ปัจจุบัน วิทยาการแพทย์สมัยใหม่ ได้ยกระดับการวินิจฉัยและการรักษาอาการหัวใจเต้นผิดปกติให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น ด้วยเทคนิคที่เรียกว่าการศึกษาด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ หรือ Electrophysiology Study (EP Study) โดย นพ. กุลวี เนตรมณี อายุรแพทย์โรคหัวใจ ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยากระแสไฟฟ้าหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะคือการที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ โดยอาจเต้นเร็วหรือช้าเกินไป หรือบางครั้งอาจเต้นแล้วเว้นจังหวะ หัวใจเต้นผิดจังหวะจำแนกได้เป็นหลายชนิด บางชนิดไม่มีอันตราย แต่บางชนิดมีอันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาทันที เช่น หัวใจห้องล่างเต้นรัว (Ventricular Tachycardia) หรือหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) อันเป็นชนิดของหัวใจเต้นผิดปกติที่พบบ่อยที่สุดและจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ตรงจุด โดยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว มักพบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้มีอายุ 75 ปีขึ้นไป นับว่ามีความเสี่ยงมากกว่าคนที่อายุน้อยกว่า 50 ปี ถึง 13 เท่า
“ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดได้จากหลายสาเหตุ มีทั้งที่เป็นโดยกำเนิด หรือบางรายอาจมีปัจจัยบางประการที่ส่งผลให้กายภาพของหัวใจเปลี่ยนแปลงไป อาทิ ภาวะหัวใจวาย ที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง หลอดเลือดหัวใจตีบ ความดันโลหิตสูง ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ รวมถึงการสูญเสียเกลือแร่มากเกินไป ก็อาจเป็นสาเหตุให้ระบบไฟฟ้าของหัวใจผิดปกติได้
“เราสามารถสังเกตอาการของหัวใจเต้นผิดปกติได้หลายวิธี ได้แก่ ภาวะหัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออก มีอาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ดังนั้นเมื่อมีอาการดังกล่าวควรเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์โดยเร็ว ในส่วนของการวินิจฉัย แพทย์จะตรวจดูลักษณะของหัวใจเต้นผิดจังหวะว่ามีอันตรายในระดับใด ด้วยการพิจารณาจากปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่นในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติแล้วมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอร่วมด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่มีโครงสร้างของหัวใจอยู่ในขั้นปกติทุกอย่าง สองกรณีนี้นับว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อชีวิตไม่เท่ากัน การรักษาจึงมีลำดับขั้นตอนและวิธีการแตกต่างกันไป”
การตรวจหาสาเหตุและกำหนดวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับอาการผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์จำเป็นต้องมีข้อมูลที่เชื่อถือได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการบ่งชี้ว่ามีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือผู้มีความเสี่ยงว่าหัวใจอาจหยุดเต้นกะทันหัน ด้วยการตรวจวินิจฉัยจากเทคโนโลยีภาพถ่ายทางการแพทย์ ซอฟต์แวร์ และชิพประมวลผลคอมพิวเตอร์ ร่วมกับความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ของแพทย์ในด้านกลไกการทำงานของหัวใจ อันเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาการศึกษาสรีรวิทยากระแสไฟฟ้าหัวใจ หรือ EP Study“EP Study คือการศึกษา วินิจฉัย และรักษาความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยทีมแพทย์จะติดแผ่นรับสัญญาณไฟฟ้าที่หน้าอกคนไข้เพื่อตรวจดูอัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจ จากนั้นจะสอดสายสวนเข้าไปในร่างกาย แล้วเมื่อสายสวนเข้าไปถึงหัวใจจะส่งสัญญาณไฟฟ้ากลับมา แพทย์อาจทดสอบโดยปล่อยกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นหัวใจ เพื่อเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์หรือทำการทดสอบเพิ่มเติมในกรณีที่จำเป็น
“ข้อมูลเกี่ยวกับกระแสไฟฟ้าหัวใจที่ได้จาก EP Study จะถูกนำมาเชื่อมโยงผ่านซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์แล้วสร้างเป็นภาพสามมิติ เพื่อวินิจฉัยหาตำแหน่งของการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่แม่นยำ แพทย์จึงรักษาที่สาเหตุได้อย่างตรงจุด เพราะภาพกายวิภาคของระบบหัวใจที่สร้างขึ้นผ่านการเชื่อมโยงกระแสไฟฟ้าหัวใจ จะช่วยให้แพทย์มองเห็นกระบวนการเต้นของหัวใจแบบ Real Time ทั้งสามารถหมุนดูภาพได้รอบทิศทาง พร้อมกับบันทึกข้อมูลของกระแสไฟฟ้าหัวใจไปด้วย ดังนั้นเมื่อพบความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าหัวใจที่จุดใดจุดหนึ่งก็จะกำกับตำแหน่งไว้ได้ด้วยรหัสสี จากนั้นจึงปล่อยพลังงานความร้อนจากส่วนปลายของสายสวนเพื่อจี้เนื้อเยื่อที่ผิดปกติ ซึ่งสามารถแก้ไขกระแสไฟฟ้าหัวใจให้กลับเป็นปกติได้ทันที”
EP Study จึงเป็นวิทยาการการแพทย์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการรักษาได้มุ่งไปยังสาเหตุแท้จริงที่ทำให้กระแสไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการ ผู้ป่วยจึงหายขาดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยสิ้นเชิง
“อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการรักษาด้วยวิธี EP Study จะช่วยให้ผู้ป่วยหายขาดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น แต่ EP Study ไม่ได้มีผลในการเปลี่ยนปัจจัยด้านอื่นที่ส่งผลต่อโรคหัวใจของผู้ป่วย เพราะหากผู้ป่วยมีปัญหาเริ่มต้นด้วยภาวะความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ หรือมีพังผืดที่หัวใจ ความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะต้องเผชิญก็ยังคงอยู่ต่อไป ดังนั้น ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาจนหายจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแล้ว แต่การระมัดระวังดูแลตนเองเพื่อควบคุมปัจจัยอื่น ๆ ที่จะส่งผลต่อหัวใจก็ยังคงต้องปฏิบัติต่อไป
“พึงระลึกไว้ว่าภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นอาการที่มีความเสี่ยงจะเกิดขึ้นได้ทุกเวลา จึงไม่ควรปล่อยปละละเลย หลายกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง ก็จะสร้างความเสียหายอย่างถาวรให้กับหัวใจ ดังนั้นเมื่อพบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการบ่งชี้ของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เมื่อนั้นก็ควรพบแพทย์ให้เร็วที่สุด”
ล่าสุด โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดห้องปฏิบัติการสรีรวิทยากระแสไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiology Lab หรือเรียกอย่างสั้นว่า EP Lab) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ด้านหัวใจขั้นสูง สำหรับศึกษา วินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยเฉพาะ นับเป็นการเสริมศักยภาพในการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจให้คลอบคลุมในด้านที่สำคัญ ส่งผลให้โรงพยาบาลฯ สามารถรองรับผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะและโรคหัวใจอื่น ๆ ได้เพิ่มมากขึ้น และครอบคลุมในทุกขั้นตอนตั้งแต่การป้องกัน การตรวจวินิจฉัยในระยะเริ่มต้น การรักษา ตลอดจนถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจในสาขาต่าง ๆ พร้อมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์หลายสาขาที่เกี่ยวข้อง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit