นี่คือข้อสงสัยที่นำไปสู่แนวคิดการจัดนิทรรศการ “อย่าลืมฉัน” ของกลุ่มเยาวชนจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ประกอบด้วย นายอรัญ รมยานนท์ นางสาวพิชชาพร แสงชัยทวีรักษ์ และ นางสาวณัฏศิญาพร นรินทรางกูล ณ อยุธยา ผู้ชนะเลิศการประกวดโครงการ “ปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยาม ครั้งที่ 4” หรือ Young Muse Project ภายใต้โจทย์ สยาม 2020 เห็นอะไรในอนาคต ซึ่งจัดขึ้นโดย สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ที่ต้องการกระตุกความคิดของคนไทยว่าอย่าละเลยหรือหลงลืมรากเหง้า เพราะสิ่งเหล่านี้คือมรดกล้ำค่าที่สะท้อนความเป็นไทยได้อย่างชัดแจ้ง
นายอรัญ รมยานนท์ อธิบายว่า จากโจทย์ที่ได้รับนำไปสู่การสืบหาข้อมูลเชิงลึกซึ่งพบกับคำตอบที่น่ากังวลใจว่า ทุกวันนี้ภูมิปัญญาและความภาคภูมิใจของชาติหลายๆ สิ่งกำลังถูกละเลยโดยคนไทยด้วยกันเอง แต่ขณะเดียวกันกลับเป็นต่างชาติที่ให้ความสนใจนำสิ่งที่เป็นของไทยไปต่อยอดใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง นิทรรศการอย่าลืมฉันจึงเป็นเสมือนเสียงสะท้อนจากภูมิปัญญาและความภาคภูมิใจของชาติ ที่ต้องการบอกกับคนไทยว่า โปรดอย่าลืมหรือละเลยสมบัติชาติที่มีคุณค่าเหล่านี้
“นิทรรศการอย่าลืมฉันได้จำลองเหตุการณ์ปริศนาน่าตื่นเต้นขึ้นมา 3 เรื่อง ได้แก่ การเกิดโรคระบาดร้ายแรงที่คร่าชีวิตคนนับพัน เหตุโจรปล้นธนาคารสมบัติชาติท้าทายกฎหมาย และการสูญหายอย่างไร้ร่องรอยของสัญลักษณ์ประจำชาติ โดยคำตอบของแต่ละปริศนาคือความเป็นไทย 3 สิ่ง คือสมุนไพรไทย มวยไทย และช้างไทย ซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของไทยมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งต้นเหตุของการเกิดเหตุการณ์ปริศนาคือการที่คนไทยสมัยใหม่ต่างละเลยความเป็นไทยเหล่านี้” นายอรัญอธิบาย
เมื่อเข้าไปในห้องนิทรรศการการผู้ชมจะต้องทำหน้าที่เป็น “นักสืบ” และรับมอบ “แฟ้มคดี” เพื่อสืบเรื่องราวปริศนาซ่อนเงื่อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับ “ภาคภูมิใจ ภูมิปัญญาไทย และเอกลักษณ์ไทย” ผ่าน 3 คดีสำคัญระดับชาติ ได้แก่ “ห้องคดีสมุนไพร” เมื่อมนุษย์อาจถึงคราวสิ้นสุดจากการระบาดของโรคร้ายแรง แต่นักวิทยาศาสตร์กลับพบว่าประเทศไทยมีสารตั้งต้นของตัวยาสำคัญที่จะช่วยให้มนุษย์รอดพ้นจากโรคร้ายครั้งนี้ได้ สุดท้ายสารตั้งต้นตัวนี้จะตกไปอยู่ในมือของใคร แล้วคนไทยจะเก็บรักษาสารตั้งต้นนี้ไว้ได้ทันหรือไม่ เป็นหน้าที่ชอบผู้ชมที่ต้องช่วยหาคำตอบ ตามมาด้วย “ห้องคดีมวยไทย” เมื่อธนาคารสมบัติแห่งชาติที่ใช้เก็บรักษาเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของไทย ถูกคนร้ายบุกรุกเข้าไปขโมยสมบัติชิ้นหนึ่งในห้องนิรภัย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปถึง กลับพบว่าคนร้ายนอนสลบสิ้นฤทธิ์อยู่กับพื้น โดยมีรปภ.ควบคุมตัวไว้ เป็นไปได้อย่างไรที่รปภ.