นางสาวศศิธร กู้พัฒนากุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด เปิดเผยว่า โครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 จนถึงขณะนี้เข้าสู่ปีที่ 2แล้ว โดยปัจจุบันมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 25 แห่ง แบ่งเป็นโรงเรียนนำร่อง ในปีที่ 1 จำนวน 10 แห่ง และโรงเรียนต้นแบบในปีที่ 2 จำนวน 15 แห่ง และตั้งเป้าที่จะขยายสู่โรงเรียน 40 แห่ง ภายในปี 2558
โครงการนี้ฯเป็นความพยายามของซัมซุง โดยความสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีของซัมซุงไปสนับสนุนการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้กับผู้เรียนพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีต่อสังคม เศรษฐกิจ การทำธุรกิจ การใช้ชีวิตในอนาคต และถือเป็นครั้งแรกที่ซัมซุง ได้นำกรอบความคิด การพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ในระดับสากล รวมถึงนวัตกรรมของซัมซุง มาพัฒนาเป็นต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคตในบริบทของสังคมไทย
การสร้างต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคตของซัมซุง จึงเป็นมากกว่าการสร้างห้องเรียน แต่มีกระบวนการตั้งแต่การสร้างสภาพแวดล้อมใหม่และให้เกิดการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม ด้วยการจัดสร้าง Samsung Smart Learning Center ในโรงเรียน พร้อมให้การสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้แบบ Problem Based Learning กับผู้บริหาร ครู และนักเรียน ก่อนที่เด็กและครูจะได้เรียนรู้ร่วมกันจากการทำโครงการแก้ปัญหาสังคมของเด็กๆ และสื่อสารการค้นพบผ่านการเล่าเรื่องด้วยสื่อดิจิตอล (Digital Storytelling)
ทั้งนี้ ยังมีการสร้างความยั่งยืนให้โครงการ อาทิ โรงเรียนบ้าน-หมี่วิทยาคม จ.ลพบุรี หนึ่งในต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคต ได้นำแนวทางไปบูรณาการในวิชาวิทยาศาสตร์, โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จ.ขอนแก่น ที่นำกระบวนการและสื่อดิจิตอล ไปพัฒนาต้นแบบการเรียนรู้ในเด็กคละชั้นเรียน ซึ่งเป็นเด็กที่มีการเรียนรู้ช้ากว่าปกติ และโรงเรียนอนุบาลบ้านบางละมุง จ.ชลบุรี นำไปใช้ในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ที่สามารถช่วยให้เด็กที่มีทักษะการอ่านออกเขียนได้ต่ำกลับมาสนใจการเรียนรู้ เป็นต้น
ผลจากการดำเนินโครงการ พบว่าทักษะสำคัญที่ได้รับการพัฒนา 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. การคิดริเริ่มและสานงานต่อ 2. ทักษะสังคม 3. การบริหารเวลาและความรับผิดชอบในงาน ส่วนผลที่เกิดขึ้นกับครูพบว่ามีความเข้าใจกับการเรียนการสอนในกระบวนทัศน์ใหม่ ในฐานะที่ปรึกษาและเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็กมากขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินโครงการในปีที่ 1 มีเด็กที่ได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการกว่า 13,761 คน คาดว่าในปีที่ 2 จะมีเพิ่มขึ้นอีก 25,877 คน โดยโครงการนี้ตั้งเป้าจะสร้างประโยชน์ให้เด็กจากการใช้ห้องเรียนแห่งอนาคตถึง 50,000 คน ภายใน 3 ปี
นางสาวศศิธร กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังได้เข้าพบ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อประสานความร่วมมือด้านการพัฒนาการศึกษาไทย และได้แจ้งว่าซัมซุง พร้อมที่จะแชร์ความรู้ทางการศึกษาเพื่อประโยชน์กับเยาวชนในโครงการสมาร์ทคลาสรูม ที่สพฐ.กำลังเริ่มดำเนินการอยู่ โดยได้เล่าให้สพฐ.ฟังถึงโครงการ Samsung Smart Learning Center ในปีที่ 1 และกำลังเข้าสู่ปีที่ 2 ซึ่งประสบความสำเร็จ สามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบได้ อย่างไรก็ตาม โครงการด้าน CSR ของซัมซุงจะแยกจากงานด้านธุรกิจ ซึ่งฝ่ายการตลาดของซัมซุง ก็มีลูกค้าที่เป็นโรงเรียนชื่อดังที่ได้สั่งซื้อสินค้าจากซัมซุง อาทิ โรงเรียนอัสสัมชัญและเซนต์โดมินิค ซึ่งมีการทำการตลาดด้านนี้อยู่แล้ว
