- เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาขอให้ ปตท . ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดิน เพื่อแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐและของ บมจ.ปตท.
- คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ระบุให้ ปตท. ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินที่ได้มาจาก 1) การใช้อำนาจมหาชนของรัฐ 2) การรอนสิทธิเหนือที่ดินของเอกชน และ 3) การใช้เงินลงทุนของรัฐ โดยมอบหมายให้ กระทรวงการคลังโดยกรมธนารักษ์ กระทรวงมหาดไทยโดย
กรมที่ดิน ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบรับรองความถูกต้อง และต่อมาได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบและกำหนดแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับการรับโอนทรัพย์สินของการปิโตรเลียมฯ ขึ้น
- วันที่ 22 ธันวาคม 2551 กรมธนารักษ์ได้มีหนังสือแจ้งมายัง ปตท. ว่า ปตท. ได้ดำเนินการแบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สินต่างๆ ให้แก่กระทรวงการคลัง ตามคำพิพากษาศาลปกครอง เสร็จสิ้นครบถ้วนแล้ว และขอให้รายงานศาลปกครองสูงสุดเพื่อทราบต่อไป
- วันที่ 26 ธันวาคม 2551 ศาลปกครองสูงสุด ได้บันทึกในคำร้องรายงานสรุปของ ปตท. ว่า ปตท. ดำเนินการโอนทรัพย์สินทั้งหมดตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว
- วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีหนังสือถึง ปตท. และหน่วยงานอื่นๆ รวมถึง เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองว่า “การดำเนินการแบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สินของ บมจ.ปตท. ให้แก่กระทรวงการคลัง ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด จะครบถ้วนและเป็นไปตามคำพิพากษาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่จะผู้พิจารณา ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดถือเป็นยุติ”
- วันที่ 3 มีนาคม 2552 ศาลปกครองสูงสุด ได้ยกคำร้องที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร้องขอให้ศาลไต่สวนการคืนทรัพย์สินตามคำพิพากษา และได้แนบรายงานการตรวจสอบทรัพย์สินของ สตง.ประกอบคำร้องดังกล่าวด้วย แต่ศาลได้พิจารณาและยืนยันว่า “หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
- วันที่ 10 สิงหาคม 2553 กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานได้เสนอเรื่องการคืนทรัพย์สินตามคำพิพากษาของปตท.ไปยังคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบการดำเนินการดังกล่าวของ ปตท. แล้ว
- วันที่ 2 พฤศจิกายน 2555 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ยื่นฟ้องว่า ปตท. คืนท่อตามคำพิพากษาไม่ครบและขอให้ศาลตัดสินให้ปตท.คืนท่อในทะเลด้วย โดยศาลมีคำวินิจฉัยว่า ศาลปกครองสูงสุดได้เคยมีคำพิพากษาว่า ปตท. ได้ดำเนินการส่งมอบทรัพย์สินครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ศาลปกครองได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้ถึง 3 ครั้งและก็ได้ยืนยันมาโดยตลอดว่า ปตท. ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ การแยกกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 ที่อนุมัติตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยให้ ปตท. แยกกิจการท่อส่งก๊าซออกจากกิจการจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซ และให้ปตท.ถือหุ้นในกิจการที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในสัดส่วนร้อยละ 100 ทั้งนี้ ให้ดำเนินการแยกกิจการท่อหลังจาก บมจ.ปตท. เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯภายใน 1 ปี ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวนี้ ก็ได้ปรากฏอยู่ในหนังสือชี้ชวนเสนอขายหุ้นของ บมจ.ปตท. ด้วย สำหรับการแยกกิจการท่อส่งก๊าซฯ เป็นหนึ่งในแนวทางดำเนินการในกระบวนการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยในขณะนั้น เพื่อเปิดโอกาสการแข่งขันทางธุรกิจในระดับสากล เนื่องจากธุรกิจท่อส่งก๊าซฯ เป็นธุรกิจที่มีการลงทุนสูงและต้องมีความคล่องตัวในการบริหาร ซึ่งหลังการแปรรูปแล้ว ปตท. ยังคงฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นหลัก
“ปตท. ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสตลอดมา ภายใต้พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 และ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 การตรวจสอบ ปตท. จึงทำได้ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งช่วยให้ทุกภาคส่วนสามารถตรวจสอบโครงสร้างต้นทุนทั้งระบบ เพื่อยืนยันความโปร่งใสในการบริหารงานของ ปตท.” นายชาครีย์ กล่าวยืนยันในตอนท้าย