นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญเรื่องการควบคุม ตรวจสอบคุณภาพปุ๋ย และสารเคมีทางด้านการเกษตรที่ถือเป็นต้นทุนที่สำคัญของเกษตรกร จึงได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบและป้องกันการจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ไม่เป็นไปตามคุณภาพมาตรฐาน โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยปุ๋ยและวัตถุอันตรายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงกำหนดแนวทางการตรวจสอบและป้องกันการจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรปลอมหรือไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
โดยล่าสุดทางคณะกรรมการฯ ได้แต่งตั้ง คณะทำงานเฉพาะกิจตรวจสอบปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีนายวิทยา ฉายสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ซึ่งคณะทำงานชุดดังกล่าวจะเป็นหน่วยปฏิบัติการในการตรวจสอบสารเคมีทางการเกษตร ปุ๋ย วัตถุอันตราย และเมล็ดพันธุ์พืชในสถานที่ของผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้นำเข้า หรือผู้มีไว้ในครอบครอง ให้เป็นไปตามกฎหมาย และมีอำนาจในการจัดชุดปฏิบัติการพิเศษ โดยสนธิกำลังจากกรมปศุสัตว์ สารวัตรกรมวิชาการเกษตร หรือเจ้าพนักงานตำรวจในพื้นที่ เพื่อปฏิบัติการตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้ทีกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับสารเคมีทางการเกษตร ปุ๋ย วัตถุอันตราย และเมล็ดพันธุ์พืช เนื่องจากหลังจากที่เกษตรกรได้รับเงินจำนำข้าวเรียบร้อยแล้วและจะเริ่มฤดูกาลผลิตใหม่ จึงอาจจะเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตปุ๋ยปลอมและสารเคมีการเกษตรใช้ช่วงเวลาดังกล่าวมาเอาเปรียบเกษตรกรได้ พร้อมทั้งได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่เร่งให้ความรู้ที่ถูกต้องในการใช้ปัจจัยการผลิตที่ถูกต้องตามกฏหมาย รวมถึงปริมาณที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิชาการด้วยเช่นกัน
“จากการดำเนินงานปราบปรามผู้ฝ่าฝืนกฎหมายตาม พรบ. ปุ๋ย และ พรบ.วัตถุอันตราย กรมวิชาการเกษตร ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการขายตรงให้กับเกษตรกรในราคาถูก เป็นปุ๋ยปลอมไม่มีคุณภาพโดยผ่านผู้นำหมู่บ้าน และมีการเร่ขายตรงกับเกษตรกรในราคาถูก จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กรมสอบสวนคดีพิเศษ สืบหาข้อมูลการผลิตและจำหน่าย แล้วเข้าดำเนินการจับกุมผู้ผลิตและจำหน่ายที่ฝ่าฝืนกฎหมายซึ่งผลการดำเนินการในรอบปีที่ผ่านมาพบผู้กระทำผิดจำนวน 32 ราย ของกลาง 7,929 ตัน มูลค่า 196 ล้านบาท เป็นคดีปุ๋ยจำนวน 24 ราย น้ำหนัก 7,884 ตัน มูลค่า 157 ล้านบาท และจับกุมผู้ผลิตวัตถุอันตรายปลอม 8 ราย จำนวน 45 ตัน มูลค่า 39 ล้านบาท” นายชวลิต กล่าว
ด้านนายดำรง จิรสุทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากแหล่งจำหน่ายปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตรส่วนใหญ่กว่า 95 % ผ่านช่องทางสถาบันการเงินที่เกษตรกรกู้ยืมเงินเพื่อทำการเกษตร ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตร (ธ.ก.ส.) และสหกรณ์ต่างๆ ดังนั้น มาตรการแรกที่กรมวิชาการเกษตรในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบและป้องกันการจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ไม่เป็นไปตามคุณภาพมาตรฐาน และหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการกำกับ ตรวจสอบคุณภาพสารเคมีทางการเกษตร จะทำหนังสือประสานขอความร่วมมือไปยังสถาบันต่างๆ ในการพิจารณาคัดเลือกปัจจัยการผลิตที่ได้มาตรฐานและคุณภาพมาจำหน่ายให้แก่เกษตรกร รวมถึงพร้อมรับตัวอย่างปัจจัยการผลิตมาตรวจสอบคุณภาพก่อนที่จะนำไปจำหน่ายให้แก่เกษตรกรด้วย.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit