นายนิรันดร เอื้องตระกูลสุข หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร มาตั้งแต่ปี 2554 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น โครงการพัฒนาการเกษตรครบวงจรในพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยมุ่งเน้นการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการของหน่วยงานในสังกัดและเครือข่ายทุกภาคส่วน โดยคำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของชุมชน มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์โดยตรงแก่เกษตรกรในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต การเพิ่มมูลค่า การตลาด และการบริหารจัดการ โดยการคัดเลือกพื้นที่ที่รับประโยชน์จากการพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานระดับจังหวัดๆ ละ 1 พื้นที่ เพื่อกำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินงาน
นายนิรันดร กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาการเกษตรครบวงจรในพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่าหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดการประกวดการดำเนินงานโครงการพัฒนาการเกษตรครบวงจรในพื้นที่ที่มีศักยภาพขึ้น โดยแบ่งระดับการประกวดออกเป็นระดับเขตตรวจราชการ และระดับประเทศ ส่วนรูปแบบการประกวด แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งจำแนกรูปแบบตามร่างแผนแม่บทโครงการพัฒนาการเกษตรครบวงจรในพื้นที่ที่มีศักยภาพ (พ.ศ.2557- 2564) ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ได้แก่ รูปแบบที่ 1 ดำเนินการในพื้นที่เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การผลิตและการเลี้ยงสัตว์ ตามที่กระทรวงเกษตรฯ กำหนด และมีระบบน้ำเพื่อการเกษตรสมบูรณ์ กลุ่มที่ 2 ได้แก่ รูปแบบที่ 2 ดำเนินการในพื้นที่เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การผลิตและการเลี้ยงสัตว์ ตามที่กระทรวงเกษตรฯ กำหนด และมีระบบน้ำเพื่อการเกษตรค่อนข้างสมบูรณ์ และรูปแบบที่ 3 ดำเนินการในพื้นที่เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การผลิตและการเลี้ยงสัตว์ ตามที่กระทรวงเกษตรฯ กำหนด และมีระบบน้ำเพื่อการเกษตรยังไม่สมบูรณ์
สำหรับผลการประกวดการดำเนินงานโครงการพัฒนาการเกษตรครบวงจรในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ในระดับเขตตรวจราชการ มีจังหวัดได้รับรางวัลรวมทั้งสิ้น 21 จังหวัด จำแนกเป็นรายภาค ดังนี้ ภาคเหนือ แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำพูน น่าน และพิษณุโลก กลุ่มที่ 2 จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี สกลนคร ขอนแก่น อำนาจเจริญ และชัยภูมิ กลุ่มที่ 2 จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ และนครราชสีมา ภาคกลาง แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี นครนายก สุพรรณบุรีและประจวบคีรีขันธ์ กลุ่มที่ 2 จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี และภาคใต้ แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง และสตูล กลุ่มที่ 2 จำนวน 2 จังหวัด ได้ แก่ จังหวัดกระบี่ และสงขลา
ส่วนการประกวดการดำเนินงานโครงการพัฒนาการเกษตรครบวงจรในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ในระดับประเทศ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาการเกษตรครบวงจรในพื้นที่ที่มีศักยภาพ จะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อมูลให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 สิงหาคม 2557 เพื่อให้คณะกรรมการดำเนินงานโครงการพัฒนาการเกษตรครบวงจรในพื้นที่ที่มีศักยภาพพิจารณาตัดสินในระดับประเทศต่อไป โดยจำแนกเป็นรายภาค จำนวน 4 ภาค
“การดำเนินการจัดประกวดครั้งนี้ นอกจากเพื่อให้การขับเคลื่อนงานการดำเนินงานโครงการพัฒนาการเกษตรครบวงจรในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายกำหนดแล้ว ยังส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนกระบวนการพัฒนาการเกษตรในระดับพื้นที่ให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและศักยภาพของพื้นที่ในลักษณะบูรณาการ โดยการพัฒนาแหล่งน้ำให้เต็มศักยภาพและใช้พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาแหล่งน้ำ เป็นศูนย์กลางการบูรณาการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่มมูลค่าการตลาดและการบริหารการจัดการ ตลอดจนพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน รวมถึงการมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า” นายนิรันดร กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit