นายธวัชชัย อัศวพรไชย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด ประเมินสถานการณ์ทางการเมืองภายหลัง การประกาศกฎอัยการศึกว่า จะส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาการลงทุนในระยะสั้นโดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันต่างประเทศที่มีกฎระเบียบว่าจะไม่ลงทุนในประเทศที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งทำให้เกิดแรงขายทำกำไรออกมาได้
จากการประกาศของ ผบ.ทบ. ให้มีการใช้กฎอัยการศึกเมื่อ 3 นาฬิกาวันนี้ โดยประกาศดังกล่าวได้ยุบ ศอ.รส. แล้วจัดตั้ง กอ.รส. ขึ้นแทนที่ โดยที่ การประกาศใช้กฎอัยการศึก ไม่ใช่การประกาศรัฐประหาร ดังนั้นในเชิงกฎหมายแล้ว สภาพของ รธน.2550 นั้นยังคงอยู่ครบ พล.อ. ประยุทธ์ยังคงเป็น ผบ.ทบ. ตามเดิม ไม่ใช่องค์รัฐฏาธิปัตย์ เหมือนกับ กรณีพล.อ.สนธิ ที่แปลงสภาพมาเป็นหัวหน้าคณะรัฐประการเมื่อปี 2549
เมื่อพิจารณาจากประกาศกฎอัยการศึกก็จะพบว่า กฎหมายดังกล่าวให้อำนาจทหารอยู่สูงกว่าพลเรือน และจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในพื้นที่ใด พื้นที่หนึ่ง ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง จนถึงขณะนี้ ประกาศได้จำกัดพื้นที่การชุมนุมของทั้ง 2 ฝ่ายให้อยู่ในที่ตั้ง ไม่ให้มีการเคลื่อนย้าย อยากชุมนุมก็ได้แต่อย่าออกนอกกรอบ ภาพที่ออกมาจึงเหมือนกับ กองทัพออกมาห้ามศึกก่อนที่จะเกิด และหาทางลงให้แก่ กปปส.ที่ชุมนุมยืดเยื้อมากว่า 6 เดือน
ส่วนที่ต้องจับตาคือสถานการณ์ในช่วงต่อไป 1) การตอบโต้ของ นปช. รุนแรง หรือ แรงแบบพอเป็นพิธี ถ้าเป็นกรณีหลังแสดงว่ามีการเจรจากันแล้วในระดับสูงให้ออกมาในรูปแบบนี้ ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกต่อตลาด 2) รักษาการรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มีแนวโน้มจะจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่เชียงใหม่จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ถ้าจริงเรื่องวุ่นวายก็ไม่จบ ต่างชาติจะเข้ามาแทรกแซงกิจการภายใน 3) การจัดตั้ง นายกคนกลางหรือนายก ม.7 ซึ่งจนถึงปัจจุบันรัฐธรรมนูญ 50 ยังคงมีผลบังคับใช้ ดังนั้นการมี นายก ม.7 จะถือเป็นการผิดต่อ รธน. และอาจปลุกกระแสการต่อต้านขึ้นทั่วประเทศ อย่างไรก็ดี ถึงที่สุดอะไรๆก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในเมืองไทย 4) ทางออกของประเทศนอกเหนือจากการมีนายกคนกลาง ม.7 ได้แก่ 1) เลือกตั้ง 2) จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ หรือ 3) ผบ.ทบ.ประกาศยึดอำนาจแล้วเป็นนายกเอง ซึ่งเราคาดว่าข้อ 3 มีความเป็นไปได้ต่ำสุด
และการตอบสนองของตลาด คาดว่าสถาบันในประเทศคาดหวังต่อเหตุการณ์นี้ว่าจะเกิดขึ้น แต่อาจไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา เพราะเทียบเคียงกับผลกระทบในอดีตที่เกิดขึ้นสั้นๆ และจำกัด ด้วยเหตุนี้จึงซื้อสะสมมาตลอดทาง อย่างไรก็ดีเราพบว่า Foreign Fund Flows มีการขายเกิดขึ้นบางส่วน เนื่องจากบางกองมีข้อบังคับห้ามลงทุนในตลาดที่มีการประกาศ กฎอัยการศึก แต่สำหรับ Long Only Funds ชินกับสถานการณ์การเมืองไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
ดังนั้นจึงอาจกระทบไม่มาก เว้นแต่สถานการณ์จะนำพาไปสู่สงครามกลางเมือง อีกทั้งกองต่างประเทศก็ได้ทำการ Underweight ตลาดไทยไปแล้วในระดับสูง ดังนั้นจึงไม่น่าขายออกมามาก ยิ่งดูจากประกาศที่ออกมาต่อเนื่องดูเหมือน ผบ.ทบ. ออกมาเป็นเพียงผู้ห้ามศึก มากกว่าการสลายการชุมนุม แต่ถึงกระนั้นก็ยังต้องรอดูพัฒนาการในช่วงต่อไป
ส่วนนักลงทุนในประเทศมองว่าเป็นจังวะที่ดีในการเข้ามาทยอยสะสมหุ้นที่ได้รับปรับตัวลดลง เพื่อดักทางการกลับมาอีกครั้งของนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย หรือมีการจัดตั้งรัฐบาลกลางได้เร็ว โดยกลยุทธ์การลงทุนแนะนำว่า ควรติดตามสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด เพราะคงเป็นปัจจัยหลักส่งผลต่อการลงทุนในระยะสั้นหรือในระหว่างวันอาจมีแรงขายออกมา โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ และช่วงเปิดตลาดภาคบ่าย นักลงทุนต่างชาติอาจมีการปรับลดการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์
ทั้งนี้การเข้าซื้อหุ้นควรเลือกหุ้นที่มีสภาพคล่องสูง โดยยังคงเน้นการลงทุนไปยังหุ้นปัจจัยพื้นฐานมั่นคง ฐานะการเงินดี ธุรกิจฟื้นตัวเร็ว และมีปันผล เช่น กลุ่มธนาคาร KBANK ราคาหุ้นปรับตัวลงมาแรงซื้อ กลุ่มพลังงาน PTT,PTTEP และ PTTGC โดยมีสมมติฐานเหตุการณ์ไม่ยืดเยื้อและคาดว่าจะได้รัฐบาลใหม่เข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ ระยะกลาง ถือ และ ซื้อ เพิ่มเมื่อปรับตัวลงแรง แนวรับ 1,391-1,387 จุด เพราะเชื่อว่านักลงทุนสถาบันในประเทศจะยังเข้ามาลงทุนในช่วงที่ราคาหุนอ่อนตัวได้
กล่าวโดยสรุป หาก SET ปรับตัวลงมากกว่า 2% หรือที่ระดับ 1,375 จุด ถือเป็นจังหวะในการเข้าซื้อเก็งกำไรระยะสั้น เน้นหุ้นที่มีสตอรี่โดดเด่น และ EPS Growth เด่นสุดในกลุ่ม เลือก BGH, KBANK-F, AIS, PTTGC, QH, DTAC เป็น Top Picks ส่วนหุ้นขนาดเล็ก EE, EVER, PDI, SITHAI, TVO
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit