ดร. วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า งานสัมมนา SEC Working Papers Forum ครั้งที่ 1 ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในประเด็น “การออมเพื่อการเกษียณอายุ” ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันเตรียมความพร้อม ทั้งการกำหนดนโยบาย การออกผลิตภัณฑ์ การสนับสนุนให้ประชาชนเห็นความสำคัญ โดยผลการศึกษานี้ ชี้แนะแนวทางเพื่อนำไปประยุกต์กับการพัฒนากลยุทธ์การสร้างแรงจูงใจให้ผู้ออมเพิ่มเงินออมมากกว่าที่กำหนด และเลือกลงทุนสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เพื่อให้ได้รับประสิทธิผลจากเงินออมที่ดีขึ้น และเพียงพอสำหรับชีวิตวัยเกษียณ รวมทั้งส่งเสริมการให้ความรู้เรื่องผลตอบแทนการลงทุนและความเสี่ยงในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง เพื่อเตรียมพร้อมประเทศไทยในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย
ดร. พรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าทีมผู้วิจัย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การศึกษาได้จำลองสถานการณ์การออมและการลงทุนของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นข้าราชการและมีการออมเพื่อเกษียณอายุแบบบังคับ ผ่านการบริหารจัดการโดยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เพื่อตอบคำถามงานวิจัยสองประเด็นหลักได้แก่ ผลกระทบเมื่อมีการปรับเปลี่ยนให้สัดส่วนเงินออมที่กำหนด จากร้อยละของเงินเดือนในอัตราคงที่ตลอดเวลาของการออม เปลี่ยนเป็นค่าที่ผันแปรได้โดยให้ผกผันกับอายุ กล่าวคืออายุน้อยสัดส่วนร้อยละของการออมต่อเงินเดือนสูงและปรับลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ประเด็นที่สองคือ ผลกระทบเมื่อมีการปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงโดยให้ผกผันกับอายุ กล่าวคืออายุน้อยสัดส่วนร้อยละของการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงและปรับลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น
จากผลการศึกษาพบว่า การปรับแผนการลงทุนที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยมให้เป็นเชิงรุกมากขึ้นจะส่งผลต่อความเพียงพอในวัยเกษียณมากขึ้น โดยเฉพาะการเริ่มออมตั้งแต่อายุน้อยพร้อมกับการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง เช่น หุ้น ให้มีระยะเวลาการลงทุนนานขึ้น จากการศึกษายังพบว่าแผนการลงทุนที่ปรับสัดส่วนการลงทุนตามอายุโดยอัตโนมัติเหมาะกับผู้ออมที่ขาดความรู้ทางการเงินและมีพฤติกรรมเฉื่อยชาไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างชัดเจนในกลุ่มผู้มีอายุน้อย และอายุมากใกล้เกษียณจะมีความเสี่ยงลดลง
ทีมวิจัยมีข้อเสนอแนะว่า ผู้กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการออมเพื่อเกษียณอายุควรกำหนดกรอบ และคุณสมบัติของแผนลงทุนหลักที่มีความยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ สามารถสะท้อนถึงทัศนคติ และการยอมรับความเสี่ยงได้ของสมาชิกแต่ละราย และหรือครอบคลุมสมาชิกโดยส่วนใหญ่ได้ ซึ่งผลการวิจัยที่ได้น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดการออมและการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุได้ดีขึ้น
หมายเหตุ: การเผยแพร่งานวิจัยเป็นการดำเนินงานตามบันทึกความร่วมมือระหว่าง ก.ล.ต. กับสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ 4 แห่ง ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย แลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างภาควิชาการกับผู้บริหารในตลาดทุน และนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตลาดทุน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit