ดัชนีเชื่อมั่นทองยังบวก กังวลสงครามปัจจัยหนุน เผยครึ่งปีแรกสัดส่วนซื้อขายทองแท่ง-รูปพรรณใกล้เคียงกัน

07 Aug 2014
ศูนย์วิจัยทองคำเผยดัชนีเชื่อมั่นทองคำเดือน ส.ค. ทรงตัวใกล้เคียงเดือนก่อน โดยอยู่ที่ระดับ 56.08 จุด อ่อนตัวเล็กน้อย 0.11% วิตกความเสี่ยงสงครามตะวันออกกลางและยุโรปตะวันออกยังหนุนราคา แต่มองเงินบาทผันผวน ด้านผู้ค้ารายใหญ่เชื่อทองยังเชิงบวก ชี้ระหว่างเดือนน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 18,700-20,900 บาทต่อบาททองคำ เผยการซื้อขายทองคำครึ่งแรกในประเทศทั้งทองแท่งและรูปพรรณมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน

นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนสิงหาคม 2557 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำลดลงเล็กน้อยจากผลสำรวจเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 56.08 จุด หรือลดลง 0.11% ซึ่งค่าดัชนียังอยู่สูงกว่าระดับ 50 จุด หมายถึงกลุ่มตัวอย่างโดยรวมยังเห็นว่าราคาทองคำจะสามารถฟื้นตัวได้ระหว่างเดือน โดยมีความวิตกต่อภาวะสงครามที่เกิดในหลายพื้นที่เป็นปัจจัยหนุนสำคัญ และมุมมองดังกล่าวสอดคล้องกันทั้งกลุ่มผู้ลงทุนทองคำและกลุ่มผู้ค้าทองคำ และกลุ่มตัวอย่างกว่า 40% เชื่อว่าจะซื้อทองคำในช่วงหนึ่งเดือนข้างหน้า

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในช่วงสามเดือนข้างหน้าจากการสำรวจพบว่า ดัชนีโดยรวมอยู่ที่ระดับ 58.85 จุด ลดลงจากการจัดทำเดือนกรกฎาคมเช่นกันแต่ยังมีค่าดัชนีสูงกว่า 50 จุด ทำให้เชื่อว่ากลุ่มตัวอย่างยังคงมีมุมมองระยะกลางต่อราคาทองคำในเชิงบวก โดยมองปัจจัยสนับสนุนประเด็นใกล้เคียงกันคือความเสี่ยงจากภัยสงคราม ทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และค่าเงินบาท

ด้าน ดร.ทรรศนะ บุญขวัญ เปิดเผยบทสรุปความคิดเห็นผู้ค้าทองคำ (Gold Trader Consensus) จากผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ ผู้ค้าส่งทองคำ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 11 ตัวอย่าง พบว่าผู้ค้าส่วนใหญ่มีมุมมองในเชิงบวกต่อราคาทองคำในช่วงเดือนสิงหาคม โดยมีผู้ค้า 5 รายมองทองคำเพิ่มขึ้น 3 รายมองราคาทองลดตัวลงระหว่างเดือน ขณะที่อีก 2 รายมองใกล้เคียงกับเดือนกรกฎาคม

โดยผู้ค้ามองว่าราคาทองคำในตลาดโลกน่าจะมีกรอบราคาสูงสุดอยู่ระหว่าง 1,330-1,340 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของราคาต่ำสุดอยู่ที่ 1,240-1,250 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ สำหรับราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 95.5%) กลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักราคาสูงสุดที่ 20,300-20,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดอยู่ที่ 19,100-19,300 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยทองคำได้จัดทำแบบสำรวจสัดส่วนการซื้อขายทองคำในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาการซื้อขายทองคำเป็นทองคำแท่งประมาณ 59% และเป็นทองคำรูปพรรณประมาณ 41% ขณะในปี 2556 พบว่าสัดส่วนเป็นทองคำเป็นทองคำแท่งประมาณ 65% และเป็นทองคำรูปพรรณประมาณ 35% สะท้อนให้เห็นว่าพฤติกรรมการเลือกซื้อขายทองคำในประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายทองคำรูปพรรณ สำหรับการซื้อขายทองคำในช่องครึ่งแรกของปี 2557 มีสัดส่วนซื้อขายทองคำเป็นทองคำแท่งประมาณ 50% และเป็นทองคำรูปพรรณประมาณ 50% ใกล้เคียงกัน