คาด กนง. คงดอกเบี้ย หนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงตั้งไข่

06 Aug 2014
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมิน แม้เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ยังต้องการแรงส่งจากนโยบายการเงินเพื่อรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มองคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันพุธที่ 6 สิงหาคม นี้

หลังจากเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับภาวะสุญญากาศทางการเมือง กระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและการใช้จ่ายภายในประเทศ ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐหยุดชะงัก และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ติดลบร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2556 หรือหดตัวร้อยละ 2.1 หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จนหลายฝ่ายกังวลว่าไทยอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคได้หากเศรษฐกิจหดตัวอย่างต่อเนื่องอีกครั้งในไตรมาสสอง

อย่างไรก็ดี หลังการเข้ามาบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นับแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ทำให้ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2557 มีความชัดเจนขึ้น กอปรกับเครื่องชี้เศรษฐกิจในไตรมาสสองมีทิศทางฟื้นตัวจากไตรมาสแรก ทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสสองหดตัวชะลอลงมาอยู่ที่เพียงร้อยละ 0.7 จากไตรมาสแรกที่ติดลบร้อยละ 1.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลค้างคามาจากการสิ้นสุดลงของมาตรการรถคันแรก เช่นเดียวกับดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวชะลอลงจากติดลบร้อยละ 6.1 ในไตรมาสแรก มาติดลบเพียงร้อยละ 2.7 ในไตรมาสสอง สอดรับกับผลสำรวจความเชื่อมั่นทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่ทยอยดีขึ้นเป็นลำดับด้วยเช่นกัน

สำหรับภาคการส่งออก แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจะเป็นไปอย่างช้าๆ แต่นับว่ามีสัญญาณที่เป็นบวกด้วยเช่นกัน หลังล่าสุดกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขการส่งออกของไทยกลับมาขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 3.9 ทำให้มูลค่าส่งออกไตรมาสสองเติบโตร้อยละ 0.3 กลับมาเป็นบวกอีกครั้งหลังจากหดตัวติดต่อกันกว่า 4 ไตรมาส รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และยุโรป ที่ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 11.2 และ 15.4 ตามลำดับ

ดังนั้น ศูนย์วิเคราะห์ฯ จึงประเมินว่า จุดเลวร้ายสุดของเศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านพ้นไปแล้วตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปี และมองว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาสที่สอง โดยคาดว่าจีดีพีจะพลิกกลับมาขยายตัวเล็กน้อยได้ที่ระดับร้อยละ 0.1 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ความกังวลว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคนั้นน่าจะคลายตัวลง ลดแรงกดดันที่ กนง. จะต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งขณะนี้เข้าสู่ระยะสองของการบริหารประเทศของ คสช. ที่มีการดำเนินตามกรอบที่วางไว้ อาทิ การเห็นชอบกรอบงบประมาณปี 2558 การประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 การอนุมัติร่างแผนยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมระยะเวลา 8 ปี และล่าสุดการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งได้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจและนักลงทุน สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจล่าสุดใน 3 เดือนข้างหน้า ที่ปรับขึ้นสู่ระดับ 54.0 จากระดับ 53.1 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (TMB’s SME Sentiment Index) ที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 9 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 62.2 นับว่าเป็นสัญญาณเชิงบวกที่เครื่องยนต์ภาคเอกชนจะเริ่มกลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐอีกครั้ง ภายใต้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักของไทยอย่างต่อเนื่อง ศูนย์วิเคราะห์ฯ จึงประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี จะขยายตัวที่ระดับร้อยละ 4.2 และทำให้ทั้งปี 2557 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.0 ตามประมาณการเดิม

This document is issued by TMB Analytics, a division of TMB Bank PCL. All analyses are based on information available to the public. Although the information contained herein is believed to be reliable, TMB makes no guarantee to its accuracy and completeness. TMB may have issued, and may in the future issue, other reports that are inconsistent with, and reach different conclusions from, the information presented in this report. Opinions or predictions expressed herein reflect the authors’ views, not that of TMB, as of date of the analysis and are subject to change without notice. TMB shall not be responsible for the use of contents and its implication.

แม้เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มที่สดใสขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ทว่าการฟื้นตัวที่ยังคงอยู่ในช่วงตั้งไข่ยังมีความเสี่ยงที่จีดีพีจะขยายตัวในระดับต่ำกว่าศักยภาพไปอีกระยะหนึ่ง ทำให้ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดการณ์ว่า กนง. จะยังคงมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ในการประชุมวันพุธที่ 6 สิงหาคมนี้ และจะคงดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวไว้จนถึงสิ้นปีเป็นอย่างน้อย จนกว่าสัญญาณการฟื้นตัวจะมีความชัดเจนมากกว่าในปัจจุบัน ภายใต้ภาวะเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับไม่น่ากังวล