ด้าน ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวในการเสวนา “ห้องเรียนแห่งอนาคตเพื่อการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21” ว่า ปัจจุบันงบประมาณด้านการศึกษาไทยสูงถึง 5 แสนล้านบาท คิดเป็น 21% ของงบประมาณทั้งหมดในปี 2557 ซึ่งถือเป็นวงเงินที่สูงมาก ดังนั้น ปัญหาของการศึกษาไทยไม่ใช่เรื่องการขาดแคลนงบประมาณ แต่เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ เพราะระบบราชการปัจจุบันเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าทำแบบ "รองเท้าเบอร์เดียว" คือทำเหมือนกันหมด ใช้ระเบียบเดียวกันแก้ปัญหาทุกอย่าง ดังนั้น เมื่อซัมซุงริเริ่มโครงการSamsung Smart Learning Center นี้ขึ้นมา ถือเป็นหนึ่งในวิธีการจัดการความรู้ทั้งในระดับโรงเรียนและพื้นที่ และต่อไปในปี 3หรือปี 4 อยากเห็นโรงเรียนในโครงการนี้ ทำงานร่วมกับชุมชน อาจเกิดระบบโรงเรียนพี่โรงเรียนน้องเป็นเครือข่ายมากขึ้น
“โครงการSamsung Smart Learning Center กระตุ้นให้เกิดความน่าสนใจและตรงกับความต้องการของเด็กๆ ไม่ใช่เพียงการโยนเครื่องมือไอทีเข้าไป แต่ยังนำวิธีคิด สร้างแรงบันดาลใจและดึงดูดให้เด็กให้เข้ามาศึกษาค้นคว้า ซึ่งโครงการฯของซัมซุง ถือว่าเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้และเป็นตัวอย่างของการปฏิรูปการศึกษาที่ดีมาก"
ดร.อมรวิชช์ กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษามีความพยายามมานานแล้ว แต่สิ่งที่ยังทำไม่สำเร็จคือการให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเอง คิดเองเป็น เรียกว่าเป็น Smart Learner ส่วนครูและผู้ใหญ่ต้องเป็นนักจัดการการเรียนรู้ หรือ Smart Teacher ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง แต่รู้วิธีการหรือวิธีที่จะหาคำตอบอย่างไรให้เด็กเชื่อถือ ส่วนที่ยังทำไม่ได้คือระบบการจัดการการศึกษา Smart Management"การวัดผลต้องไปให้ถึงในสิ่งที่เรียกว่า การวัดผลที่ไม่ใช่การสอบ แต่เป็นการวัดผลด้วยศักยภาพ เพราะการสอบก็จะมีแต่ลูกคนมีเงินเท่านั้นที่ได้เปรียบ ตรงนี้เป็นการสร้างความหลื่อมล้ำในสังคมอีกด้วย"
น.ส.เรณุมาศ ภักดีโต ครู ICT จากบ้านเข็กน้อย จังหวัดเพชรบูรณ์ หนึ่งในครูที่ปรึกษาโครงการ Samsung Smart Learning Center กล่าวว่า โรงเรียนบ้านเข็กน้อย เป็นโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลจากในเมืองมาก นักเรียนส่วนใหญ่ก็เป็นชาวเขาเผ่าม้ง การพัฒนาด้านต่างๆลำบากและขาดแคลนเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยี แต่เมื่อทางซัมซุงได้จุดประกายโครงการ Samsung Smart Learning Center ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เด็กๆและโรงเรียนได้รับอุปกรณ์และเริ่มกระบวนการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ทางผู้บริหารโรงเรียนก็ให้การสนับสนุน เพื่อพัฒนาสู่การศึกษาในศตวรรษที่ 21
น.ส.เรณุมาศ กล่าวว่า เด็กๆที่ร่วมโครงการนี้มีพัฒนาการที่ชัดเจนคือสามารถคิด ค้นคว้า และสร้างสรรค์การทำงานร่วมกัน มีการทำโปรเจกต์ทั้งในและนอกห้องเรียน ลงพื้นที่ร่วมพูดคุยกับชาวบ้านหาข้อมูลและถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราว เกิดความตื่นตัวในการเรียนรู้และหลายคนค้นพบว่าตัวเองชอบอะไร ถือว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆที่มากกว่าความรู้ตามปกติ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit