให้มีการรักการอ่านจากนิทานที่พี่ๆ เลือกให้น้อง เป็นการฝึกให้น้องมีความกล้าแสดงออก ทำให้เด็กได้มีการพบปะกับพี่ มีการทำกิจกรรมร่วมกับพี่ๆ รวมทั้งได้ฝึกอุปกรณ์ต่างๆ ฝึกการพูดต่อหน้าคนอื่นซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ เด็กทุกคนมีความสุข ครูบีอยากให้มีกิจกรรมลักษณะแบบนี้อีกเพราะจะได้ประโยชน์ร่วมกัน รู้สึกประทับใจมากค่ะ”
โครงการ สื่อเสียงเพื่อน้อง Sound For Young เพื่อปั้นนักเล่านิทานตัวน้อย เป็นการทำงานที่ทุ่มเททั้งความรู้ แรงกายและแรงใจ ของนักศึกษา TV5511 นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งเชื่อว่าจะมีนักศึกษารุ่นต่อๆไปมาสานต่อโครงการ โดยพี่ๆ กลุ่มนี้การันตีข้างต้นแล้วว่าจะได้รับประสบการณ์ดีๆ อย่างแน่นอน
นายธีรพงษ์ หาตะ นักศึกษาสาขาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit