เด็กไทยเจ๋ง! คว้าแชมป์สร้างหุ่นโลกที่โมร็อกโก ในเวทีการแข่งขันออกแบบหุ่นยนต์นานาชาติ IDC ROBOCON 2014

01 Aug 2014
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย , บริษัท ปตท . จำกัด (มหาชน) และสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส่งนักศึกษาตัวแทนประเทศไทยที่ชนะเลิศจาก “การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 7 (Robot Design Contest 2014, RDC 2014) ไปเข้าแข่งขันในระดับนานาชาติ รายการ “IDC Robocon 2014” ณ ประเทศโมร็อกโก ระหว่าง 13-26 กรกฎาคม 2557 ร่วมกับเยาวชนตัวแทนจาก ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ จีน สิงคโปร์ อียีปต์ และ โมร็อกโก ในการแข่งขันรอบตัดสินเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในปีนี้มีตัวแทนนักศึกษาจาก 8 ประเทศมาเข้าร่วมการแข่งขันรวมทั้งสิ้น 42 คน โดยมีนักศึกษาตัวแทนประเทศไทยเข้ารวม 4 คน ซึ่งต้องมาคละทีมใหม่ร่วมกับนักศึกษาตัวแทนจากประเทศอื่นๆ จนได้ทีมละ 5-6 คน โดยผลการแข่งขันในปีนี้ปรากฏว่านักศึกษาตัวแทนประเทศไทยสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศครองได้สำเร็จ ได้แก่ นายเจษฎา หมินแดง นักศึกษาปีที่ 2 จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จากทีม RED ร่วมกับตัวแทนเยาวชนจากประเทศ ฝรั่งเศส โมร็อกโก สิงคโปร์ และ ญี่ปุ่น ขณะที่ นายธิติพัทธ์ เพิ่มพัฒน์เดชากุล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 และ นายเมธาวัฒน์ คุณาพิพัฒน์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2
เด็กไทยเจ๋ง! คว้าแชมป์สร้างหุ่นโลกที่โมร็อกโก ในเวทีการแข่งขันออกแบบหุ่นยนต์นานาชาติ IDC ROBOCON 2014

ด้าน รศ.ดร. วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ในฐานะประธานจัดการแข่งขัน กล่าวถึงความสำเร็จในครั้งนี้ว่า “ภูมิใจกับนักศึกษาทุกคนที่มีโอกาสมาร่วมแข่งขันในเวทีนานาชาติ เด็กไทยมีความสามารถและมีทักษะในด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์มากขึ้นและเรียนรู้การทำงานร่วมกันแม้จะต่างชาติต่างภาษาก็ทำผลงานออกมาได้ดี เชื่อว่าเยาวชนเหล่านี้ในอนาคตจะนำความรู้ความสามารถไปช่วยพัฒนาวิชาชีพวิศวกร และพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศเราได้ต่อไป และเพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้และความตื่นตัวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์และอิเลคทรอนิกส์ในวงการศึกษาให้มากขึ้น ตลอดจนถึงการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืน เอ็มเทคร่วมกับจุฬาฯ จึงได้ยื่นเสนอขอเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขัน IDC Robocon 2016 ด้วย”ด้านนายเจษฎา หมินแดง กล่าวว่า ธีมการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นนานาชาติ ในปีนี้ คือ “The Great Harvest” เนื่องจากประเทศโมร็อกโก เป็นประเทศเกษตรกรรม และมีผลไม้หลากหลายชนิดเป็นสินค้าส่งออกขึ้นชื่อของประเทศ ในปีนี้จึงมีธีมการแข่งขันที่เกี่ยวกับการเก็บเกี่ยวผลไม้ และขนส่งผลไม้ รวมถึงแยกชนิดผลไม้แต่ละชนิดเข้าสู่บริเวณจัดเก็บผลไม้ให้ถูกต้อง ในการแข่งขัน ทีมที่เข้าแข่งขันต้องสร้างหุ่นยนต์ 3 ตัว ตัวที่ 1 ใช้เพื่อเก็บเกี่ยวผลไม้จากสวนผลไม้ที่มีต้นไม้หลายชนิดปลูกรวมกันอยู่ ตัวที่ 2 ทำหน้าที่สร้างสะพานเพื่อขนส่งผลไม้จากสวนข้ามแม่น้ำไปที่พื้นที่คัดแยกชนิดผลไม้ ส่วนหุ่นตัวที่ 3 จะทำหน้าที่แยกชนิดผลไม้ที่เก็บมาได้เข้าถังจัดเก็บให้ถูกต้อง

“การแข่งขันในครั้งนี้ นอกจากจะดีใจและภูมิใจที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยได้แล้ว ยังได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ มิตรภาพจากเพื่อนร่วมการแข่งขันจากหลากหลายประเทศ ได้ฝึกความอดทน ตัวผมไม่ค่อยถนัดภาษาอังกฤษ ก็ยังได้พลอยได้ฝึกภาษาอังกฤษไปด้วย ได้เรียนรู้การทำงานแบบทีมเวิร์ก รู้จักการแบ่งหน้าที่การทำงาน” น้องเจษกล่าว

ขณะที่ ผศ.ดร.ชนัตต์ รัตนสุมาวงศ์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนำทีมนักศึกษาตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในครั้งนี้ กล่าวว่า นักศึกษาที่เข้าแข่งได้ผ่านประสบการณ์ในการแข่งขัน Robot Design Contest 2014 (RDC 2014) ซึ่งเป็นการแข่งขันในระดับประเทศมาก่อน ในการแข่งขันนี้ นักศึกษาได้รับการอบรมพื้นฐานด้านต่างๆ จากคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญ ก่อนจะสร้างหุ่นด้วย การผ่านการแข่งขันระดับประเทศทำให้นักศึกษามีประสบการณ์ในการทำงานเป็นทีม มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการสร้างหุ่น มีทักษะในการใช้งานเครื่องมือช่าง และมีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในการสร้างหุ่นจริงเป็นอย่างดี ในการแข่งขัน IDC-Robocon 2014 จึงสามารถทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมทีมต่างชาติได้ดี และประสบความสำเร็จในการแข่งขัน

“ทีมของน้องเจษ สามารถตีโจทย์การแข่งขัน และวางกลยุทธ์ในการแข่งขันได้อย่างเหมาะสม ในปีนี้ คะแนนสำคัญส่วนหนึ่งของการแข่งขันมาจากการสร้างหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่สร้างสะพาน ซึ่งหากสร้างสะพานได้สำเร็จ จะได้คะแนน 200 คะแนน และหากใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งขับเคลื่อนหุ่นยนต์ตัวนี้ด้วย จะได้คะแนนเพิ่มอีก 100 คะแนน สำหรับทีมของน้องเจษให้ความสำคัญกับหุ่นที่สร้างสะพานเป็นอย่างมาก และได้ออกแบบหุ่นให้สามารถปรับตำแหน่งความสูง ให้พอดีกับพื้นที่ที่ต้องเชื่อมต่อสะพานได้เป็นอย่างดี จึงทำให้ทีมของน้องเจษสามารถสร้างสะพานได้สำเร็จทุกครั้ง ผิดกับทีมอื่นๆ ส่วนมากที่มักจะทำคะแนนส่วนนี้ไม่ได้ดี” ผศ.ดร.ชนัตต์ กล่าว

HTML::image( HTML::image( HTML::image(