บริษัทก่อตั้งในปี 2539 ในนาม บริษัท โซล่า เพาเวอร์ จำกัด เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) แบบทางอ้อม (Reverse Listing) และได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) ในปี 2554 หลังจากนั้นได้ย้ายการซื้อขายหลักทรัพย์จากตลาด MAI ไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2555 โดย ณ เดือนมีนาคม 2557 ครอบครัวกุญชรยาคงเป็นผู้ถือหุ้นหลักในสัดส่วน 54.36% ปัจจุบันบริษัทมีฐานะเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นในบริษัทย่อยซึ่งเป็นเจ้าของและดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 36 โครงการ โดยมีกำลังการผลิตตามสัญญารวมทั้งสิ้น 205.92 เมกะวัตต์ ซึ่ง 34 โครงการแรกมีกำลังการผลิตตามสัญญาโครงการละ 5.88 เมกะวัตต์ ส่วน 2 โครงการสุดท้ายโครงการละ 3.00 เมกะวัตต์ ในปี 2556 รายได้ของบริษัท 83.4% มาจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อีก 12.7% มาจากโรงงานผลิตหลังคาเหล็ก ส่วนที่เหลืออีก 3.8% มาจากการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและอื่น ๆ
บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด 36 แห่งของบริษัทมีสัญญา PPA กับ กฟภ. และได้รับ Adder ที่อัตรา 8 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงเป็นระยะเวลา 10 ปี โรงไฟฟ้าของบริษัทมีทำเลกระจายอยู่ใน 9 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและจังหวัดลพบุรี ซึ่งจากผลการศึกษาของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานพบว่าพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีค่าความเข้มรังสีดวงอาทิตย์เฉลี่ยที่ 19-20 เมกะจูลต่อตารางเมตร (ตร.ม.) ต่อวัน (หรือเทียบเท่า 5.28-5.56 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อ ตร.ม. ต่อวัน) ซึ่งสูงกว่าค่าความเข้มรังสีดวงอาทิตย์เฉลี่ยของทั้งประเทศที่ 18 เมกะจูลต่อ ตร.ม. ต่อวัน (หรือเทียบเท่า 5.00 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อ ตร.ม. ต่อวัน)
โรงไฟฟ้าของบริษัทใช้แผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทำจากซิลิคอนชนิดหลายผลึก (Multi-crystalline) ซึ่งผลิตโดยบริษัทญี่ปุ่นชื่อ Kyocera ตั้งแต่เริ่มผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดนี้ในเชิงพาณิชย์ในปี 2525 Kyocera ได้จำหน่ายแผงพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดนี้มากกว่า 1.2 กิกะวัตต์ให้แก่โรงไฟฟ้าและครัวเรือน โดยแผงพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดที่บริษัทใช้ได้รับการรับประกันประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 25 ปีจาก Kyocera นอกจากนี้ โครงการทั้งหมดเลือกใช้เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter) ที่ผลิตโดย SMA Solar Technology AG (SMA) โดยมีการรับประกันนาน 20 ปี ซึ่ง SMA จำหน่ายเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้ากว่า 30 กิกะวัตต์ทั่วโลกตั้งแต่ปี 2524
ณ วันที่ 30 เมษายน 2557 โรงไฟฟ้าของบริษัท 31 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตตามสัญญารวม 176.52 เมกะวัตต์ได้ดำเนินการผลิตไฟฟ้าแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 5 แห่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้ภายในกลางปี 2557 สำหรับมูลค่าการลงทุนของทั้ง 36 โครงการนี้อยู่ที่ 21,900 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้สำหรับการลงทุนประมาณ 16,100 ล้านบาท
ณ สิ้นปี 2556 บริษัทมีเงินกู้รวม 16,646 ล้านบาท ในขณะที่สัดส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนยังอยู่ในระดับสูงที่ 82.6% เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นของการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดจากภาระหนี้สินในระดับสูงนี้ถูกลดทอนไปบางส่วนจากกระแสเงินสดจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่แน่นอนและคาดการณ์ได้ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ที่สูงเนื่องจากได้รับ Adder และมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ต่ำ ปัจจุบันอัตราการรับซื้อไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ อัตราค่าพลังงานไฟฟ้าขายส่งตามช่วงเวลาของการใช้ (TOU Rate) รวมกับค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติขายส่งเฉลี่ย (Ft ขายส่งเฉลี่ย) และ Adder โดย ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2557 อัตราค่าไฟฟ้าทั้ง 3 ส่วนรวมกันเท่ากับ 11.6 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะมีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 6-7 ปี สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2556 บริษัทสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 178.7 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง โดยโรงไฟฟ้ามีประสิทธิภาพเฉลี่ยที่ 78.5% พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จริงนั้นมากกว่าที่คาดการณ์ (ใช้ความน่าจะเป็นที่ 50% สำหรับพลังงานไฟฟ้าที่คาดว่าจะผลิตได้ -- P50) อยู่ 2.6% และหากเทียบกับความน่าจะเป็นที่ 90% -- P90 พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จริงจะมากกว่า 9.6% สำหรับกรณีฐานของทริสเรทติ้งนั้นใช้ความน่าจะเป็นที่ 90% สำหรับพลังงานไฟฟ้าที่คาดว่าจะผลิตได้ (P90) และประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 77.5% ซึ่งคาดว่าบริษัทจะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 335-345 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี และคาดว่าจะสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ 3,500-3,550 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2558-2563 ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไปคาดว่า EBITDA จะค่อย ๆ ลดลงเนื่องจากการทยอยหมดอายุของ Adder โดย ณ สิ้นปี 2557 คาดว่าบริษัทจะมีเงินกู้รวมประมาณ 18,000 ล้านบาท และคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 60%-65% ภายในปี 2559
สำหรับอันดับเครดิตระดับ “BBB” ของหุ้นกู้มีผู้ค้ำประกันทยอยชำระคืนเงินต้นนั้นสะท้อนลักษณะการด้อยสิทธิทางโครงสร้าง (Structural Subordination) ของการออกหุ้นกู้ที่ระดับบริษัทโฮลดิ้ง เนื่องจากกระแสเงินสดของบริษัทส่วนใหญ่มาจากเงินปันผลจากการดำเนินงานของบริษัทลูก (Operating Company) ซึ่งจะเป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้ของบริษัทลูกแต่ละแห่ง สำหรับเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้บริษัทจะนำไปชำระคืนเงินกู้และนำไปใช้สำหรับการขยายธุรกิจ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit