หวั่นเอื้อรายใหญ่! สเปคร้านค้าแลกกล่องดิจิตอลทุนจดทะเบียนสองร้อยล้าน กสทช.ติง ไม่ใช่ประมูลกล่อง ที่สกรีนบริษัทเหลือน้อยราย

04 Aug 2014
ตามมติที่ประชุม กสทช. วาระพิเศษ วันพุธ ที่ 30 ก.ค. 57 มีมติเห็นชอบต่อหนังสือที่จะเสนอคณะรักษาความ สงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการโครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล โดยมีเนื้อหาสำคัญ การนำคูปองไปใช้แลกซื้อเครื่องและอุปกรณ์รับสัญญาณโทรทัศน์ดิจิตอล จำนวนครัวเรือนที่จะสนับสนุน วิธีการแจกคูปอง การจัดพิมพ์คูปอง และให้สำนักงาน กสทช. นำหนังสือดังกล่าวเสนอ คสช. ผ่าน คตร. เพื่อพิจารณาต่อไปนั้น นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยกรณี คุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าร่วมโครงการคูปองแลกซื้อกล่องรับทีวีดิจิตอลที่ยังไม่ได้ข้อสรุปในที่ประชุม เพราะข้อเสนอจากสำนักงาน ได้กำหนดขอบเขตเงื่อนไขและคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการฯ(ร้านค้า) ของเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคที่อาจมีความเสี่ยง รวมทั้งการไม่ได้ส่งวาระเอกสารให้กรรมการอ่านก่อนล่วงหน้า จนได้มาเห็นเอกสารและพิจารณาในห้องประชุมเลย

นางสาวสุภิญญา กล่าวถึงข้อเสนอในการกำหนดคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าร่วมโครงการคูปอง ต้องมีทุนจดทะเบียนถึง 250ล้านบาทในระดับชาติ และ100 ล้านบาทในระดับจังหวัด ซึ่งความเห็นบอร์ดส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ เพราะมีความเสี่ยงที่จะเป็นการ “ล็อกสเปค” เอื้อรายใหญ่มากเกินไป กรรมการจึงได้เสนอให้สำนักงาน ไปคิด ทบทวน ไตร่ตรอง ก่อนกลับมาเสนอใหม่ ไม่เสี่ยงต้องไป ปปช. กันหมด ซึ่งขณะนี้ มีกว่า 70 บริษัท ที่ผ่านขออนุญาตผ่านมาตรฐานทางเทคนิคขายกล่องจาก กสทช. ที่มีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 5 ล้านขึ้นไป ซึ่งการกำหนดให้มีทุนจดทะเบียนระดับร้อยๆล้าน อาจทำให้เหลือบริษัทน้อยรายที่จะมีสิทธิ์ ส่วนเงื่อนไขอื่นๆ เช่น ระบบ Call center จุดบริการให้ซ่อม ประกัน เปลี่ยน และมีทุนประกันเพื่อป้องกันการเชิดหนีก่อนโครงการจบอันนี้เห็นด้วย แต่ไม่เห็นด้วยเรื่องไปกำหนดทุนจดทะเบียนสูง

“การแจกคูปอง เพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อสินค้าที่เขาพอใจ ที่ไม่ใช่การประมูลเพื่อแจกกล่องที่ต้องสกรีนบริษัทให้เหลือน้อยราย ซึ่งการกำหนดบริการอื่นๆหลังการขายถือเป็นการสกรีนรายเล็กๆออกจากระบบอยู่แล้ว การไปกำหนดทุนจดทะเบียนสูงเกินเหตุ มันดูเหมือนจงใจเอื้อรายใหญ่ กีดกันรายกลางๆ เข้าสู่การแข่งขัน เมื่อมีบริษัทน้อยราย การ 'ฮั้ว' ราคา จะเกิดขึ้นได้ง่าย ราคากล่องจะไม่ถูกลงตามกลไกตลาด การแข่งขันจะไม่เสรีและเป็นธรรม ผู้บริโภคเสียประโยชน์ ส่วนตัวเสนอให้กำหนดเงินประกันตามจำนวนการขายกล่อง ใครขอขายมากก็จ่ายเงินประกันมาก ใครทุนน้อยก็จ่ายน้อย แล้วไปแข่งกันในตลาด เพราะรายเล็กมากๆ ที่เข้าร่วมโครงการคูปองลำบากอยู่แล้ว เพราะต้องมีระบบบริการหลังการขาย แต่ กสทช. ต้องไม่กีดกันรายกลาง รายย่อย รายใหม่ ซึ่งต้องรอข้อเสนอสำนักงานส่งกลับยังกรรมการอีกรอบ ฝากสังคมช่วยจับตาต่อไป” สุภิญญา กล่าว …