คนเดียวจะสามารถต่อสู้กับคนร้ายที่มีอาวุธครบมือเช่นนั้นได้ มาช่วยกันไขปริศนาที่อยู่ในภาพจากสถานที่เกิดเหตุ และสืบต่ออย่างเข้มข้นไปกับคดีสะเทือนใจคนไทยทั้งชาติใน “ห้องคดีช้างไทย” เมื่อช้างซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำชาติไทยหายสาบสูญไป หลงเหลือไว้เพียงรอยเท้าให้คอยติดตามไปทุกย่างก้าวว่าช้างหายไปไหน และในห้องสุดท้ายของนิทรรศการยังปรากฎคดีปริศนาอีกมากมายที่ไม่สามารถคลี่คลายได้ ทั้งที่เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวของเอกลักษณ์ วิถีแบบไทย และสมบัติของชาติทั้งสิ้นนางสาวพิชชาพร แสงชัยทวีรักษ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ความสนุกที่ซุกซ่อนอยู่ในนิทรรศการอย่าลืมฉันคือ คำเฉลยท้ายเหตุการณ์อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ว่าคนไทยกำลังลืมอะไร
“วิธีชมนิทรรศการชุดนี้คือผู้ชมต้องสวมบทนักสืบค้นหาความจริงจากเบาะแสที่มี ซึ่งนักสืบต้องกระทำการบางอย่างกับเบาะแสนั้น เช่น สวมแว่นนิรภัยเพื่ออ่านข้อความล่องหน หรือการเดินตามเงาปริศนาไปยังที่ต่างๆ แม้จะได้คำตอบว่าเป็นสมุนไพรไทย มวยไทย และช้างไทย แต่ผู้ชมจะรู้ทันทีว่าสิ่งที่ถูกละเลยอย่างแท้จริง นั่นคือคุณค่าและความสำคัญของทั้ง 3 สิ่งที่ผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมายาวนาน ซึ่งได้อธิบายไว้ในเบาะแสอย่างหมดเปลือกเรียบร้อยแล้ว” น.ส.พิชชาพรกล่าว
ด้าน นางสาวณัฏศิญาพร นรินทรางกูล ณ อยุธยา กล่าวสรุปถึงความคาดหวังจากการสร้างสรรค์นิทรรศการคือ การกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ทุกคนซึ่งต่างภาคภูมิใจที่ได้เกิดเป็นคนไทย ได้ฉุกคิดและหันกลับมามองเห็นคุณค่าความสำคัญของวิถีความเป็นไทยและเอกลักษณ์ไทยมากขึ้น
“ภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ที่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกวันนี้ คือสมบัติชาติที่เป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ถึงแม้วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ฯลฯ จะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่หากเราศึกษาทำความเข้าใจกับในรากเหง้าของตนเองให้ลึกซึ้งถึงประโยชน์แก่นแท้ ก็จะสามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำเนินชีวิตยุคปัจจุบันได้ และในฐานะคนไทยยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อประเทศชาติด้วยการสืบทอดสมบัติชาติไทยให้ยั่งยืน” น.ส.ณัฎศิญาพร สรุป
ร่วมสืบหา “ความเป็นไทยที่ถูกละเลย” จนอาจหลงลืมคุณค่าและความสำคัญ ผ่านนิทรรศการ “อย่าลืมฉัน” ตั้งแต่วันนี้ ถึง 29 มิถุนายน 2557 ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. ณ. ห้องนิทรรศการชั่วคราว มิวเซียมสยาม ท่าเตียน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร.02-225-2777 ต่อ 123 หรือ www.museumsiam.org
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit