ปิยสวัสดิ์ เสนอแนะ คสช. เรื่องพลังงานหมุนเวียน

08 Aug 2014
ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ในฐานะประธานมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้เปิดเผยว่า มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (มพส.) ได้จัดทำ “ข้อเสนอแนวทางการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของประเทศไทย” เพื่อเสนอต่อ คสช. และกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่จะช่วยให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาของการพัฒนาโครงการด้านพลังงานหมุนเวียนของไทยได้ตรงจุด และสามารถนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน บนบรรทัดฐานของการแข่งขันที่เท่าเทียมและเป็นธรรม

ในช่วงที่ผ่านมา ผู้พัฒนาโครงการด้านพลังงานหมุนเวียนต้องประสบปัญหาอุปสรรคหลายด้าน ทำให้การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนไม่บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ เช่น โครงการขยะติดปัญหาการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ซึ่งใช้ระยะเวลาในการพิจารณาโครงการค่อนข้างนาน โครงการชีวมวลมีปัญหาเรื่องการต่อต้านของชุมชนและปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพลิง ส่วนโครงการแสงอาทิตย์ก็มีการกำหนดนโยบายรับซื้อไฟฟ้าที่ไม่ต่อเนื่อง การพิจารณารับซื้อไฟฟ้าก็เลือกปฏิบัติกับผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าอย่างไม่เท่าเทียมกัน รวมทั้งมาตรการของภาครัฐที่ทำให้เกิดข้อจำกัดมากมาย ทำให้โครงการไม่เดินหน้าเท่าที่ควร รวมถึงปัญหาข้อจำกัดของระบบส่งไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอกับศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ประเด็นสำคัญคือปัญหาอุปสรรคที่มาจากภาครัฐ โดยเฉพาะการออกใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการไฟฟ้า ปัญหาข้อจำกัดของระบบส่งไฟฟ้า ซึ่ง คสช. และกระทรวงพลังงานควรจะต้องเร่งเข้ามาแก้ไขให้ได้โดยเร็ว

ในข้อเท็จจริงต้นทุนของโครงการด้านพลังงานหมุนเวียนหลายประเภทได้ปรับลดลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ในขณะที่ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงฟอสซิลได้แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาการกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะอ้างอิงกับต้นทุนที่หลีกเลี่ยงได้ของการไฟฟ้า (Avoided Cost) ซึ่งในอดีตอ้างอิงกับราคาน้ำมันเตาที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า และต่อมาเป็นก๊าซธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไปพอสมควร ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยไม่เพียงพอ ส่วนก๊าซพม่าก็มีปริมาณจำกัดเช่นกัน เพราะพม่ามีความต้องการใช้ในประเทศมากขึ้น ตอนนี้แหล่งก๊าซ คือ LNG ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาแพงกว่า ก๊าซอ่าวไทยถึง 100% ดังนั้น ต้นทุนที่หลีกเลี่ยงได้ของการไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในตอนนี้ก็ควรจะอิงกับราคา LNG เมื่อเปรียบเทียบราคา LNG กับราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ตามสัญญารับซื้อ (FIT) ระยะเวลา 25 ปี จะเห็นได้ว่าค่าไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ไม่ได้มีต้นทุนที่แพงกว่า LNGโดยข้อเสนอแนวทางการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของประเทศไทย ประกอบด้วย 6 ข้อเสนอหลัก ได้แก่

1.​การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบกฎเกณฑ์ที่ซ้ำซ้อน เช่น แก้ไขมาตรา 48 ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน เพื่อให้ กกพ. ออกใบอนุญาตได้โดยไม่ต้องขอความเห็นจากหน่วยงานอื่น แก้ไขนิยามของโรงงาน ตาม พ.ร.บ.โรงงาน โดยให้ยกเว้นระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาไม่เข้าข่ายเป็นโรงงาน ให้โรงไฟฟ้าขยะที่มูลค่าเงินลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ และให้ยกเลิกคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ เพื่อกำจัดช่องทางในการเรียกผลประโยชน์ของนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจ และสร้างความโปร่งใส

2.​คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะต้องปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน โดยดำเนินการให้การอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าในรูปแบบ One Stop Service ออกใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าให้แก่โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ พพ. จำนวน 23 โครงการ ประสานงานร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายอย่างใกล้ชิดในการกำกับดูแล ลดขั้นตอนในการติดต่อและใช้ระบบส่งข้อมูลแบบ Online รวมทั้งการพัฒนาข้อมูลศักยภาพพลังงานหมุนเวียนที่ทันสมัยและแสดงข้อมูลเรื่องข้อจำกัดของระบบส่งไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูล ให้กับผู้ประกอบการทราบก่อนการตัดสินใจลงทุน

3.​การกำหนดมาตรการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่ชัดเจน อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น มีเป้าหมายระยะยาวให้กิจการด้านพลังงานหมุนเวียนดำเนินการได้ โดยไม่มีการอุดหนุนหรืออุดหนุนน้อยที่สุด ใช้ระบบการแข่งขันด้านราคาและหลีกเลี่ยงการให้โควต้าการผลิต ควรแยกกิจการระบบผลิตไฟฟ้าออกจากกิจการระบบส่งไฟฟ้า พัฒนาระบบส่งไฟฟ้าแบบ Smart Grid และกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของแผน PDP

4.​การส่งเสริมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ : 1) เร่งดำเนินการโครงการ SPP/VSPP ที่ยังค้างอยู่ ให้มีการเจรจาโดยปรับเงื่อนไขอัตราการรับซื้อไฟฟ้าให้เหมาะสม 2) โครงการ Solar rooftop จำนวน 200 เมกะวัตต์ ให้เปิดเสรีไม่มีการจำกัดโควต้า ขยายกำลังการผลิตติดตั้งได้เกินกว่า 10 กิโลวัตต์ และไม่จำกัดเพียงหลังคาบ้านเท่านั้น สำหรับประเภทบ้านพักอาศัย และโครงการติดตั้งสำหรับใช้เองให้สามารถใช้วิธีหักลบหน่วย (Net metering) และ 3) โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ระดับชุมชน จำนวน 800 เมกะวัตต์ มอบหมายให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้ดำเนินการแทน กฟภ. และพิจารณารับซื้อไฟฟ้าโดยกระจายโครงการให้ชุมชนมีส่วนร่วมครอบคลุมทุกภาคของประเทศ โดยใช้รูปแบบ BOT และกำหนดอัตราการรับซื้อไฟฟ้าโดยใช้วิธีการประมูลแข่งขัน

5.​การส่งเสริมโครงการพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เช่น ส่งเสริมโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนระดับชุมชน เพื่อกระจายแหล่งผลิตไฟฟ้าไปยังชุมชนที่มีศักยภาพ และเพื่อลดกระแสการต่อต้านจากชุมชน อีกทั้งเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาและร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ให้การสนับสนุนด้านการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ด้านพลังงานหมุนเวียนในประเทศโดยกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของอุปกรณ์และใช้เป็นเงื่อนไขในการพิจารณาให้การสนับสนุน ส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานที่ถูกต้องแก่ประชาชน รวมถึงการกำหนดให้มีการเรียนการสอน เรื่อง ความรู้ด้านพลังงานและพลังงานหมุนเวียนไว้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ

6.​มาตรการที่จะใช้ในการส่งเสริมโครงการพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ อาทิ 1) มาตรการเช่าซื้ออุปกรณ์ ผ่านโครงการ ESCO Fund หรือการให้เงินทุนหมุนเวียนผ่านสถาบันการเงิน แก่โครงการ Solar rooftop ประเภทบ้านพักอาศัย โครงการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้เองทั้งในรูปแบบของไฟฟ้าและความร้อน 2) กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เช่น ให้ Investment Subsidy โครงการที่ใช้เทคโนโลยีใหม่หรือโครงการขนาดเล็ก รวมถึงโครงการ RE ในพื้นที่ห่างไกลทั้งนี้ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าข้อเสนอดังกล่าวได้ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้วเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 และ มพส. ได้นำข้อเสนอแนวทางการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของประเทศไทยเสนอต่อพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของ คสช. และกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 เพื่อนำไปประกอบในการพิจารณากำหนดนโยบายการปฏิรูปพลังงานของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป​​​​​​​

*สามารถดาวน์โหลดข้อเสนอฯ ได้ที่ www.efe.or.th/datacenter/ckupload/files/RE_proposal_2014.pdf