พญ. มาริษา พงศ์พฤฒิพันธ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง อาจารย์ประจำสาขาวิชาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้ช่วยประธานวิชาการ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในขณะนี้อีโบลาไวรัส (ebola virus) กำลังเป็นที่จับตามองของแพทย์ทั่วโลก เนื่องจากมีรายงานการระบาดหนักในปีนี้ และได้คร่าชีวิตผู้ป่วยชาวแอฟริกันไปหลายร้อยราย เชื้ออีโบลาไวรัสเป็นไวรัสอันตรายที่ติดต่อในคนและในสัตว์และอาจทำให้ผู้ติดเชื้อนั้นเสียชีวิต โดยมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 60-90% ในปัจจุบันก็ยังไม่มีทางรักษาและยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ก่อนหน้านี้มีรายงานการระบาดเฉพาะในทวีปแอฟริกาโดยเริ่มมีการระบุเชื้อได้จากการตรวจทางห้องปฏิบัติการตั้งแต่ปี ค.ศ.19671 ล่าสุด (ค.ศ.2014) ได้มีรายงานการระบาดหนักเกิดที่ไลบีเรีย, กีเนียและเซียราลีโอน ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่บริเวณตะวันตกของทวีปแอฟริกา โดยการติดต่อไวรัสนี้สามารถติดต่อได้โดยการสัมผัสเลือด หรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย ได้แก่ เลือด น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย ของใช้ของผู้ป่วย หรือสัตว์ที่ป่วย รวมทั้งการนำสัตว์ที่ป่วยมาทำเป็นอาหาร โดยผ่านทางเยื่อบุในปากและทางเดินอาหาร (mucous membrane), เยื่อบุตา (conjunctiva) และรอยแยกหรือแผลบนผิวหนัง ระยะที่เกิดการติดต่อได้เริ่มตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการนำ (ประมาณ 7 วัน) ซึ่งในระยะนี้ยังจัดเป็นความเสี่ยงต่ำ การติดต่อจะติดได้ง่ายขึ้นเมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ระยะท้ายของโรคอาการและอาการแสดงของโรค 1. อาการในระยะแรก (Phase I) มีอาการไข้สูงทันทีทันใด (39-40°C) อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดศีรษะจากท้ายทอย และเจ็บคอ 2. อาการในระยะที่สอง (Phase II) จะมีอาการของความผิดปกติของอวัยวะภายใน โดยจะเริ่มมีอาการในวันที่ 2-4 หลังแสดงอาการแรกเริ่ม และคงอยู่นาน 7- 10 วัน อาการและอาการแสดงได้แก่ อาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร เจ็บคอรุนแรง เจ็บหน้าอก กลืนลำบาก ไอแห้ง ๆ และมี ผื่นแดง ราบและนูน (maculopapular rash) กดจางได้ และไม่คัน ขึ้นตามผิวหนัง โดยเริ่มมีผื่นได้ตั้งแต่วันที่ 2-7 หลังแสดงอาการแรกเริ่ม (มักขึ้นในวันที่ 5) (รูปที่ 1)1 เมื่อผื่นหายจะเกิดเป็นขุยเล็กๆได้ (fine scaling) อาการทางตา ได้แก่ อาการตาแดง ตาสู้แสงไม่ได้ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีเลือดออกในอวัยวะภายใน ทำให้เลือดกำเดาไหล, ถ่ายเป็นเลือด, อาเจียนเป็นเลือด, ปัสสาวะเป็นเลือด, และปรากฏจุดเลือดออกตามร่างกาย ร่วมกับภาวะตับถูกทําลาย ไตวาย มีอาการทางระบบประสาทส่วนกลาง เช่น สับสน เซื่องซึม ก้าวร้าว (aggressiveness) และอาการชัก เป็นต้น 3. อาการในระยะที่สาม (Phase III) ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจเร็ว อาจมีอาการสะอึก มีความดันโลหิตลดต่ำ เป็นผลให้อวัยวะหลายระบบเสื่อมหน้าที่ ปัสสาวะไม่ออก ซึ่งเป็นผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
รูปที่ 1 ผื่นแดง ราบและนูน กดจางได้ (maculopapular rash) ที่พบจากการติดเชื้ออีโบลาไวรัสสำหรับผู้ที่รอดชีวิตจะมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้ได้มากกว่าหนึ่งเดือน ได้แก่ อาการอ่อนเพลียรุนแรง เบื่ออาหารน้ำหนักลด และปวดข้อ อาการอื่นที่อาจพบตามหลัง ได้แก่ ตับอักเสบเป็น ๆ หาย ๆ ไขสันหลังอักเสบ, อาการทางระบบประสาท และตาอักเสบ (uveitis) เป็นต้น
การวินิจฉัย การยืนยันการวินิจฉัยการติดเชื้ออีโบลา ทำได้โดยการตรวจหาเชื้อไวรัส (antigen detection, viral RNA polymerase chain reaction) และภูมิต่อเชื้อไวรัส (IgG) ส่วนการรักษา ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาจำเพาะ การรักษาจึงทำได้เพียงการบรรเทาอาการ และรักษาตามอาการ ปัจจุบันมีความพยายามในการคิดค้นยาใหม่ แต่ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา สำหรับการป้องกัน สามารถป้องกันการแพร่เชื้อได้โดยการใช้มาตรการควบคุมการติดเชื้อ ผู้ที่ต้องเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาด ควรปฏิบัติตนให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเลือด หรือสารคัดหลั่ง เช่น เลือด หรือสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วยที่อาจปนเปื้อนกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หรือศพของผู้ป่วยที่เสียชีวิต หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์โดยเฉพาะสัตว์ป่าที่อาจนำมาเป็นอาหาร ถ้ารู้สึกไม่สบาย มีอาการไข้ ปวดหัว เจ็บคอ ท้องเสีย อาเจียน ปวดท้อง ผื่นแดง หรือตาแดง ให้พบแพทย์ทันที
หากต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคอีโบลา สามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย www.dst.or.th หรือ http://www.dst.or.th/html/index.php?op=article-detail&id=1227&cid=12#.U97aZeOSy8o
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit