นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “เคทิส” ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า ธุรกิจของกลุ่มเคทิสมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ว่าจะมีรายได้จากอุตสาหกรรมต่อเนื่องในกระบวนการผลิตน้ำตาลมากขึ้น โดยจากตัวเลขรายได้จากการขายและการให้บริการงวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2557 มีสัดส่วนรายได้ของการผลิตและจำหน่ายน้ำตาล 69% จากการขายเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย 11% จากการผลิตและจำหน่ายเอทานอล 10% จากไฟฟ้าชีวมวล 6% และอื่นๆ 4%
“การที่เราสามารถนำผลผลิตจากอ้อยมาทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความสูญเสียน้อยมาก ส่งผลไปถึงอัตรากำไรของบริษัทที่ดีขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า กำไรสุทธิในไตรมาสที่ 2 ของกลุ่มเคทิสเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนถึง 84.73% ในขณะที่กำไรสุทธิงวด 6 เดือนเพิ่มขึ้น 35.58%” นายประพันธ์กล่าว
สำหรับรายได้รวมในไตรมาสที่ 2/2557 เท่ากับ 5,271.34 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 578.33 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปี 2556 ซึ่งมีรายได้ 6,008.98 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 313.06 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นว่าแม้รายได้จะลดลง แต่กำไรสุทธิกลับเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทสามารถลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้มากกว่าการลดลงของรายได้ โดยต้นทุนขายและบริการลดลงถึง 18.5% ส่วนรายได้ที่ลดลงนั้นเกิดขึ้นเฉพาะกับธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ซึ่งเกิดจากลูกค้ามารับน้ำตาลล่าช้า แต่อย่างไรก็ตาม น้ำตาลส่วนใหญ่มีภาระผูกพันตามสัญญาซื้อขายกับลูกค้าแล้วแต่ยังไม่สามารถรับรู้รายได้ตามมาตรฐานการบัญชี
ส่วนรายได้รวมในครึ่งปีแรกของปี 2557 เท่ากับ 9,001.84 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 1,165.34 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปี 2556 ซึ่งมีรายได้ 10,742.89 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 859.50 ล้านบาท
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเคทิสกล่าวถึงโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อยว่า โรงไฟฟ้าในปัจจุบันของกลุ่มเคทิสมีกำลังการผลิตประมาณ 60 เมกะวัตต์ แต่ที่กำลังดำเนินการใหม่อีก 2 โรง จะมีกำลังการผลิตโรงละ 50 เมกะวัตต์ รวมเป็น 100 เมกะวัตต์ โดยทั้ง 2 แห่งจะอยู่ในพื้นที่ติดกับโรงงานน้ำตาล จึงไม่มีปัญหาในเรื่องของเชื้อเพลิงชานอ้อยที่จะนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าชีวมวลใหม่โครงการแรกอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ จะใช้เงินลงทุนประมาณ 960 ล้านบาท ส่วนโครงการที่สองอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 960 ล้านบาทเช่นกัน
“โรงไฟฟ้าชีวมวลใหม่ 2 โครงการนี้ จะใช้เทคโนโลยีใหม่ที่สามารถผลิตไอน้ำแรงดันสูง ซึ่งทำให้ผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าเทคโนโลยีการผลิตไอน้ำแรงดันต่ำ เมื่อเทียบจำนวนเชื้อเพลิงเท่าๆ กัน ซึ่งแม้ว่าจะต้องลงทุนสูงกว่าในระยะแรก แต่ความคุ้มค่าของการลงทุนจะมีมากกว่าในระยะยาว” นายประพันธ์กล่าวและย้ำด้วยว่า นอกจากโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งใหม่จะสร้างรายได้และผลกำไรที่มากขึ้นให้กับกลุ่มเคทิสแล้ว ยังสามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตที่จะเพิ่มขึ้นจากโครงการขยายกำลังการผลิตน้ำตาลและธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ ด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit