ในงานได้ถกกันสองประเด็นหลัก ได้แก่ แนวทางการจัดสรรคลื่นความถี่ในยุคสัมปทาน – คลื่นความถี่สำหรับสาธารณะ ธุรกิจ และชุมชน กับ แนวทางการกำกับดูแล : มิติการคุ้มครองผู้บริโภค การกำกับเนื้อหา การส่งเสริมจริยธรรม ซึ่งวิทยากร นางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวสภาปฏิรูปที่กำลังจะเกิดขึ้น ต้องรู้ว่าหมายถึงการปรับปรุงการใช้ทรัพยากรกรคลื่นที่เหมาะสม เปิดให้ทุกภาคเข้าไปมีส่วนร่วมและมีความหลากหลาย กระจายการถือครองโดยให้ประชาชนเข้าถึงการใช้ทรัพยากรอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ให้หลักประกันสิทธิในการสื่อสารฯ ประชาชนได้สิทธิอย่างน้อยร้อยละ 20 การแข่งขันเสรีเป็นธรรม ที่ผ่านมา กสทช.ได้เรียกคืนคลื่นเดิมทั้งหมดได้หรือยัง นอกจากใช้เวลาสองปีครึ่ง ในการบอกเราว่าเหลือคลื่นเดิม ๕๑๐ สถานี หาก กสทช. ตั้งใจทำเรื่องคืนคลื่นให้จบอย่างรวดเร็ว ธุรกิจขนาดเล็กจะไม่เกิดเยอะขนาดนี้ ซึ่งสะท้อนว่าถ้าตีความแบบหนึ่ง การปฏิบัติก็จะเป็นแบบหนึ่ง ปัญหาหลักๆ กสทช.คือ ด้านการจัดการ ทรัพยากรมนุษย์ กฎระเบียบ และงบประมาณ ระยะยาวเสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมาย และปรับปรุงโครงสร้าง กสทช.และทำอย่างเป็นระบบทั้งองค์กร
ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ถ้ามองจากเจตนารมณ์ปฏิรูปสื่อ กระแสสังคมเรียกร้องสามเรื่องคือ จัดสรรคลื่น ให้มีกลไกอิสระ และให้ภาคประชาชนใช้คลื่นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ซึ่งถ้าดูจากตัวกฎหมายและตัวชี้วัด พบว่า ยังอยู่ในระหว่างทดลองประกอบกิจการ และพบว่าเอกสารที่เข้ามา กสทช. เป็นกิจการธุรกิจ แต่ได้รับการทดลองกิจการบริการชุมชน ในส่วนโทรทัศน์ชุมชนยิ่งยาก ในแง่กิจการโทรทัศน์ หากดูเฉพาะตัวเลข ในการเรียกคืนคลื่น พบว่า เป็นความสำเร็จในเชิงตัวเลขจำนวนปี ซึ่งได้มาด้วยการแลกกับผลประโยชน์อื่น และยังกังขาอยู่ว่า จะคืนคลื่นจริงหรือไม่ ซึ่งถ้าดูตามกรอบกฎหมาย ไม่ค่อยมีปัญหา แต่เป็นปัญหาประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานมากกว่า
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ตั้งข้อสังเกตว่า ในอดีต สมัย คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช.กล้าหาญที่ให้มีสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม แต่ในยุคนี้กลับบริหารงานตั้งอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมาสองส่วนแทน คำถามคือ ทำไมต้องแยกกิจการกระจายเสียงฯ กับโทรคมนาคม เพราะเป็นผู้บริโภคกลุ่มเดียวกัน และกลไกไม่สามารถทำให้เกิดได้จริง ถ้าจะแก้กฎหมายควรมีการปรับปรุงส่วนนี้ คือตั้งสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคที่ไม่จำเป็นต้องแบ่งออกเป็นสองกิจการ ต้องแก้ตามเหตุผล ไม่ใช่แก้ตามความต้องการของผู้มีอำนาจ รวมทั้ง กสทช.มีงบประมาณที่มีอยู่มากมาย กลับไม่ให้ข้อมูลอย่างเช่น จะเปลี่ยนผ่านจากแอนาล็อกไปดิจิตอล ผลจะเป็นอย่างไร ต้องเตรียมตัวอย่างไร กล่องแบบใดที่เหมาะสม กลับใช้งบไปประชาสัมพันธ์ส่วนบุคคล และอีกเรื่องที่เป็นห่วงคือ โฆษณาที่ผิดกฎหมายในคลื่นวิทยุ
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. กล่าวถึงการจัดงานเสวนาครั้งนี้ว่า นโยบายปฏิรูปสื่อปัญหายังมีเยอะ แต่บางเรื่องก็เดินมาไกลระดับหนึ่งที่หลักการยังต้องยืนไว้อยู่ในแผนแม่บท ในประกาศ ที่ตอนนี้การเมืองการปกครองเปลี่ยนไปหมดไม่ว่าจะช้าจะเร็ว อาจจะดีขึ้นหรือแย่ลง หลายครั้งพบว่าบางทีปัญหาก็อยู่ที่คน กฎหมาย หรือระบบ บางเรื่องโหวตกี่ครั้งก็แพ้ บางครั้งก็ชนะแล้วกลับมาแพ้ สิ่งที่เคยเป็นหัวใจสำคัญของการนำคลื่นกลับมาจัดสรร ก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ก็ยอมรับความจริง และกำหนดเงื่อนเวลาการคืนคลื่นที่ไม่เคยมี พอมาโวยวายข้างนอกสังคมอาจไม่เข้าใจว่าเป็นเรื่องอะไร ยอมรับว่ายาก ส่วนเรื่องอื่นๆที่พอทำได้อย่างการกำกับดูแล ต้องยอมรับว่าเป็นแนวคิดที่ต่างกันมาก อย่างเช่นการพิจารณา เรื่องรายการตอบโจทย์ ซีรี่ยส์ฮอร์โมน เป็นต้น
“สองสามปีที่ทำงานร่วมกัน มีพัฒนาการ บางทีต้องใช้เวลาและความอดทนของการกำกับดูแลสิทธิเสรีภาพในการแสวงหาจุดตรงกลางร่วมกัน แต่อย่างไรยังเชื่อเรื่องกลไกการกำกับดูแลกันเองมาสร้างพื้นที่การพูดคุยทางความคิดกัน หากเลยจาก กสทช. ชุดนี้ไปไม่รู้ว่าจะมีการแก้กฎหมายอย่างไร แต่สุดท้ายอยู่ที่วุฒิภาวะของสังคมจริงๆ ส่วนกสทช.ก็อยู่หิริโอตัปปะของแต่ละคนจริงๆ อยู่ที่การตรวจสอบจากสาธารณะมากกว่า” สุภิญญา กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit