แม่น้ำแม่กลอง เกิดจากแม่น้ำแควใหญ่และแควน้อย ไหลมาบรรจบกันที่ตำบลปากแพรก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ไหลผ่านจังหวัดราชบุรี สมุทรสงคราม และไหลลงสู่ปากอ่าวไทยที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม มีความยาวประมาณ 132 กิโลเมตร พื้นที่รับน้ำที่ปากแม่น้ำแม่กลอง 30,106 ตารางกิโลเมตร
เพราะความเชื่อมโยงของ “แม่น้ำเพชรบุรี”และ “แม่น้ำแม่กลอง” แม่น้ำสองสายสำคัญในภาคตะวันตก ที่ไหลลงสู่อ่าวไทย เกิดเป็นความเชื่อมโยงทางกายภาพให้ทั้ง 4 จังหวัดได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และ สมุทรสงคราม กลายเป็น “นิเวศลุ่มน้ำภาคตะวันตก” เมื่อ “สิ่งแวดล้อม” เชื่อมโยงถึงกัน ความพยายามนำ “เยาวชน” มารวมตัวกันเพื่อสร้างเป็น “เครือข่าย” จึงเกิดขึ้น “สมัยก่อนสังคมเชื่อมแบบเครือญาติมันทำให้คนรู้จักกันว่านี่ก็ญาติเรา นี่สะใภ้เรา นี่หลานเขย แต่ปัจจุบันสังคมแบ่งเป็นขอบเขตจังหวัด ทำให้สังคมแยกคนจากความสัมพันธ์ เราต้องขยายแนวให้คนเชื่อมกันด้วยระบบนิเวศ” นายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้ประสานงาน ศูนย์ประสานงานการวิจัยท้องถิ่น จ.สมุทรสงคราม เกริ่นนำการจัดกิจกรรม “จูงมือเพื่อน จูงมือน้อง สร้างสำนึกปลุกพลเมือง” ครั้งล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้น ณ ลานวัฒนธรรมนาคะวะรังค์ ตลาดน้ำอัมพวา จ.สมุทรสงคราม มีเยาวชนให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 100 คนจาก 4 จังหวัดดังกล่าว เพื่อมาเรียนรู้ความหมายของคำว่า “พลเมือง” และสื่อสารความเข้าใจเรื่องความเป็นพลเมืองของตนเองผ่านงานเขียน วาดภาพ ภาพถ่าย โดยมีฉากของชุมชนตลาดน้ำอัมพวาเป็นโจทย์ “พลเมือง” ให้เรียนรู้ เป็นปฐมบทของโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ที่ดำเนินการโดยศูนย์ประสานงานการวิจัยท้องถิ่น จ.สมุทรสงคราม ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการ Active Citizen เพื่อสร้างเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เกิดสำนึกและรับผิดชอบต่อตนเองชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม สามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีจิตสาธารณะ และเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ โดยได้เลือกพื้นที่นำร่อง 4 ภาค ใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน จังหวัดศรีษะเกษ จังหวัดสงขลาและจังหวัดสมุทรสงคราม
“ถามว่าเรื่องความเป็นพลเมืองสำคัญอย่างไรสำหรับตัวผม ผมคิดว่าสังคมถ้าไม่เข้าใจเรื่องนี้ทุกคนก็จะต่างคนต่างอยู่ทุกคนก็จะเอาตัวรอด ทุกคนก็จะทำเพื่อตัวเอง การเลือกทำ 4 จังหวัดนี้ เพราะมีความเชื่อมโยงทางกายภาคภูมิสังคม และก็มีความคาดหวังว่าจะมีกลุ่มคนที่เกิดขึ้นเป็นเครือข่ายกัน เครือข่ายที่ทำให้เกิดคนที่เข้าใจคำว่าพลเมือง และในอนาคตเขาจะมีกิจกรรมที่รวมกลุ่มกัน เป็นเครือข่ายทำอะไรต่อเนื่องกันสร้างแบบนี้ต่อไป เรามองระยะยาวนะว่าคนไม่ได้สัมพันธ์กันแค่ตอนวัยเด็ก เรามีเพื่อนวัยเรียนพอสนิทชิดเชื้อกันกระจายอยู่หลายจังหวัด ถึงเวลาเราทำอะไรเราก็เชื่อมโยงได้ คือถ้าเราคิดสั้นๆ ทำไมเราต้องทำแค่แม่กลองอย่างเดียว ผมรู้สึกว่าแม่กลองจะรักษาตัวเองได้ไหม รักษาตัวเองได้โดยการรักษาแม่กลองไว้หรือ นี่เรากำลังสร้างภูมิให้บ้านของเรา”
“ขณะเดียวกันถ้าเกิดปัญหาสังคมเขาก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะฉะนั้นเขาควรจะเริ่มตั้งแต่เรื่องใกล้ตัวในครอบครัวเขา กำลังทำบทบาทพลเมืองดีที่ใส่ใจต่อเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เราไม่ได้มองแค่เรื่องสิ่งใหญ่ๆ เรื่องสิ่งแวดล้อมนะ เรากำลังมองเรื่องเล็กๆ ในครอบครัว เราทำเรื่องนี้เพื่อบอกกับคนในชุมชนว่าถ้าคุณไม่จัดการเรื่องนี้ ตั้งแต่เริ่มในครอบครัวนะ ที่ฝึกลูกคุณให้มีวินัย มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อสังคมโดยรวม แล้วคุณจะอยู่กันอย่างไร เรากำลังทำเรื่องฝืนกระแสอยู่เพราะว่าคนทุกวันนี้เลี้ยงลูกไม่ได้เลี้ยงด้วยใจ เลี้ยงด้วยเงิน ปัญหาเยาวชนเกิดจากครอบครัวที่พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ นี่ยังไม่พูดไปถึงเรื่องปัญหาครอบครัวแตกแยกเต็มไปหมด เป็นปัญหาร่วมของ 4 จังหวัดเลย ปัญหาภาระเศรษฐกิจต้องทำให้พ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยงดูลูกอย่างใกล้ชิด เพราะฉะนั้นเราจะทำอย่างไรกัน เราไม่ได้อยากผลักภาระไปให้พ่อแม่อย่างเดียว แต่เราจะมองว่าคนทุกคนในชุมชนในสังคม เช่นพ่อแม่ พี่น้อง ปู่ย่าตายาย รวมไปถึงผู้นำท้องถิ่น อบต. หน่วยงานต่างๆ ต้องมองเรื่องนี้รวมกัน ต้องหันกลับมาคิดที่ผ่านมานี่คุณทำอะไรกันอยู่”
นายชิษนุวัฒน์ ย้ำต่อว่า สำหรับการฝึกให้เยาวชนเข้าใจเรื่องสำนึกพลเมืองในครั้งแรกเราต้องชี้อะไรบางอย่าง ต้องฝึกให้เด็กเขาสัมผัสให้เขาทำเรื่องนี้ได้ตลอดเวลา “บอกได้เลยว่าเด็กต้องเรียนรู้จากกิจกรรมที่จะลงมือทำ เขาไม่สามารถใช้วิธีการเช่นดูหนังสั้น ที่มาพูดอย่างเดียวแล้วเกิดสำนึกพลเมืองได้”
และในวันนี้ได้มีผู้ใหญ่ใจดี คุณสุรจิต ชิรเวทย์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสงคราม ที่มาบรรยายพิเศษ เรื่อง “พลเมืองเด็ก...ใส่ใจสังคม” ได้เชื่อมโยง “ต้นน้ำ” ถึง “ปลายน้ำ” ที่มีความสัมพันธ์กันในระบบนิเวศที่กระตุ้นการสร้างสำนึกความเป็นพลเมืองในตัวเยาวชนให้มาร่วมกันช่วยกันรักษาเอาไว้ จากเรื่องของ “วาฬบลูด้า” ถึง “ความลับ” ของ “ปลาทู” และ “ไต๋ก๋ง” ที่กลายมาเป็นอาหารอันโอชะของมนุษย์ได้อย่างไร
“...ต้นน้ำแม่กลอง ต้นน้ำเพชรบุรี ไหลออกทะเลที่อ่าวไทย จะมีแพลงตอนพืช เมื่อถึงฤดูฝนได้รับสารอาหารมาเติม เพราะฉะนั้นน้ำจืดน้ำท่าที่ออกสู่ทะเลไม่ได้สูญเปล่า ตะกอนที่หอบเอามา คือโอชะของดิน โอชะของน้ำ แร่ธาตุสารอาหาร เกิดเป็นห่วงโซ่อาหารครบวงจรขึ้นที่ปากอ่าวนี้ พอหน้าฝนสิงหา กันยาก็จะมีวาฬบลูด้าเข้ามาที่ปากแม่น้ำที่กลายเป็นทุ่งหญ้าสำหรับสัตว์น้ำไปแล้ว พอน้ำหลากมาเติมจะเกิดการบูมของแพลงตอน ปลาวาฬที่ตัวใหญ่สุดแต่กินอาหารเล็กสุดคือกินแพลงตอนเป็นอาหาร