ดร.ภูษณ ปรีย์มาโนช ประธานกรรมการ บมจ. อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง (IEC) ได้ชี้แจงเกี่ยวกับกรณีที่ทางราชการยกเลิกโครงการโซลาร์ฟาร์มชุมชน 800 เมกะวัตต์ว่า กรณีดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทฯ แต่อย่างใด ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่มีผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ ทำให้ไม่มีความน่าสนใจในการเข้าไปลงทุน อีกทั้งขณะนี้ไม่ได้อยู่ในแผนการดำเนินธุรกิจของ IEC ด้วย ซึ่งบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจพลังงานทดแทนหลายประเภท อาทิ โซลาร์ฟาร์ม โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบระบบและจะเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในระยะเวลาอันใกล้นี้ รวมถึงอยู่ระหว่างการศึกษาและทำการจัดซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยในสิ้นปี 2557 คาดว่าจะมีโซลาร์ฟาร์มรวม 16 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชีวมวลรวม 32 เมกะวัตต์ ส่งผลให้มีรายได้เฉลี่ย 40 ล้านบาทต่อเดือน
ปัจจุบัน ไออีซี ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ จ. ลำพูน (โครงการลำพูน 1 และ 2) ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนและภาครัฐให้การสนับสนุน โดยให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า โครงการจึงให้ผลตอบแทนคุ้มค่าแก่การลงทุน โดยโครงการลำพูน 1 และโครงการลำพูน 2 ถือเป็นโครงการด้านพลังงานทดแทนแห่งแรกที่เปิดดำเนินการเป็นปฐมฤกษ์ของกลุ่มบริษัทฯ และในไตรมาสที่สี่ของปี 2556 ไออีซีเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ จ. ตาก (โครงการแม่ระมาด) กำลังการผลิต 5.25 MW และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ จ. เชียงใหม่ (โครงการแม่มาลัย 1 และโครงการแม่มาลัย 2) กำลังการผลิต 2 MW ส่งผลให้โซลาร์ฟาร์มมีกำลังการผลิตรวมเกือบ 10 MW สามารถสร้างรายได้รวม 180 ล้านบาทต่อปี
นอกเหนือจากโรงไฟฟ้าที่แปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า ไออีซี ยังได้ร่วมทุนกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ในนามบริษัท จีเดค จำกัด เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ (Municipality Solid Waste) กำลังการผลิต 6.7 MW ที่ อ.หาดใหญ่ จ. สงขลา โดยบริษัทดังกล่าวได้รับสัมปทานจากเทศบาลนครหาดใหญ่เป็นระยะเวลา 25 ปีในการกำจัดขยะชุมชนและแปลงวัตถุดิบขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยใช้เทคโนโลยี Ash Melting Gasification จากประเทศฟินแลนด์ อันเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในประเทศแถบทวีปยุโรป โดยโรงไฟฟ้าพลังงานขยะจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าได้ราวไตรมาสที่ 3 คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้ราว 22 ล้านบาทต่อเดือน ดร.ภูษณ กล่าวทิ้งท้าย