บริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซาก่อตั้งโดยตระกูลจิราธิวัฒน์ในปี 2523 โดยปัจจุบันตระกูลจิราธิวัฒน์ถือหุ้นบริษัทในสัดส่วน 63% บริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหารบริการด่วนในประเทศไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 บริษัทบริหารโรงแรมด้วยจำนวนห้องพัก 8,216 ห้องจากโรงแรม 43 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของไทยและต่างประเทศ 5 ประเทศ บริษัทมีโรงแรมของตนเองทั้งสิ้น 15 แห่ง โดย 1 แห่งเป็นเจ้าของในลักษณะของการร่วมทุน และ 1 แห่งอยู่ภายใต้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ โรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของคิดเป็นสัดส่วน 46% ของจำนวนห้องทั้งหมด โดยในช่วงปลายปี 2555 บริษัทได้ซื้อโรงแรม Centara Grand Island Resort & Spa Maldives และได้เปิดให้บริการโรงแรมที่เกาะมัลดีฟส์แห่งที่ 2 ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ 4 ดาวในเดือนมีนาคม 2556 คือโรงแรม Centara Ras Fusi Resort & Spa ปัจจุบันบริษัทให้บริการโรงแรมจำนวน 250 ห้องในประเทศมัลดีฟส์ โดยบริหารงานโรงแรมภายใต้แบรนด์ “เซ็นทารา แกรนด์” “เซ็นทารา” และ “เซ็นทรา”
บริษัทดำเนินธุรกิจอาหารบริการด่วนภายใต้การบริหารงานของบริษัทในเครือคือ บริษัท เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด โดยปัจจุบัน บริษัทเซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป ให้บริการอาหารบริการด่วนจำนวน 13 แบรนด์ซึ่งประกอบด้วยร้านอาหารภายใต้แฟรนไชส์จากต่างประเทศจำนวน 11 แบรนด์และแบรนด์ของบริษัทเองจำนวน 2 แบรนด์ คือ “ริว ชาบู ชาบู” และ “เดอะ เทอเรส” โดยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดร้านอาหารภายใต้แฟรนไชส์จากต่างประเทศ 2 แบรนด์คือ “เทนยะ” และ “คัตสึยะ” ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 บริษัทมีจำนวนสาขาร้านอาหารรวมทั้งหมด 767 แห่งทั่วประเทศ
โดยปกติแล้ว บริษัทจะมีรายได้จากธุรกิจโรงแรมในสัดส่วนที่น้อยกว่ารายได้จากธุรกิจอาหาร แต่ในด้านกระแสเงินสดนั้น ธุรกิจโรงแรมจะสร้างกระแสเงินสดได้มากกว่าธุรกิจอาหารเนื่องจากธุรกิจโรงแรมมีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของธุรกิจโรงแรมมีความผันผวนมากกว่า โดยผลการดำเนินงานทางการเงินอาจลดลงอย่างรวดเร็วจากผลกระทบของเหตุการณ์ภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งนี้ ในปี 2556 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจโรงแรมคิดเป็นสัดส่วน 47% ของรายได้รวมทั้งหมด ในขณะที่บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจากโรงแรมคิดเป็นสัดส่วน 68% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายรวมทั้งหมด
เหตุการณ์ประท้วงทางการเมืองในประเทศไทยได้เริ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2556 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม การประท้วงดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลประกอบการเต็มปี 2556 ของบริษัท แต่เหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 โดยมีการประท้วงอย่างต่อเนื่องและตามมาด้วยการทำรัฐประหารซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ กล่าวคือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 9.9% อยู่ที่ 11.77 ล้านคนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 จากที่เคยมีอัตราเติบโตในระดับ 2 หลักในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในทรรศนะของทริสเรทติ้งเห็นว่าหลังจากการประกาศยกเลิกการห้ามออกนอกเคหะสถานในเดือนมิถุนายน 2557 แล้ว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะกลับมาได้รับประโยชน์จากฤดูกาลท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 4 ของปีได้ อัตราการเข้าพักโรงแรมของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจาก 69.4% ในปี 2555 เป็น 79.6% ในปี 2556 สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 บริษัทมีอัตราการเข้าพักโรงแรมที่ระดับ 72% เมื่อเทียบกับระดับ 80% ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ราคาห้องพักเฉลี่ยของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 3,777 บาทต่อวันในปี 2555 เป็น 4,462 บาทต่อวันในปี 2556 และ 5,186 บาทต่อวันในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 การเพิ่มขึ้นดังกล่าวเกิดจากราคาห้องพักที่สูงกว่าของโรงแรมใหม่ในมัลดีฟส์
ในปี 2556 รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 18% สู่ระดับ 17,096 ล้านบาทเนื่องจากรายได้จากธุรกิจอาหารและโรงแรมเพิ่มขึ้น โดยในปี 2556 รายได้จากธุรกิจอาหารเพิ่มขึ้น 10% จากการขยายสาขา ในขณะที่รายได้จากธุรกิจโรงแรมเพิ่มขึ้น 28% จากการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและผลประกอบการที่ดีของโรงแรมในมัลดีฟส์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 แม้ว่าผลประกอบการของโรงแรมในกรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมือง แต่รายได้รวมของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปีก่อน สู่ระดับ 8,811 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของโรงแรมในต่างประเทศและรายได้ที่เติบโตขึ้นจากธุรกิจอาหาร โดยรายได้จากโรงแรมในประเทศคิดเป็น 77% ของรายได้จากโรงแรมทั้งหมด เทียบกับระดับ 91% ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นจากระดับ 19.6% ในปี 2556 เป็น 21.5% ในปี 2556 โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 อัตรากำไรจากการดำเนินงานปรับลดลงสู่ระดับ 21.4% เมื่อเทียบกับระดับ 23.8% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556
เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นจาก 2,390 ล้านบาทในปี 2555 เป็น 2,938 ล้านบาทในปี 2556 และอยู่ที่ระดับ 1,404 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นจาก 18% ในปี 2555 เป็น 21% ในปี 2556 ถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2557 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงจากระดับ 5.7 เท่าในปี 2555 อยู่ที่ระดับ 5.4 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 โดย ณ เดือนมิถุนายน 2557 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ประมาณ 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นหลังจากการชำระหนี้เงินกู้ยืมบางส่วน โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงจากระดับ 57.4% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2555 สู่ระดับ 54.2% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557
บริษัทมีแผนจะใช้เงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาทเพื่อก่อสร้างโรงแรมแห่งใหม่ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยการลงทุนดังกล่าวส่วนใหญ่จะใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ประมาณปีละ 3,000 ล้านบาท ดังนั้น ในระยะปานกลางคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ระหว่าง 50%-55% ทั้งนี้ หากบริษัทมีการลงทุนอื่น ๆ เพิ่มเติม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีความรอบคอบในการจัดการโครงสร้างเงินทุนและแหล่งเงินทุนสำหรับการลงทุนใหม่บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) (CENTEL)อันดับเครดิตองค์กร: Aอันดับเครดิตตราสารหนี้:CENTEL163A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 ACENTEL163B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 ACENTEL167A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 Aแนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit