อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้แนะแนวทางสร้างสุขและประสบความสำเร็จให้กับพี่น้องเกษตรกร ว่า นอกจากจะต้องมีความเชี่ยวชาญเรื่องการเพาะปลูกและการค้าขายแล้ว การดูแลจิตใจถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อชีวิตไม่แพ้กัน ซึ่งแนวทางในการดูแลจิตใจ ได้แก่
1. ต้องตระหนักและภาคภูมิใจ ว่า อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ เพราะข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย และยังเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ ประกอบกับ เกษตรกรไทยมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำเกษตรกรรมสูง ความรู้และเทคนิคเคล็ดลับต่างๆ ที่สะสมตั้งแต่บรรพบุรุษ การศึกษาหาความรู้ และการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ หนุ่มสาวและคนรุ่นใหม่ต้องมาเรียนรู้กับเกษตรกรไทย
2. เกษตรกร เป็นอาชีพที่อาจต้องพบกับความไม่แน่นอนและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ซึ่งมีผลกระทบสูงต่อชีวิตและครอบครัว เช่น นาล่ม สิ้นเนื้อประดาตัว เกษตรกรจึงจำเป็นต้องตระหนักถึงความจริงในเรื่องนี้ และหาทางป้องกัน โดย- ระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายเงิน มีการวางแผนการเงินที่ดี เตรียมไว้สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน มีวินัยเรื่องการออมเงิน อย่าใช้จ่ายเรื่องที่ไม่จำเป็น เกษตรกรหลายคนหลุดพ้นจากหนี้สิน กลับมายืนหยัดได้เพราะการทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งเป็นวิธีการที่สำคัญในการจัดการการเงิน- ระมัดระวังเรื่องการกู้หนี้ยืมสินที่พอกพูน จัดการไม่ได้ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกษตรกรหลายคนต้องมีปัญหาสุขภาพจิต บางคนจบชีวิตตัวเอง เนื่องจากหาทางออกไม่ได้ และไม่สามารถทนกับความทุกข์นี้ได้- ต้องทำความเข้าใจกับลูกหลานกรณีที่ต้องส่งเงินค่าเล่าเรียนให้ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายอย่างประหยัด ซึ่งความรักความผูกพันในครอบครัวและการร่วมแรงร่วมใจกันฝ่าฟันอุปสรรค และความรักในถิ่นฐาน จะทำให้เกษตรกรมีฐานะที่มั่นคงมากขึ้นได้- น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ดำเนินชีวิต เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จมักจะเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ไว้ ได้แก่ (1) ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ลดละความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต(2) ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง ซื่อสัตย์สุจริต (3) ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์และแข่งขันกันในทางการค้าแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรง (4) ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก ด้วยการขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้น จนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ (5) ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักศาสนา
3. เกษตรกรรุ่นหลังๆ ควรถือ วิธีการปรับตัว ปรับใจ และแนวทางการดำเนินชีวิตที่ดีของเกษตรกรปู่ย่า ตายายเป็นแบบอย่างและเป็นหลักในการดำเนินชีวิต เช่น การมีศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจ การมีความรักความผูกพันกับครอบครัวชุมชน ความคิดยืดหยุ่นล้มได้ก็ลุกได้ ปรับตัว ไม่ยึดมั่นถือมั่น
4. เมื่อวันหนึ่งที่ชีวิตต้องเผชิญกับช่วงขาลง มีปัญหากระทบทางใจรุนแรง ทำให้เกิดความทุกข์ ความเศร้า ต้องมีสติและตระหนักว่า- เป็นช่วงเวลาวิกฤตที่ต้องดูแลจิตใจตนเอง พยายามหาความสงบทางใจ เช่น ใช้ศาสนาเข้าช่วยมากกว่าเวลาปกติ เชื่อว่าทุกข์นั้นเป็นสภาวะตามธรรมชาติ ไม่ควรยึดถือ- พยายามทำจิตใจให้เข้มแข็ง คิดว่าปู่ย่าตายายลำบากกว่านี้ยังอดทนผ่านพ้นมาได้ มองคนที่ลำบากกว่าเราว่าเขายังอยู่ได้ เราก็ต้องอยู่ได้ ต้องสร้างกำลังใจให้ตัวเอง - อย่าคิดหุนหันพลันแล่น ปล่อยใจไปตามอารมณ์ เพราะทุกปัญหาเมื่อเวลาผ่านไปก็จะค่อยๆ คลี่คลาย หรือมีทางออกได้ พยายามหาที่ปรึกษาระบายความทุกข์ทางใจเช่น พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ พระ เพื่อนฝูง เป็นต้น- พยายามยืนหยัดดำเนินชีวิตต่อไป ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้สูญสิ้นทุกอย่าง คิดถึงสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ เช่น ยังมีญาติพี่น้อง คนรอบข้างที่เป็นกำลังใจอยู่ร่วมกัน เรายังแข็งแรง เป็นต้น
5. รู้จักสัมผัส เช่น การโอบกอด ปลอบใจ ให้กำลังใจ แบ่งเบาความทุกข์ใจด้วยการแสดงความรักและเอื้ออาทรระหว่างกัน ตลอดจน สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ที่จะช่วยทำให้ตนเองและคนที่อยู่รอบข้างรู้สึกสดใสขึ้นได้ ที่สำคัญ รอยยิ้มที่จริงใจจะช่วยให้รู้สึกอบอุ่นใจ
“วันใดที่พี่น้องเกษตรกรไทยสามารถต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคต่างๆ และดูแลจิตใจตนเองให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ วันนั้นจะทำให้รู้สึกเข้มแข็ง และภาคภูมิใจในตัวเอง ซึ่งความอดทนและการดำเนินชีวิต จะเป็นแบบอย่างให้กับลูกหลานเกษตรกรได้นำไปใช้เพื่อเป็นเกษตรกรไทยที่มีความสุขและความสำเร็จต่อไป” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit