บทสัมภาษณ์ “นก-สินจัย เปล่งพานิช” หวนร่วมงานหม่อมน้อยอีกครั้งในรอบ 17 ปี กับบท “คุณหญิงทองคำเปลว” เศรษฐีนีม่ายผู้มั่งคั่งผู้ที่มาเปลี่ยนวิถีชีวิตของเรียมใน “แผลเก่า”

03 Aug 2014
บทบาท-คาแร็คเตอร์

บทของ “คุณหญิงทองคำเปลว” ในเรื่อง “แผลเก่า” ก็จะมีคาแร็คเตอร์ที่ค่อนข้างเป็นอีกหนึ่งคนที่พี่น้อย (หม่อมน้อย) มองว่าเป็นคนที่มีแผลเหมือนกัน มีความเป็นมาในชีวิต มีลูกสาวคนหนึ่งแล้วก็เสียชีวิตไป ไม่พูดถึงสาเหตุ แล้ววันหนึ่งก็ได้มาพบกับ “เรียม” แล้วก็มีหน้าตาคล้ายลูกสาวตัวเอง ก็เลยเกิดความคาดหวังแล้วก็หลงรัก ต้องการที่จะดูแลเค้า ทำทุกอย่างให้เค้าเป็นเหมือนลูกสาวคนหนึ่ง สร้างเค้าขึ้นมาใหม่

ตัวคุณหญิงเข้าไปเกี่ยวข้องกับความรักของขวัญ-เรียมได้อย่างไร

ที่ไปเกี่ยวข้องกันกับเรื่องราวความรักของขวัญกับเรียม คือจริงๆ แล้วคุณหญิงน่าจะเกี่ยวข้องกับเรียมมากกว่า คือเรียมถูกนำมาขายกับคุณหญิงทองคำเปลว เพราะว่ากำนันเรืองเป็นลูกหนี้อยู่ เหมือนเอามาขัดดอก ตอนนี้ด้วยความที่เรียมหน้าเหมือนลูกสาวตัวเองก็เลยหมายมั่นอยากจะให้ลูกสาวตัวเองกลับมามีชีวิต คาดหวังทุกอย่าง กำหนดกฎเกณฑ์ทุกอย่าง สร้างเค้าทุกอย่างโดยที่ไม่ได้ถามความสมัครใจของเค้า จนวันหนึ่งพาเค้ากลับไปบ้านที่บางกะปิ แล้วก็ทำให้เรียมรู้ว่าจริงๆ แล้วตัวเองเหมาะกับที่นี่มากกว่า ตัวเองมีคนรักอยู่ เค้าต้องการที่จะกลับไปใข้ชีวิตแบบนั้น คุณหญิงเองก็คงรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อมันมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นในชีวิตของเรียม ในเวอร์ชั่นนี้หม่อมน้อยก็อยากปูให้เหมือนกับว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรื่องราวความรักของคนทั้งคู่ ทุกคนมีส่วนผิด ดังนั้นคุณหญิงเองก็รู้สึกว่าตัวเองมีส่วนผิดที่ทำให้เกิดเรื่องราวโศกนาฏกรรมครั้งนี้ขึ้นมา ก็เลยสร้างรอยแผลให้กับตนเองและคนอื่นๆ ด้วย

ความรู้สึกส่วนตัวต่อตัวละครตัวนี้

ถ้าถามโดยส่วนตัวแล้ว เราก็รู้สึกว่าคุณหญิงเองก็เป็นเจ้าข้าวเจ้าของคนอื่นมากเกินไป ด้วยเหตุนี้หรือเปล่าที่ทำให้เค้าเสียลูกสาวไป เพราะฉะนั้นการที่มีใครซักคนเข้ามาในชีวิตแล้วก็หมายมั่นปั้นมือ พยายามที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้เค้ากลับมาเป็นสิ่งที่ตัวเองรัก สิ่งที่ตัวเองหวัง จริงๆแล้วมันไม่ใช่เรื่องที่ถูกเลย ไม่เคยถามความสมัครใจเค้าว่าเค้าอยากได้ อยากมี อยากเป็นแบบที่ตัวเองต้องการหรือเปล่า นั่นมันก็คือเหมือนเป็นการทำลายชีวิตคนๆ หนึ่งเหมือนกัน แล้วก็ทำลายตัวเองนั่นแหละ ทำลายศรัทธา ทำลายความรู้สึกดีๆ ที่ตัวเองให้ สิ่งที่ให้คือการให้ที่ไม่ได้สมัครใจ คือการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ คือถ้าเป็นความรักก็คงเป็นความรักที่เห็นแก่ตัวเกินไป

พี่นกกลับมาร่วมงานกับหม่อมน้อยอีกครั้งในรอบ 17 ปี ครั้งนี้เป็นยังไงบ้าง

ก็เหมือนกลับมาหาอาจารย์ แล้วมันเหมือนกับว่าเราก็โตขึ้น โตจากพี่น้อยนี่แหละค่ะ เติบโตมากับวงการนี้จนกระทั่งวันหนึ่งได้กลับมาทำงานกับพี่น้อยอีก ความรู้สึกจริงๆ โดยรวมแล้วก็เหมือนเดิมนะคะ คือเหมือนที่เวลาพี่น้อยสอน เวลาที่พี่น้อยบอก ไม่ว่าจะบอกกับดารานักแสดงคนอื่นเรื่องเดียวกัน หรือว่าบอกกับเรา ก็เหมือนเรายังเป็นนักเรียนวันเก่าๆ อยู่ พี่น้อยก็จะบอกอย่างนี้ จะบอกอารมณ์ จะบอกที่มาที่ไป แล้วก็ความตื้นลึกหนาบางของตัวละคร ซึ่งยังเหมือนเดิม ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่าเหมือนได้กลับเข้าไปโรงเรียนใหม่ มาทบทวนกันใหม่ เราทำงานมานานๆ มันก็ชินเหมือนกับอัตโนมัติ แต่การที่กลับมากับพี่น้อยก็ต้องเริ่มต้นใหม่นะ ต้องตีความใหม่ ต้องรู้สึกกับตัวละครนี้จริงๆ ต้องรู้จักมันจริงๆ คนรอบข้างจริงๆ เหมือนได้กลับมาโรงเรียน ได้มาชาร์จแบตอีกครั้ง

การทำงานของหม่อมน้อยยังละเอียดละอออยู่เหมือนเดิม

เหมือนเดิมเลยทุกอย่าง ทั้งระเบียบวินัยในกองถ่าย การตรงต่อเวลา การทำงานเป็นขั้นเป็นตอนทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม จนบางทีเรารู้สึกว่าพี่น้อยอย่าระเบียบมากเลย เราแบบแก่ๆ กันแล้ว ไม่ต้องเยอะมาก สงสารเด็ก (หัวเราะ) แต่มานั่งคิดอีกทีว่า ตอนนั้นพี่น้อยก็ทำแบบนี้ มันก็เหมือนกับว่าเราโตมากับระเบียบแบบนี้ ทำให้เรามีวินัย จริงๆ แล้วมันก็เป็นเรื่องที่ดี แต่พอเราโตมาแล้วไม่ต้องเครียดมากพี่น้อย ไม่ต้องซีเรียสขนาดนั้น ไม่ต้องเป๊ะขนาดนี้ก็ได้ โอเค แต่มานึกในมุมของเด็กๆ อีกหลายคนที่เหมือนเพิ่งเริ่มต้น บางคนก็เพิ่งมาเล่นหนังเรื่องแรก ก็ดีแล้วที่พี่น้อยมีระเบียบวินัยแบบนี้ ทำให้สร้างบุคลากรที่ดีต่อไปด้วย

ในส่วนของพี่นกได้ร่วมงานกับ “ใหม่ ดาวิกา” เรื่องแรกเป็นยังไงบ้าง

ตอนนี้หลงรักน้องใหม่ไปแล้ว อาจจะด้วยคาแร็คเตอร์ของตัวละครด้วย แต่ว่าก็รู้สึกชื่นชมเค้า จริงๆ แล้วชื่นชมเค้าจากผลงานอื่นๆ แบบดูเค้าเล่นละครมาก่อนหน้านี้แล้ว ชื่นชมที่เค้าเล่นนางนากพี่มากนะคะ ก็เลยมีความรู้สึกว่าเด็กคนนี้เล่นอะไรลึกๆ ได้ดี แล้วรู้สึกดีมากที่พี่น้อยเลือกใหม่มาเล่นเรื่องนี้ พอได้เห็นการแสดงเค้าแล้วเลยรู้สึกว่าเป็นนักแสดงรุ่นใหม่ที่มาถูกทางมาก รู้สึกว่าโชคดีที่พี่น้อยได้นำเค้ามา เค้ามีอะไรอยู่ในตัวค่อนข้างเยอะ แล้วเล่นอะไรที่แสดงความรู้สึกลึกๆ ได้ค่อนข้างดี แสดงออกมาได้ธรรมชาติแต่ได้ความรู้สึกหมดเลย ร่วมงานกับเค้าแล้วรู้สึกแฮปปี้ เหมือนได้ทำงานกับนักแสดงเก่งๆ อีกคนหนึ่ง แม้จะเป็นเด็กรุ่นใหม่ก็ตาม เรารู้สึกดีใจจังเลย อยากเห็นนักแสดงเก่งๆ แบบนี้เยอะๆ

งานสร้างโดยรวมของเรื่องนี้

ก็ตระการตาตามสไตล์หม่อม คือรู้เลยว่ามุมกล้องพี่น้อยต้องสวยมาก แล้วมันก็สวยอย่างงั้นจริงๆ เปิดตัวละครทุกคนทุกอย่าง พี่น้อยจะให้ความสำคัญกับตัวละครทุกตัว หลายคนมารับเชิญมาแค่ฉากนั้น ทั้งที่ไม่ได้พูดแค่ยืน แต่พี่น้อยก็จะบอกเล่าที่มาที่ไปของตัวละครว่าคุณมีความสำคัญอย่างไร คุณกำลังทำอะไรอยู่ ฉันต้องการอะไร คุณจะต้องแสดงอะไรออกมา นี่คือสิ่งที่เรารู้สึกว่าน้อยคน น้อยผู้กำกับที่จะให้ความสำคัญกับทุกๆ อย่าง ทุกๆ คน ทุกๆ ตัวละคร วันแรกที่เข้ามา รู้สึกดีใจจังเลยยังมีงานแบบนี้ งานดีๆ แบบนี้ให้เราทำอยู่

อย่างฉากงานฉลองรัฐธรรมนูญ เป็นฉากที่พาเรียมออกไปเปิดตัวสู่สังคม เราก็มีความรู้สึกว่ามันมีความยิ่งใหญ่ของตัวมันเอง ฉากนี้ก็จะบอกเล่าประวัติศาสตร์ของประเทศด้วย เรื่องของวัฒนธรรมอะไรต่างๆ อย่างนี้ มันเห็นสังคมในยุคหนึ่ง แล้วพี่น้อยก็ให้รายละเอียดอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งเรารู้สึกว่าดีจัง รู้สึกว่าเป็นฉากที่ยิ่งใหญ่อีกฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้

รวมทั้งโลเกชั่นของหนังด้วย

ดูขยันหาที่มากค่ะ เข้ามาลึกๆ ดูไม่น่าจะมีอะไร การถ่ายทำต่างๆ มันได้อารมณ์ มันได้ความรู้สึกที่เหมือนไม่มีใครมายุ่งกับเรา เราอยู่ในโลกนี้จริงๆ แล้วก็เป็นบรรยากาศของเรื่องนี้จริงๆ ทั้งการแต่งตัว ทั้งอารมณ์ทุกอย่างในตัวละคร ซึ่งรู้สึกได้ว่าการใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ มันช่วยทำให้การแสดงมันเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น เราสามารถที่จะได้เห็นคาแร็คเตอร์ของตัวเอง คาแร็คเตอร์ของคนอื่น บรรยากาศทุกอย่างที่ช่วยให้ตัวละครมันเกิดได้อย่างชัดเจน อย่างที่เราไปถ่ายทำกันที่สุพรรณบุรี เป็นฉากที่พาเรียมไปทุ่งบางกะปิ กลับไปแล้วก็กลับมา หลากหลายอารมณ์ แต่ทุกการเดินทางมันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

มีฉากหนึ่งที่พี่นกก็ช่วยกำกับด้วย

คือมันเป็นฉากในเรือ พี่น้อยก็บอกแล้วว่า กล้องจะตั้งอยู่ไกลมากจากต้นน้ำ แล้วเรือก็จะล่องไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นไม่สามารถที่จะมีทีมงานอยู่บนเรือได้ เพราะจะมีแต่ตัวละครเท่านั้น พี่ไม่สามารถจะให้ใครรับผิดชอบได้นอกจากเธอ คือเราก็ดูแลทุกอย่างในเรือให้เรียบร้อย ฟังวอ สั่ง อะไรยังไงมีอะไรพูดผ่านวอ ก็สนุกมาก รู้สึกตื่นเต้นมีความรับผิดชอบสูง คอยสั่งว่าเรือยังไง คอยบอกคนขับเรือ วอบอกว่าตอนนี้อยู่ตรงไหนแล้ว ถึงตรงไหนแล้ว มันจะเป็นอย่างงี้นะคะ เรากำลังจะกลับลำแล้วนะคะ เรากลับลำไม่ได้ค่ะ เรือติด ด้วยความที่ตรงต้นทางมันแคบ เรือใหญ่พอกลับลำปุ๊บหางเสือมันก็จะไปติด ใบพัดมันก็ติด มันก็นิ่งเลยฟรี ทุกอย่างฟรีหมด แล้วสตาร์ตไม่ได้ เราก็วอ เราก็ไม่รู้ว่ามันอยู่ไกลแค่ไหน เราก็นึกว่าโค้งน้ำ เอ๊ะวอไปเค้าก็ไม่ตอบ เราก็พยายามทำ ก็เดินได้ วอก็อยู่ไหน เรืออยู่ตรงไหน เราก็อยู่ตรงนี้ก็ไม่เห็นกล้อง อยู่ไหน มันก็สนุกดี มันก็ทำให้เราลุ้นว่ากล้องอยู่ไหน เอายังไงกันดี เราก็คอยบอกเค้าด้วย บางทีก็เป็นคอนทินิว ซึ่งก่อนหน้านี้เราถ่ายไปแล้ว แล้วมันก็มีการแบบว่าจำมาร์คไม่ได้ว่าของมันอยู่ตรงไหนกันแน่ แล้วบังเอิญเป็นความโชคดีของนักแสดง เราถ่ายรูปเก็บไว้ เราก็เลยเช็คคอนทินิวว่าเห็นมั้ยดอกไม้ผิด เราต้องวางอย่างงี้ๆ นะ เราก็เลยแฮปปี้มากว่าเราเป็นคนคอนทินิวด้วยว่าของอยู่ตรงไหน สนุกดีค่ะ ในเรือก็สนุกสนานกันใหญ่เลย

ฉากดราม่าระหว่างเรียมกับคุณหญิง

ซีนนี้จริงๆ แล้วมันก็เหมือนเป็นฉากสำคัญมาก ทำให้เราเห็นตัวเองจากมุมของคนอื่นมากขึ้น การที่คุณบังคับจิตใจใคร การเป็นเจ้าข้าวเจ้าของคุณมันได้ทำร้ายใครบ้าง ไม่มีใครพูดความจริงจนกระทั่งเรียมเป็นผู้หญิงคนแรกที่พูดสิ่งนั้นออกมา พูดอย่างเคารพนะคะ แต่มันทำให้คุณหญิงรู้สึกว่าถูกตอกกลับ แต่ถามว่าคุณหญิงเกลียดเรียมมั้ย นกว่าไม่ใช่ เพียงแต่รู้สึกเหมือนรับความจริงไม่ได้ แล้วก็รู้สึกคาดหวังว่าจะเหนี่ยวรั้งเรียมเอาไว้กับตัวเองได้ เพราะคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว เค้าควรจะภูมิใจ เค้าควรจะมีความสุขกับสิ่งที่เราทำแต่ว่าเปล่า เค้าเลือกที่กลับมาอยู่ตรงนี้ เค้าเลือกที่จะทุ่งบางกะปิมากกว่า เรารู้สึกว่ามันเป็นอีกซีนหนึ่งที่มันบอกเรื่องราวได้หมดเลย เรารู้สึกว่าซีนนั้นตอนแรกคิดว่ามันน่าจะยากเพราะมันเป็นดราม่า ร้องไห้เยอะมาก แล้วมันอยู่กลางทุ่ง ร้อนก็ร้อน แต่พี่น้อยก็อธิบายกระจ่างและเค้าจะมีเวิร์คช็อปนักแสดงก่อนอยู่แล้ว นักแสดงจะรู้ที่มาที่ไปของเรื่อง รู้อยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วสิ่งที่กำลังจะพูดคืออะไร มันก็ง่ายกับการแสดงค่ะ กี่เทคก็ทำได้ แต่ถามว่าเหนื่อยมั้ยก็เหนื่อย ก็พยายามให้ความสำคัญกับซีนนี้ ไม่ให้มากเกินไปไม่ให้มันน้อยเกินไป

การซ้อมมีส่วนช่วยตอนถ่ายทำได้มาก

ใช่ เร็วกว่า คือบางคนจะบอกทำไมต้องมาซ้อมเยอะ ทำไมต้องมาอ่านบท หลายคนจะไม่เข้าใจ จะไม่ค่อยแฮปปี้ เด็กใหม่ๆ จะไม่ค่อยชอบ เพราะว่าที่อื่นเค้าไม่ทำกัน แจกบทไปแล้วก็ท่องบทมา พี่น้อยต้องการที่จะเมื่อถึงเวลาทำงานคุณจะทำงานได้เลย แล้วทุกอย่างก็จะเซฟมาก เซฟเวลา เซฟพลังงาน คุณทำได้เลย การแสดงมันจะดีกว่า เพราะว่าเรารู้อยู่แล้ว เราไม่ได้ท่องบทมาอย่างเดียว เราเป็นตัวละครมาเลย ซึ่งตรงนี้คือข้อดีมากๆ ค่ะ

ฉากร้องเพลงกับฉากงานหมั้น

นกว่ามันเหมือนเป็นสัญลักษณ์ของพี่น้อย พี่น้อยทุกเรื่องก็จะมีเพลงเพราะๆ อยู่ในฉาก ซึ่งตรงนี้ก็เหมือนเป็นลายเส้นของพี่น้อยว่าทุกเรื่องจะต้องมีฉากอะไรแบบนี้ นี่ก็เป็นอีกฉากหนึ่งที่น่าจะสวยงาม เป็นฉากที่บอกความแตกต่างของคนทุ่งบางกะปิกับคนเมืองได้ชัดเจน สังคมที่ทำให้เรียมตัดสินใจว่าฉันกลับมาเป็นฉันดีกว่า ซึ่งตรงนี้จะเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ ในขณะเดียวกันก็จะเป็นการตัดขาดจากโลกตรงนี้ของเรียมได้อย่างชัดเจนดีเหมือนกัน

เสน่ห์และความน่าสนใจโดยรวม

คิดว่าเป็นโปรดักชั่นของพี่น้อย ด้วยความเป็นพี่น้อยก็จะมีรายละเอียดหลายๆ อย่างที่เราได้เห็น คือนานๆ เราจะได้เห็นท้องทุ่ง นาข้าว ควาย บรรยากาศที่สวยงาม คือเราไม่ค่อยเห็นในหนังไทยมานานแล้ว เราเห็นความสมัยใหม่ เราเห็นอะไรนู่นนี่มากมาย เราไม่ได้เห็นความเป็นธรรมชาติของบ้านเรา ประเทศเรา ตรง “แผลเก่า” เรื่องนี้จะได้เห็น แค่เห็นทุ่งนา นกว่ามันมีความสุขแล้ว มันโล่ง มันสวย เห็นแล้วรู้สึกดี เราได้เห็นชีวิตชาวบ้าน นกมีความรู้สึกว่าอันนี้มันเป็นบรรยากาศที่หายไปนานแล้วสำหรับหนังไทย หนังไทยที่เป็นหนังไทย ก็เลยรู้สึกว่าโปรดักชั่นเรื่องนี้สวยงาม น่าติดตาม รายละเอียดต่างๆ ก็มีอยู่ในนั้นอยู่แล้ว ทั้งเสื้อผ้า ทั้งฉาก ทั้งแสง แล้วก็มุมกล้องต่างๆ และการแสดงที่โดดเด่นสำหรับแผลเก่าเวอร์ชั่นนี้ รวมถึงเรื่องราวของความรัก นกว่ามันยังเป็นอมตะอยู่เสมอ ความคิดของคนหนุ่มสาวไม่ว่าจะยุคสมัยใด ถ้าเรามีศรัทธา มีการบูชาในความรักที่มั่นคงต่อกัน มันก็ยังคงอยู่ตลอดไป เพียงแต่ว่าพอวันเวลาผ่านไป เราก็อาจจะเอาบทเรียนเหล่านั้นมาบอกตัวเองว่า ความรักแบบไหนที่มันดีที่สุด มันเหมาะสมที่สุด และจะทำให้ทุกคนมีความสุขที่สุด นกว่าตรงนี้น่าจะตอบโจทย์สำหรับ “แผลเก่า” พ.ศ.นี้ได้ค่ะ