คปก. เห็นว่า กฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เป็นกฎหมายที่มีความเร่งด่วน และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน จึงเสนอให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านการคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ศึกษาโดยนำร่างกฎหมายที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกามาเป็นหลักเบื้องต้น และศึกษาร่างกฎหมายประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อเสนอสองฉบับ ได้แก่ ร่างกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เสนอโดย นางสารี อ๋อง สมหวัง และคณะ และ ร่างกฎหมายคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากระบบบริการสาธารณสุข เสนอ นางอรพรรณ์ เมธาดิลกกุลและคณะ เมื่อประกอบการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า กฎหมายเข้าชื่อทั้งสองฉบับมีหลักการที่ต่างกันและมีความขัดแย้งดำรงอยู่ จึงได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้แก่ กลุ่มผู้เสียหายและภาคประชาชน กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขจากสภาวิชาชีพ สมาคมวิชาชีพ กรรมการประกอบโรคศิลปสาขาต่างๆ และกลุ่มนักวิชาการ หน่วยงานของรัฐ ภาคประชาสังคม รวมถึงการปรึกษาหารือร่วมกับอธิบดีกรมบัญชีกลาง เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม และรัฐมนตรีช่วยกระทรวงสาธารณสุขแล้ว เห็นว่ามีแนวทางเริ่มต้นที่ดีมาแล้วจากมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่กำหนดการจ่ายเงินชดเชยความเสียหาย พิจารณาเงินช่วยเหลือเบื้องต้นในกรณีผู้รับบริการหรือผู้ป่วยได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลตามสิทธิโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ก็มีข้อจำกัดเฉพาะกลุ่มผู้ใช้สิทธิจากกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง) เท่านั้น และไม่ครอบคลุมการแก้ไขความขัดแย้งเกี่ยวกับเรื่องคดีอาญา
นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สรุปว่า คปก. จึงเห็นชอบการจัดทำแนวทางการตราร่างกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ขึ้นใหม่ มีประเด็นสำคัญ คือจะคุ้มครองผู้เสียหายได้รับเงินชดเชยจากกองทุนตามกฎหมายนี้โดยไม่ต้องพิสูจน์ความผิด การตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้เสียหายฯ คณะอนุกรรมการพิจารณาเงินชดเชย ทั้งส่วนกลางและระดับจังหวัด กำหนดความคุ้มครองของสถานพยาบาล เริ่มจากกลุ่มประกันสังคม กลุ่มสปสช. และข้าราชการก่อน และเปิดโอกาสหลัง 1 ปี ให้สถานพยาบาลเอกชนสมัครใจเข้าร่วม ส่วนการพิจารณาจ่ายเงินชดเชย ผู้เสียหายอาจยื่นขอรับเงินชดเชยตามกฎหมายภายในสามปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหายแต่ไม่เกินสิบปี และให้มีการพัฒนาระบบความปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหาย และหลักบรรเทาโทษ กรณีผู้ให้บริการสาธารณสุขถูกฟ้องร้องเป็นจำเลยในคดีอาญากระทำโดยประมาทเกี่ยวเนื่องกับการให้บริการสาธารณสุข เป็นต้น
นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ชี้แจงว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุข ผู้ได้รับความเสียหายจะได้รับการเยี่ยวยาอย่างเป็นระบบโดยรวดเร็วและเป็นธรรม มีการพัฒนาระบบความปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงจากความเสียหายที่จะเกิดจากบริการสาธารณสุขและผู้ให้บริการก็จะมีความมั่นใจในการรักษาพยาบาลยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ.... สามารถติดตามรายละเอียดทางเวปไซต์ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย www.lrct.go.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit