“อย่าลืมฉัน” นิทรรศการเชิงสืบสวน ชวนค้นหา “2020 เห็นอะไรในสยาม” กระตุกคิด-สะกิดใจ เมื่อ “ความภูมิใจ-ภูมิปัญญา-เอกลักษณ์ไทย” ถูกละเลย!

23 Jun 2014
สถาบันพิพิธภัณ์การเรียนรู้แห่งชาติ(สพร.) และมิวเซียมสยาม ชวนกระตุกต่อมคิดกับนิทรรศการเชิงสืบสวนสอบสวน “อย่าลืมฉัน” ร่วมค้นหาความจริงเมื่อ “ความภูมิใจ-ภูมิปัญญาไทย-เอกลักษณ์ไทย” กำลังถูกละเลยจนอาจไม่เหลือความทรงจำไว้ให้คนรุ่นใหม่ได้ภาคภูมิใจในมรดกของชาติไทยอีกต่อไป
“อย่าลืมฉัน” นิทรรศการเชิงสืบสวน ชวนค้นหา “2020 เห็นอะไรในสยาม” กระตุกคิด-สะกิดใจ เมื่อ “ความภูมิใจ-ภูมิปัญญา-เอกลักษณ์ไทย” ถูกละเลย!

อย่าลืมฉันนิทรรศการเชิงสืบสวนที่เกิดขึ้นจากไอเดียและแนวคิดการนำเสนอสุดล้ำของกลุ่มเยาวชน จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ชนะเลิศจากประกวดภายใต้โครงการ “ปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยาม ครั้งที่ 4” หรือ Young Muse Project ที่จัดขึ้นโดย สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ มาอย่างต่อเนื่องนับเป็นเป็นปีที่ 4 ภายใต้โจทย์หรือหัวข้อ “สยาม 2020 เห็นอะไรในอนาคต” เพื่อเปิดมุมมองการเรียนรู้ “Play & Learn” ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่

นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ กล่าวถึงนิทรรศการ “อย่าลืมฉัน” ของกลุ่มเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกจากโครงการ Young Muse Project ว่า มีเรื่องราวและเนื้อหาที่สอดคล้องกับนิทรรศการถาวรของ “มิวเซียมสยาม” ที่นำเสนอมุมมองและเรื่องราวชวนคิดในหัวข้อ “อะไรคือไทยแท้” โดยมีรูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจ สอดแทรกสาระความรู้ผ่านการสืบสวนสอบสวนค้นหาความจริง สร้างให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวนิทรรศการกับผู้ชมได้เป็นอย่างดี

“จากการทำโครงการปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยามอย่างต่อเนื่องมา 4 ปี จะพบว่าเยาวชนนักพิพิธภัณฑ์รุ่นใหม่มีพัฒนาการในการทำงานที่ดีขึ้นมากโดยลำดับ มีการค้นคว้าหาข้อมูลอย่าละเอียดลึกซึ้ง มีการวิเคราะห์ต่อยอด และมีรูปแบบการนำเสนอที่สวยงามและน่าชมมากยิ่งขึ้น โดยนิทรรศการชุดนี้ได้หยิบยกเรื่องของความเป็นไทยใน 3 ประเด็นคือ สมุนไพรไทย มวยไทย และช้างไทย ที่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็น วิถีไทยที่เป็นทั้งความภาคภูมิใจ ภูมิปัญญาไทย และเอกลักษณ์ไทย มานำเสนอในเชิงสืบสวนเพื่อที่จะกระตุกต่อมคิดให้คนไทยทุกคนอย่ามองข้ามหรือหลงลืมรากเหง้าของความเป็นไทย เพราะสิ่งเหล่านี้คือมรดกล้ำค่าที่สะท้อนความเป็นไทยได้อย่างชัดแจ้ง” นายราเมศกล่าว

สำหรับนิทรรศการเชิงสืบสวนสอบสวนชวนให้ขบคิด “อย่าลืมฉัน” เป็นผลงานของเยาวชนนักศึกษาจาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ประกอบไปด้วย นายอรัญ รมยานนท์ นางสาวพิชชาพร แสงชัยทวีรักษ์ และ นางสาวณัฏศิญาพร นรินทรางกูล ณ อยุธยา ที่ได้ร่วมกันต่อยอดแนวคิดการประกวด Young Muse Project จากโจทย์ “สยาม 2020 เห็นอะไรในอนาคต” ไปสู่ชุดนิทรรศการที่จะช่วยกระตุ้นเตือนให้คนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้ฉุกคิดและหันกลับมามองเห็นคุณค่าความสำคัญของวิถีความเป็นไทยและเอกลักษณ์ไทย แล้วศึกษาทำความเข้าใจกับในรากเหง้าของตนเองให้ลึกซึ้งถึงประโยชน์แก่นแท้ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อันจะเป็นแนวทางการสืบทอดสมบัติชาติไทยที่ยั่งยืนอีกทางหนึ่งด้วย

โดยผู้ชมจะต้องทำหน้าที่เป็น “นักสืบ” และรับมอบ “แฟ้มคดี” เพื่อสืบเรื่องราวปริศนาซ่อนเงื่อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับ “ภาคภูมิใจ ภูมิปัญญาไทย และเอกลักษณ์ไทย” ผ่าน 3 คดีสำคัญระดับชาติ ได้แก่ “ห้องคดีสมุนไพร” เมื่อมนุษย์อาจถึงคราวสิ้นสุดจากการระบาดของโรคร้ายแรง แต่นักวิทยาศาสตร์กลับพบว่าประเทศไทยมีสารตั้งต้นของตัวยาสำคัญที่จะช่วยให้มนุษย์รอดพ้นจากโรคร้ายครั้งนี้ได้ สุดท้ายสารตั้งต้นตัวนี้จะตกไปอยู่ในมือของใคร แล้วคนไทยจะเก็บรักษาสารตั้งต้นนี้ไว้ได้ทันหรือไม่ เป็นหน้าที่ชอบผู้ชมที่ต้องช่วยหาคำตอบ ตามมาด้วย “ห้องคดีมวยไทย” เมื่อธนาคารสมบัติแห่งชาติที่ใช้เก็บรักษาเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของไทย ถูกคนร้ายบุกรุกเข้าไปขโมยสมบัติชิ้นหนึ่งในห้องนิรภัย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปถึง กลับพบว่าคนร้ายนอนสลบสิ้นฤทธิ์อยู่กับพื้น โดยมีรปภ.ควบคุมตัวไว้ เป็นไปได้อย่างไรที่รปภ.คนเดียวจะสามารถต่อสู้กับคนร้ายที่มีอาวุธครบมือเช่นนั้นได้ มาช่วยกันไขปริศนาที่อยู่ในภาพจากสถานที่เกิดเหตุ และสืบต่ออย่างเข้มข้นไปกับคดีสะเทือนใจคนไทยทั้งชาติใน “ห้องคดีช้างไทย” เมื่อช้างซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำชาติไทยหายสาบสูญไป หลงเหลือไว้เพียงรอยเท้าให้คอยติดตามไปทุกย่างก้าวว่าช้างหายไปไหน และในห้องสุดท้ายของนิทรรศการยังปรากฎคดีปริศนาอีกมากมายที่ไม่สามารถคลี่คลายได้ ทั้งที่เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวของเอกลักษณ์ วิถีแบบไทย และสมบัติของชาติทั้งสิ้น

