แพทย์หญิงกรุณา อธิกิจ อายุรแพทย์ทั่วไป โรงพยาบาลปิยะเวท แนะนำว่า สำหรับเชื้อไวรัสอีโบลา ที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ต้องยอมรับว่าทางการแพทย์ยังไม่มียาหรือวัคซีนจำเพาะที่ใช้ป้องกันหรือรักษาโรค
ที่เกิดจากเชื้อไวรัสตัวนี้ได้ ทำได้เพียงการรักษาไปตามอาการเพื่อประคับประคองเท่านั้น ในส่วนของการติดต่อจากคนสู่คน จะติดต่อผ่านทางการสัมผัสหรือสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้ติดเชื้อ อาทิ น้ำลาย น้ำมูก เหงื่อ เลือด สารคัดหลั่งต่าง ๆ ตลอดจนน้ำอสุจิ แต่ยังไม่พบว่าเชื้อไวรัสนี้สามารถติดต่อทางอากาศที่ใช้หายใจร่วมกัน (Airborne) ดังนั้นผู้ที่กำลังกังวลใจเรื่องการโดยสารเครื่องบินร่วมกับผู้ติดเชื้อนั้นโอกาสของการติดเชื้อค่อนข้างต่ำ”
สำหรับประเทศไทยยังไม่พบว่ามีผู้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสนี้ และโอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้ในประเทศไทยค่อนข้างน้อย เพราะโดยส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อจะไม่สามารถเดินทางได้จากสภาพร่างกาย ทำให้โอกาสของการแพร่เชื้อข้ามทวีปมีน้อยลง แต่อย่างไรก็ดีแพทย์ยังได้ให้คำแนะนำเพิ่มสำหรับการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อไวรัสอีโบลา ว่าถึงแม้จะยังไม่พบเชื้อไวรัสนี้ในไทยแต่ก็ไม่ควรประมาท ควรหมั่นดูแลสุขอนามัยให้ดี ล้างมือบ่อย ๆ ควรใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการไปในที่แออัดหากมีความจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง และถ้าพบว่าตนเองมีอาการไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน มีผื่นแดงขึ้นตามตัว ควรรีบมาพบแพทย์โดยด่วนเพื่อการดูแลรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าที่นำเข้าโดยไม่มีการตรวจโรค หรือการประกอบอาหารที่ทำจากสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ และงดการเดินทางไปยังประเทศแอฟริกาตะวันตกที่กำลังมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในช่วงนี้จะดีที่สุด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit