ดร. พญ. พิมลพรรณ กฤติยรังสรรค์
ผู้อำนวยการศูนย์ผิวหนังและความงาม
โรงพยาบาลกรุงเทพ
ปัญหาคันๆ เกาๆ อาจเป็นเรื่องที่หลายคนพบเจออยู่บ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจเกิดได้จะหลายสาเหตุ แต่ถ้ามีอาการคันที่ผิดปกติ เช่น คุณสาวๆ ที่มีอาการคันหูเพราะแพ้ตุ้มหูคู่สวยที่ซื้อมาใหม่จนติ่งหูแดงบวม มีน้ำเหลือง บางคนเป็นผื่นที่ท้องคันเนื่องจากแพ้กระดุมโลหะของกางเกง หรือหัวเข็มขัดโลหะ บางคนคันเพราะแพ้สายนาฬิกาหนังจนเป็นผื่นที่ข้อมือ แพ้รองเท้าหนังก็มีผื่นที่หลังเท้ายังมีสารอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้แพ้ได้ เช่น ยาง ปูน พลาสติก ถ้าใครกำลังประสบปัญหาเหล่านี้ อย่าได้นิ่งนอนใจปล่อยทิ้งไว้ เพราะคุณอาจกำลังเผชิญกับ “โรคภูมิแพ้ผิวหนัง” อยู่ก็เป็นได้
ดร. พญ. พิมลพรรณ กฤติยรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์ผิวหนังและความงาม โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า “ภูมิแพ้ผิวหนัง” เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากรุ่นปู่ย่าตายายสู่รุ่นพ่อแม่และลูกหลาน โดยโรคนี้เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ ไวกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้น โรคภูมิแพ้ผิวหนังอาจเกิดร่วมกับโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด แพ้อากาศ แพ้ฝุ่นจามบ่อย ซึ่งเป็นโรคในกลุ่มเดียวกัน แต่ละคนอาจมีความรุนแรงแตกต่างกัน บางคนอาจมีอาการเฉพาะทางผิวหนัง หรือบางคนอาจมีอาการทางเดินหายใจร่วมด้วย สำหรับเด็กที่เป็นโรคนี้จะมีอาการผิวแห้ง คันยุบยิบตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า แถมมีผื่นแดง ขึ้นตามบริเวณร่างกาย โดยเฉพาะข้อพับแขน ขา และคอ เวลามีเหงื่อออกจะคันมากขึ้น หากเป็นเรื้อรังผิวหนังจะหนาและมีรอยคล้ำ เด็กบางคนถ้าอายุมากขึ้นอาการจะดีขึ้น ผื่นอาจจะหายไปเหลือเพียงอาการผิวแห้งเท่านั้นแต่บางคนอาจเป็นไปจนถึงผู้ใหญ่ คนที่เป็นภูมิแพ้ผิวหนังมักจะแพ้แมลง ยุง มด มีอาการคันง่าย เมื่ออดเกาไม่ได้ ก็เป็นเหตุทำให้เกิดขาลายเรื้อรัง จึงควรป้องกันโดยทาน้ำยากันยุงหรือใส่กางเกงขายาวปกปิดเวลาออกไปเดินนอกบ้านในเวลากลางคืน ตัดเล็บให้สั้นเพื่อป้องกันการเกาจนเป็นแผลซึ่งจะนำไปสู่การติดเชื้อเป็นหนองได้ ควรดูแลโดยการใช้สบู่อ่อนๆ และไม่ใช้บ่อย ทาโลชั่นให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการระคายเคือง อาการจะบรรเทาไปเอง เพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังคงมีผื่นอักเสบอยู่ ในบริเวณที่หลีกเลี่ยงการระคายเคืองได้ยาก เช่น มือและเท้า มือจะแดงแห้งลอก ส้นเท้าแตกจนบางครั้งมีเลือดออกซิบๆ บริเวณที่มีเหงื่อออกมาก เช่น คอ ข้อพับแขน ขา หรือบริเวณที่เสียดสี เช่นเอว ใต้ราวนม รักแร้ ขาหนีบ จะเป็นผื่นและคล้ำได้ง่าย
“แม้โรคภูมิแพ้ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่คนที่เป็นภูมิแพ้ผิวหนัง จะมีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง มีอาการคันง่าย จึงมักเกาจนเป็นแผลที่ผิวหนังทำให้ติดเชื้อง่าย ถ้าติดเชื้อแบคทีเรียจะเป็นตุ่มหนอง ติดเชื้อไวรัสจะเป็นหูด และหูดข้าวสุกโดยเฉพาะในเด็ก ซึ่งหากมีการติดเชื้อเหล่านี้ เมื่อเด็กเล่นด้วยกันหรือว่ายน้ำในสระเดียวกันอาจติดต่อกันได้”
สำหรับการรักษาภูมิแพ้ผิวหนังขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ถ้าโรคอยู่ในระยะเฉียบพลัน มีตุ่มน้ำและน้ำเหลือง ควรใช้ผ้าพันแผลชุบน้ำเกลือที่สะอาดประคบแผลให้น้ำเหลืองแห้งก่อนจึงตามด้วยยาทา ยาที่ทาได้ผลเร็วคือยาทาสเตียรอยด์ แต่เมื่อผื่นหายแล้วต้องหยุดยา อย่าไปซื้อยาสเตียรอยด์มาทาเอง เพราะจะมีผลข้างเคียงในระยะยาว ถ้าเรื้อรังเป็นๆ หายๆ ควรใช้ยาที่ไม่มีสเตียรอยด์ทา และรับประทานยาแก้แพ้ หากอาการรุนแรงมากๆ แพทย์อาจพิจารณาให้ รับประทานยาสเตียรอยด์ หรือฉายแสงอัลตร้าไวโอเลตที่เรียกว่า Phototherapy ซึ่งจะช่วยระงับอาการคันทำให้ผื่นดีขึ้นและผลข้างเคียงน้อยกว่ารับประทานยาสเตียรอยด์
อย่างไรก็ตาม ดร. พญ. พิมลพรรณ แนะนำว่าคำตอบสำหรับการป้องกันโรคภูมิแพ้ผิวหนังนั้นก็คือ การรู้จักดูแลตนเองและปฏิบัติตนให้ถูกต้อง โดยการเลือกใช้สบู่อ่อนๆ ที่ให้ความชุ่มชื้น ไม่ระคายเคืองกับผิว อย่าเข้าใจผิดคิดว่าไม่สะอาด แล้วพยายามไปฟอกไปถูด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ซึ่งจะทำให้ระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้คันและเป็นผื่น หลังอาบน้ำควรทาโลชั่น หรือครีมให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิแบบเฉียบพลัน เช่น อาบน้ำร้อนมาก หรือเปิดแอร์เย็นจัด อย่าใส่เสื้อผ้าที่รัดมากหรือเนื้อหยาบหนาหรือผ้าขนสัตว์ เพราะมักทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิว ที่ไหนมีฝุ่นมาก มีแมลงหรือยุงชุม ก็ควรหลีกเลี่ยง ควรออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อสร้างภูมิให้กับร่างกาย ภูมิแพ้ผิวหนังก็จะดีขึ้นเอง ถ้าหากไม่แน่ใจควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการทดสอบโดยวิธีทำ Patch Test จะได้ทราบสาเหตุสารที่แพ้ เพื่อป้องกันอาการลุกลามต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit