กรุงเทพมหานครจับมือเครือข่ายซีไรต์ เปิดตัวรางวัลนักเขียนอาเซียนรุ่นใหม่ พัฒนาสู่เวทีมืออาชีพ

06 May 2014
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม แห่งอาเซียน (ซีไรต์) และคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าวการประกวด “รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียนสำหรับนักเขียนรุ่นใหม่” (ASEAN Young Writers Award) เพื่อเป็นเวทีพัฒนาต่อยอดและสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนรุ่นใหม่ในภูมิภาคอาเซียนงานแถลงข่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยได้รับเกียรติจาก นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ภายในงานยังมีวิทยากรคนดังจากแวดวงวรรณกรรมมาร่วมสนทนา และเป็นสักขีพยานในการเปิดตัวรางวัลครั้งนี้อย่างคับคั่ง ประกอบด้วย ผศ. ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ รองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจ คณะอักษรศาสตร์ และประธานหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาและวัฒนธรรม (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณชมัยภร แสงกระจ่าง อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และคุณวุฒิชาติ ชุ่มสนิท (บินหลา สันกาลาคีรี) นักเขียนรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2548นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวระหว่างพิธีเปิดงานว่า

การประกวดรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียนสำหรับนักเขียนรุ่นใหม่ หรือ ASEAN Young Writers Award จัดขึ้นเพื่อร่วมฉลองในโอกาสครบรอบ 35 ปีของรางวัลซีไรต์ รวมทั้งแสดง ความภาคภูมิใจและเป็นอนุสรณ์ในโอกาสที่กรุงเทพมหานครได้รับเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกเมืองหนังสือโลกและองค์การยูเนสโก ให้เป็นเมืองหนังสือโลกลำดับที่ 13 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยกระตุ้น ส่งเสริมค่านิยมรักการอ่านและการเขียนของเยาวชน และคนไทย ตลอดจนเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการเป็นนักเขียนมืออาชีพให้แก่เยาวชนในประเทศไทย และกลุ่มประเทศอาเซียน”

ผศ. ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะรองประธานคณะกรรมการดำเนินงานฯ กล่าวว่า “กิจกรรมในการประกวดครั้งนี้ กระบวนการประกวดจะดำเนินการตามแนวทางของรางวัลซีไรต์ เพื่อคัดเลือกผู้ชนะเป็นตัวแทนของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เข้าร่วมกิจกรรมนักเขียนเยาวชนสัมพันธ์ และเปิดโอกาสให้ผู้ผ่านเข้ารอบ 30 คน ได้พัฒนาทักษะฝีมือในการเขียนและสร้างแรงบันดาลใจโดยร่วมเข้าเวิร์คช็อปกับนักเขียนรางวัลซีไรต์ นอกจากผู้ชนะจะได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ พร้อมทั้งเงินรางวัลจำนวน 1,000 เหรียญสหรัฐ ผู้ชนะเลิศชาวไทยยังจะได้เดินทางไปทัศนศึกษา ณ สำนักเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย”

ผศ. ดร.อภิลักษณ์ เปิดเผยแนวทางการทำงานต่อว่า หลังจากการประกาศผล ทางคณะกรรมการดำเนินการฯ จะรวบรวมผลงานเรื่องสั้นที่ชนะการประกวดมาจัดพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณชนวงกว้าง ทั้งในรูปแบบหนังสือที่แจกจ่ายไปตามห้องสมุดต่างๆ ในประเทศอาเซียน รวมทั้งในรูปแบบ E-Book เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และพัฒนาทั้งทางด้านสังคมและวงการวรรณกรรมในภูมิภาครศ. สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ รองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจ คณะอักษรศาสตร์ และประธานหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาและวัฒนธรรม (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงหลักเกณฑ์การประกวดว่า “วรรณกรรมที่ส่งเข้าประกวดจะเปิดกว้าง โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ เรื่องที่แต่งขึ้นจากจินตนาการ (Fiction), เรื่องที่แต่งขึ้นจากเรื่องจริง (Non- Fiction) และกวีนิพนธ์ (Poetry) ซึ่งจะหมุนเวียนกันทุกปี สำหรับกิจกรรมการประกวดซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ เป็นการประกวดเรื่องสั้น ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาประจำชาติ ซึ่งการเขียนผลงานเป็นภาษาอังกฤษ จะช่วยลดช่องว่างความแตกต่างทางด้านภาษาและวัฒนธรรมได้ จึงอยากจะเชิญชวนให้เยาวชนไทยส่งผลงานเข้าประกวด เพื่อร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์รางวัลวรรณกรรมระดับนานาชาติ เหมือนเช่น ที่รางวัลซีไรต์เป็นรางวัลอันทรงเกียรติในภูมิภาคอาเซียน”