สืบเนื่องจากปัจจุบันมีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นทุกปี แต่แหล่งพลังงานที่มีอยู่ กลับลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ประกอบกับ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัญหามลพิษที่ก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้หลายประเทศศึกษาวิจัยเพื่อหาพลังงานทดแทนจากธรรมชาติที่สะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานคลื่น พลังงานน้ำ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ ที่สามารถพัฒนามาใช้ทดแทนพลังงานฟอสซิลได้ในอนาคต สำหรับประเทศไทย พบว่ามีน้ำบาดาลร้อนหรือแหล่งน้ำพุร้อนกระจายอยู่ จำนวน 112 แห่ง ตามภูมิภาคต่าง ๆ จัดเป็นพลังงานความร้อนใต้พิภพที่กำลังได้รับความสนใจและ มีความสำคัญไม่น้อยกว่าพลังงานอื่น ๆ ดังนั้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงได้ดำเนินโครงการศึกษาและสำรวจแหล่งน้ำพุร้อนเพื่อส่งเสริมการผลิตพลังงานความร้อนใต้พิภพและอุตสาหกรรมท้องถิ่น ด้วยงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อศึกษาและสำรวจแหล่งน้ำพุร้อนที่เหมาะสมต่อการผลิตพลังงานความร้อนใต้พิภพ แนวทางการพัฒนาเทคนิคการเจาะและการสำรวจน้ำบาดาลในระดับลึกที่มีอุณหภูมิสูง รวมถึงแนวทางการพัฒนาแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพสู่อุตสาหกรรมท้องถิ่น โดยขณะนี้กรมทรัพยากร น้ำบาดาลได้คัดเลือกแหล่งน้ำพุร้อนที่มีแนวโน้มและศักยภาพความน่าจะเป็นแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ ที่เหมาะสมแล้ว จำนวน 16 พื้นที่ เพื่อสำรวจเบื้องต้น และจากนั้นจะคัดเลือกให้เหลือ 5 พื้นที่ เพื่อสำรวจธรณีวิทยาและศึกษารายละเอียดเชิงลึกในพื้นที่ และคัดเลือกพื้นที่ที่ดีที่สุด 1 แห่ง ดำเนินการเจาะบ่อสำรวจ ในระดับความลึก ไม่น้อยกว่า 1,000 เมตร เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาแหล่งพลังงานใต้พิภพของ ประเทศไทยต่อไป
การจัดประชุมสัมมนาครั้งนี้เป็นการระดมความคิดเห็นที่ทุกฝ่ายมีต่อแนวทางการศึกษาโครงการฯ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับขอบเขตการดำเนินโครงการฯ ให้กับหน่วยงานและประชาชนทั่วไปได้รับทราบ รวมถึงข้อมูลศักยภาพของแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพของประเทศไทย ขั้นตอนการปฏิบัติงาน รูปแบบการพัฒนาแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพขึ้นมาใช้ประโยชน์ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนในพื้นที่ เช่น การตัดถนนเข้าพื้นที่ หรือการขนย้ายเครื่องมือ ซึ่งกรณีดังกล่าวจะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวเพิ่มเติมว่า พลังงานความร้อนใต้พิภพ ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย เพราะเมื่อหลายสิบปีก่อน เคยมีการทดลองผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน ใต้พิภพมาแล้ว แต่การศึกษาและพัฒนาการผลิตต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากกระบวนการนำพลังงานมาต่อยอดผลิตกระแสไฟฟ้านั้นมีความสลับซับซ้อนและมีเทคนิคทางวิชาการเกี่ยวข้องหลากหลายสาขา แต่ปัจจุบัน องค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ มีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง การติดต่อสื่อสารและขนส่งสะดวกสบายมากขึ้น จึงเป็นไปได้สูงที่ประเทศไทยจะสามารถพัฒนาแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมท้องถิ่น การพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยว และการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร