เตือนภัยโรคใบขาวอ้อย

07 Aug 2014
สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม เตือนภัยโรคใบขาวอ้อย เร่งเจ้าหน้าที่ให้ความรู้การป้องกันกำจัดแนะใช้ท่อนพันธุ์ทนทานปราศจากโรค กำจัดวัชพืชในแปลง พบกอที่เป็นโรคให้เผาทิ้งทำลายทันที

ว่าที่ ร.ต.จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า จากการสำรวจติดตามสถานการณ์โรคและแมลงศัตรูอ้อย พบว่าในพื้นที่อำเภอกสุมพิสัย นาดูนและอำเภอชื่นชม จังหวัดมหาสารคาม กำลังประสบกับปัญหาโรคใบขาวอ้อยแพร่ระบาด สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตอ้อย ในแหล่งปลูกที่สำคัญของจังหวัด ซึ่งสาเหตุโรคใบขาวอ้อย เกิดจากเชื้อ "ไฟโตพลาสมา" ที่ติดมากับท่อนพันธุ์อ้อย ลักษณะอาการโรคใบขาวสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกระยะการเจริญเติบโตของอ้อย โดยอาการจะปรากฎให้เห็นได้ชัดเจนในระยะกล้า อ้อยแตกกอฝอยมีหน่อเล็ก ๆ ที่มีใบสีขาวจำนวนมาก คล้ายกอหญ้า หน่อไม่เจริญเป็นลำ หากอาการโรครุนแรงอ้อยจะแห้งต่ายทั้งกอในที่สุด หากหน่ออ้อยในกอเจริญเป็นลำได้ ลำอ้อยที่ได้จะไม่สมบูรณ์ อาจมีใบขาวที่ปลายยอด หรือมีหน่อขาวเล็ก ๆ งอกจากตาข้างของลำ บางครั้งอาการของโรคจะมีลักษณะแฝง พบเสมอในอ้อยปลูกปีแรก โดยอ้อยเป็นโรคเจริญเติบโตเป็นลำ มีใบสีเขียวคล้ายอ้อยปกติ มีเพียงหน่อขาวเล็กๆ ที่โคนกอ แต่อาการโรคจะปรากฎให้ห็นได้ชัดเจนในอ้อยตอในระยะเวลาต่อมา การแพร่ระบาด โรคใบขาวของอ้อยแพร่ระบาดโดยมีเชื้อติดไปกับท่อนพันธุ์อ้อย นอกจากนั้นยังมีเพลี้ยจักจั่นสีน้ำตาลเป็นแมลงพาหะถ่ายทอดเชื้อจากอ้อยที่เป็นโรคไปยังอ้อยปกติ

เกษตรจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยต่อไปว่า การป้องกันโรคใบขาวอ้อยสามารถทำได้ทั้งก่อนและหลังเก็บเกี่ยว อาทิ ควรตรวจแปลงอ้อยอย่างสม่ำเสมอทุก 7 หรือ 15 วัน ในแปลงที่เริ่มพบกอที่เป็นโรคให้รีบขุดทิ้งทำลาย หรือพ่นกอที่เป็นโรคด้วยสารกำจัด วัชพืชไกลโฟเสท 1% การเตรียมพันธุ์ปลูกควรใช้ท่อนพันธุ์ที่สมบูรณ์ ปลอดโรค แช่ท่อนพันธุ์ด้วยน้ำร้อน 52 องศาเซลเซียส 2 ชั่วโมงก่อนปลูก แปลงพันธุ์ควรห่างจากพื้นที่การระบาด หลังจากปลูกแล้วควรหมั่นกำจัดวัชพืชทั้งในและรอบแปลงอ้อยที่เป็นแหล่งอาศัยของแมลงพาหะ คือเพลี้ยจักจั่นสีน้ำตาล ส่วนการป้องกันกำจัดหลังเก็บเกี่ยว ให้ไถทำลายแปลงอ้อยตอที่เป็นโรครุนแรงทิ้งเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งระบาดของเชื้อต่อไป คราดตอเก่าออกให้หมด ปลูกพืชบำรุงดินหมุนเวียน และไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดก่อนปลูกอ้อยใหม่ รวมทั้งเลือกฤดูกาลปลูกที่เหมาะสม ซึ่งอยู่ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อลดการติดเชื้อจากแมลงพาหะที่ระบาดในช่วงฤดูฝน สิ่งสำคัญคือ เกษตรกรต้องร่วมมือกันกำจัดโรคใบขาวอ้อยอย่างต่อเนื่องตลอดฤดูการผลิตและต่อเนื่องไปทุกฤดู เกษตรกรที่มีปัญหาด้านการเกษตรหรือต้องการทราบข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตร ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารทางราชการ ตั้งอยู่ที่ชั้น ๒ อาคารสำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคามหมายเลขโทรศัพท์ ๐๔๓-๗๗๗๑๓๗ และสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน หรือขอคำปรึกษาโดยตรงกับเกษตรจังหวัดมหาสารคาม โทรศัพท์หมายเลข ๐๘๑-๗๙๐๕๒๕๖ และหมายเลข ๐๘๘-๕๔๙๗๙๔๔