แพลงตอนแม้เป็นพืชชั้นต่ำที่เรามองด้วยตาเปล่าไม่เห็นก็รู้จักรักษาชีวิตของมัน ถ้ามีแสงมากมันก็จมลงไปกลางน้ำ ถ้าเป็นคืนเดือนมืดมันก็ลอยขึ้นมาผิวน้ำ วาฬบลูด้ามาตอนกลางวันก็ใช้หางโบกให้ตะกอนคลุ้งขึ้นผิวน้ำ แพลงตอนก็ลอยขึ้นผิวน้ำ นกนางนวลที่ตามวาฬไปก็รู้ว่าจะได้ปลาเล็กปลาน้อย ก็กินกันเป็นห่วงโซ่อย่างนี้ พอเดือนมืด เดือนจะแขวนอยู่บนท้องฟ้าน้อยชั่วโมง ตอนกลางคืนแพลงตอนก็จะลอยขึ้นผิวน้ำ ที่นี้ปลาทูก็ไปรู้ “ความลับ” ของแพลงตอน ปลาทูเป็นปลากินแพลงตอน พอคืนเดือนมืดปลาทูก็จะขึ้นผิวน้ำตามแพลงตอนที่ลอยขึ้นผิวน้ำ ไต๋ก๋งเรือประมงก็ไปรู้ “ความลับ” ของปลาทูอีกต่อหนึ่ง เขาก็จะเห็นประกายฟอสฟอรัส เป็นประกายเขียวเหลืองเรืองๆ แสงเหมือนเข็มนาฬิกาปลุกในตัวปลาทู ไต๋ก๋งก็จะรู้ว่านี่คือปลาทูข้างเหลืองก็จะเอาอวนไปล้อมจับ ปลาทูเป็นปลาที่ไม่มีอาวุธประจำกายเลยอาศัยว่ายน้ำเร็วอย่างเดียว แถมเคลื่อนไหวเป็นฝูงก็ถูกจับได้ง่าย เกิดเป็นห่วงโซ่อาหารอุดมสมบูรณ์ที่บอกว่าความสมบูรณ์นี้มาจากต้นน้ำ เพราะฉะนั้นตั้งแต่ต้นน้ำ ป่า เขา ทะเล เป็นเรื่องเดียวกันหมดเลย มีความสัมพันธ์กันอย่างนี้”
และท้ายสุดได้ฝากข้อคิดให้กับเยาวชนไว้ว่า “พวกลุงมาช่วยกันจัดงานนี้ให้ลูกหลานได้เห็นอะไรเพิ่มขึ้นมากกว่านอกห้องเรียน และให้กลับไปมีมุมมองหรือสังเกตท้องถิ่นของตัวเองได้มากขึ้น แล้วจะรู้ว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการดูแลจัดการ จะค่อยๆ เห็นเองว่าถ้าเราร่วมมือกันคิดเล็ก ทำจากสิ่งเล็ก ก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาใหญ่ได้ และความรู้ที่เรียนในห้องเรียนก็จะเห็นชัดขึ้นในภูมิประเทศ เราก็ต้องช่วยกันเฝ้าบ้านดูแลบ้านแบบนี้ ไม่ใช่พอเสร็จกิจกรรมกลับไปบ้านก็ลืมหมดเลย วันหลังไปขี่จักรยาน ไปเที่ยว ไปดูว่าระบบนิเวศแต่ละที่เป็นอย่างไร คุณลุง คุณป้า ใช้ความรู้ในการทำมาหากินอย่างไร”
นี่คือบรรยากาศของการค่อยๆ “ปลุกสำนึกความเป็นพลเมือง” ในตัว “เยาวชน” ขึ้นมาทีละน้อยๆ ให้ไม่นิ่งดูดายบ้านของตัวเอง หลังจากโชว์ฝีมือให้ผู้ใหญ่ได้เห็นแล้วต่างก็แยกย้ายกันกลับบ้านไป ปล่อยให้เป็นการบ้านของผู้ใหญ่อย่าง “นายชิษนุวัฒน์” ว่าจะติดตั้งคำว่า “พลเมือง” ให้อยู่ในใจพวกเขาได้อย่างไร แต่ในวันนี้เขาก็ยังมีความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เยาวชนหลายกลุ่มได้ทำมาก่อนหน้านี้มีทุนเดิมที่ดีพอ “ต่อยอด” ไปข้างหน้าได้อย่างไม่ยากเย็น ซึ่งจะถูกพิสูจน์ในการดีไซน์กิจกรรมในครั้งต่อๆ ไป โดยทิ้งท้ายไว้อย่างมั่นใจในวันข้างหน้าว่า
“ผมเห็นบางกลุ่มเขาใส่ใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมอยู่แล้ว อย่างเช่นเด็กเพชรบุรีที่คิดว่าเขาจะทำอย่างไรเรื่องแม่น้ำเพชรของเขา ส่วนคำว่าพลเมืองมันเหมือนไม่ได้ถูกติดตั้งในชีวิตเด็กตั้งแต่แรก แต่เรามาช่วยกันติดตั้งทีหลัง แต่เราจะเป็นคนชี้ขุมทรัพย์ว่าสิ่งที่คุณทำนั่นนะคือสิ่งที่มีสำนึกพลเมืองนั่นเอง”
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit