“1. คำขอ” ซึ่งกรมจะส่งเสริมให้มีการขึ้นทะเบียนสินค้า GI อย่างน้อย 1 จังหวัดต่อ 1 สินค้า GI เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพของสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นให้ดีขึ้น โดยได้เดินทางไปส่งเสริมในจังหวัดต่างๆ ในปี 2557 พบสินค้าที่มีศักยภาพเป็น GI ได้แก่ ทุเรียนปราจีนบุรี มะยงชิดนครนายกและมะปรางหวานนครนายก มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว (สมุทรสาคร) กลองนานาชาติบ้านเอกราช (อ่างทอง) กล้วยตากบางกระทุ่ม (พิษณุโลก) ผ้าไหมบ้านเขว้า (ชัยภูมิ) และ ผ้ากาบบัว (อุบลราชธานี) และมีสินค้า GI ที่ยื่นขอขึ้นทะเบียนในปีนี้ ได้แก่ น้ำหมากเม่าสกลนคร ผ้าเก็บบ้านเมืองหลวง (ศรีสะเกษ) มะยงชิดนครนายกและมะปรางหวานนครนายก โดยปัจจุบันมีสินค้า GI ที่ยื่นคำขอมาแล้ว 107 คำขอ เป็นสินค้า GI ไทย 93 คำขอ และ GI ต่างประเทศ 14 คำขอ ซึ่งกรม ฯ ได้รับขึ้นทะเบียนแล้ว 64 คำขอ โดยเป็นสินค้า GI ไทย 54 คำขอ และ GI ต่างประเทศ 10 คำขอ
“2. ระบบควบคุม” โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเข้าไปช่วยเหลือและพัฒนาระบบควบคุม อันจะส่งผลให้ชุมชนมีกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐาน มีกระบวนการทำงานอย่างมีระบบซึ่งส่งผลให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ และรักษาไว้ซึ่งภูมิปัญญาที่สืบต่อกันมา และ “3. ส่งเสริมการตลาด” โดยสร้างโอกาส และจัดพื้นที่เป็นช่องทางการขายให้กับผู้ประกอบการสินค้า GI เพื่อให้ได้มีโอกาสเข้ามาทำตลาดในโมเดิร์นเทรด รวมทั้งทำการส่งเสริมเผยแพร่ข้อมูลสินค้า GI ผ่านช่องทางต่างๆ
นางกุลณีกล่าวต่อไปว่า “ปัจจุบันได้มีการยื่นขอจดทะเบียนสินค้า GI ของไทย 5 ชนิดในต่างประเทศ ได้แก่ ในสหภาพยุโรป ซึ่งข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ได้รับจดทะเบียนแล้ว กาแฟดอยช้างและกาแฟดอยตุงที่อยู่ระหว่างประกาศโฆษณาเพื่อรอ จดทะเบียนอย่างเป็นทางการ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงที่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบคำขอ และเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสานอยู่ระหว่างประกาศโฆษณา ซึ่งการที่สินค้า GI ของไทยได้รับการขึ้นทะเบียนในสหภาพยุโรปนั้นถือว่าสินค้านั้นได้รับการยอมรับว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะ โดดเด่น แตกต่างจากสินค้าประเภทเดียวกันจากแหล่งผลิตอื่นๆในโลกตามมาตรฐานที่ยุโรปตั้งเอาไว้ และยิ่งไปกว่านั้น “ชื่อของสินค้า” ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจะได้รับการปกป้องคุ้มครองทั้งสหภาพยุโรป ตามกฎหมายซึ่งทำให้สินค้าจากนอกพื้นที่การขึ้นทะเบียนจะไม่สามารถใช้ชื่อเดียวกันได้”
นางกุลณีกล่าวเพิ่มเติมว่า “ปี 2557 ถือเป็นปีสำคัญของ GI ไทยนั้นคือครบรอบ 10 ปี GI ไทยโดยกรม ฯ ได้จัดงาน คืนความสุขให้ชุมชนไทย นั้นคือ OTOP PLUS GI 2014 สินค้าภูมิปัญญาไทย คุณภาพก้าวไกลสู่สากล ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า แจ้งวัฒนะ ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม – 3 กันยายน 2557 โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 100 บูธ และภายในงานมีกิจกรรมมากมาย อาทิ มินิคอนเสิร์ต โดยศิลปิน The Star แก้ม และเซน , บอย พิษณุ นิ่มสกุล สนุกสนานกับกิจกรรมกับเหล่าดารา อาทิ ลิฟท์ สุพจน์ จันทร์เจริญ ดีเจเอกกี้ ชาร์ม ไอยวริญท์ มิค ทองระย้า พระเอกจากละคร ลูกผู้ชายพันธุ์ดี และเจี๊ยบ ชมพูนุช ปิยธรรมชัย”
“สินค้า OTOP เป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบหรือทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาทำการพัฒนาจนกลายเป็นสินค้าที่สามารถสร้างรายได้แก่ชุมชน โดยอาจเป็นสินค้าที่คิดขึ้นมาใหม่หรือเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงมายาวนานก็ได้ สินค้า OTOP บางสินค้าจึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI หากเป็นสินค้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์ มีความเชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์อย่างชัดเจน รวมถึงมีการควบคุมคุณภาพสินค้าให้มีความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ดังนั้น สินค้า OTOP PLUS GI จึงหมายถึงสินค้า OTOP ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ด้วย หรือ สินค้า OTOP GI นั่นเอง
การจัดงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ (Branding) สินค้า OTOP PLUS GI ให้เป็นที่รู้จักและสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการมีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น และให้สินค้า OTOP มีการใช้ประโยชน์จากสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย ในการรักษาคุณภาพมาตรฐาน สร้างความเชื่อถือให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
ดังนั้น ในงานนี้จะครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการนำสินค้าที่เป็นทั้ง GI และ OTOP มาออกบูธ ซึ่งต้องบอกว่าพิเศษมากเพราะสินค้า OTOP เป็นสินค้าของชุมชน ขณะที่สินค้า GI เป็นสินค้าที่ผสมผสานภูมิปัญญาเข้ากับคุณลักษณะพิเศษของท้องถิ่น งานนี้จึงเป็นงานที่เป็นการรวมตัวของสินค้าชุมชนที่มีชื่อเสียงมายาวนานของไทยครั้งแรกที่ไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน”
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit