คณะกรรมการอาเซียนด้านการเงินการคลังเห็นชอบยุทธศาสตร์กระทรวงการคลัง ด้านการเงินการคลังเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน

22 Aug 2014
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอาเซียนด้านการเงินการคลัง ครั้งที่ 1/2557 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 เวลา 09.30 น. ร่วมด้วยผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือด้านการเงินการคลังในกรอบอาเซียน ได้แก่ หน่วยงานระดับกรมในสังกัดกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมอาเซียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์กระทรวงการคลังด้านการเงินการคลังเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน เพื่อใช้เป็นเอกสารหลักของกระทรวงการคลังในการดำเนินการเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รวมทั้งติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการและประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดจนสาธารณชนได้รับทราบยุทธศาสตร์ดังกล่าวต่อไป ยุทธศาสตร์กระทรวงการคลังดังกล่าวจัดทำขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์ คือ “มีความเป็นเลิศด้านการเงินการคลัง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในอาเซียน” ทั้งในส่วนของการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจให้แก่ภาคเอกชน การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคการเงินการคลัง การเชื่อมโยงภาคการเงินการคลังกับประเทศอื่นๆ และการให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์จากประชาคมอาเซียน พร้อมทั้งได้คำนึงถึงแผนงานที่มีความเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ดังกล่าว ประกอบด้วย แผนการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Blueprint) ทั้ง 3 ฉบับ ยุทธศาสตร์ประเทศ พ.ศ. 2556-2561 และยุทธศาสตร์กระทรวงการคลังประจำปีงบประมาณ 2556-2559 โดยมาตรการด้านการเงินการคลังภายใต้ยุทธศาสตร์นี้ ได้รับการจัดกลุ่มเป็น 4 ยุทธศาสตร์ตามวัตถุประสงค์หลักของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้แก่ (1) เป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน (Single Market and Production Base) (2) เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Economic Region) (3) พัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค (Equitable Economic Development) และ (4) การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก (Integration into the Global Economy)

และสามารถจัดกลุ่มย่อยออกเป็น 13 กลยุทธ์ 34 มาตรการ โดยมีหน่วยงานผู้รับผิดชอบในระดับกลยุทธ์และระดับมาตรการ ตลอดจนมีการกำหนดเวลาดำเนินการที่ชัดเจน ช่วยให้สามารถติดตามความคืบหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้มีการกำหนดให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบรายงานความคืบหน้าทุกสิ้นไตรมาส (ทุกสิ้นเดือนมีนาคม มิถุนายน กันยายน และธันวาคม) โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นผู้ประสานงานหลักและรายงานให้ปลัดกระทรวงการคลังทราบ

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำยุทธศาสตร์กระทรวงการคลังด้านการเงินการคลังเพื่อรองรับประชาคมอาเซียนเป็นรูปเล่มเพื่อเผยแพร่และจัดสัมมนาเพื่อประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดจนสาธารณชนได้รับทราบต่อไป