นายอรัญ รมยานนท์ หรือ “แอล” กล่าวว่าเข้าร่วมโครงการ Young Muse Project ทำให้ได้เรียนรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์มากมาย ทั้งวิธีคิด และวิธีการถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นเนื้อหาให้ผู้ชมเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการสื่อสารออกมาได้โดยง่าย รวมไปถึงจัดนิทรรศการแบบครีเอทีฟ โดยนิทรรศการ “อย่าลืมฉัน”ต้องการที่จะสะท้อนให้ผู้ชมได้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของรากเหง้าและภูมิปัญญาไทย ที่คนไทยทุกคนควรที่จะ “รู้จัก” แบบ “รู้จริง” ไม่ใช่เพียงแค่การจำว่าสิ่งเหล่านี้คือเอกลักษณ์ของความเป็นไทย

“จากหัวข้อการประกวด YMP 4 เรื่อง สยาม 2020 เห็นอะไรในอนาคต สิ่งที่เรามองเห็นโดยดูจากสถานการณ์ปัจจุบันก็คือภูมิปัญญาไทยหลายๆ อย่างกำลังถูกละเลยไป กลายเป็นความเข้าใจที่ผิดเพี้ยน และตื่นตูมด้วยการแก้ปัญหาหรือดูแลภูมิปัญญาเหล่านี้แบบวัวหายล้อมคอก รู้ว่าดี รู้ว่าเป็นของไทย แต่กลับไม่รู้ถึงเรื่องราวความเป็นมาและคุณค่าที่แท้จริงเป็นอย่างไร นิทรรศการอย่าลืมฉันต้องการให้ผู้ชมรู้สึกว่า สาเหตุที่ต่างชาติให้ความสนใจต่อยอดใช้ประโยชน์ในเอกลักษณ์หรือภูมิปัญญาไทยนั้น เป็นเพราะตัวของเราเองหรือเปล่าที่ละเลยคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ไป เรารู้สึกว่ามันเป็นของไทยแต่เราได้ใช้มันให้เป็นประโยชน์หรือไม่” น้องแอลกล่าว

นางสาวพิชชาพร แสงชัยทวีรักษ์ หรือ “มิว” กล่าวว่าแนวคิดในการจัดทำนิทรรศการชุดนี้มาจากกระแสข่าวในสังคมออนไลน์ที่พูดคุยกันถึงเอกลักษณ์หรือภูมิปัญญาไทยต่างๆ ที่ถูกต่างชาตินำไปจดทะเบียนเป็นเจ้าของ ทำให้รู้สึกไม่พอใจ แต่กลับหาคำตอบไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้มีความหมายอย่างไร

“อยากให้คนดูได้ฉุกคิดว่าวิถีแบบไทยและภูมิปัญญาที่อยู่คู่คนไทยมาตั้งแต่โบราณกาล แฝงไว้ด้วยองค์ความรู้มากมายแอบซ่อนอยู่ ซึ่งสิ่งที่เราได้รู้ได้ฟังจากข่าวสารต่างๆ นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวเท่านั้น ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ภูมิปัญญาเหล่านี้กำลังถูกละเลยไป เพราะเราไม่รู้ถึงความหมายที่แท้จริงและลึกซึ้ง จึงไม่เกิดการนำมาปรับใช้ในวิถีชีวิตยุคปัจจุบัน” น้องมิวเล่าถึงแรงบันดาลใจ

ด้าน นางสาวณัฏศิญาพร นรินทรางกูล ณ อยุธยา หรือ “น้องหมิว” เล่าถึงหัวใจสำคัญของนิทรรศการชุดนี้ว่า คดีสำคัญทั้ง 3 คดี เป็นส่วนหนึ่งของตัวแทนด้านภูมิปัญญาและความภาคภูมิใจที่ผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมายาวนาน ซึ่งล้วนมีคุณค่าและยังคงเป็นสมบัติของชาติไทยอย่างแน่แท้ แต่การเฝ้าหวงแหนและครอบครองไว้โดยปราศจากการศึกษาให้ละเอียดลึกซึ้งเพื่อนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ ก็ไม่ต่างจากการทอดทิ้งตัวตนของคนไทยเอง

“รูปแบบการชมนิทรรศการจะแนะนำให้ผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุต่างๆ ที่จัดแสดง เป็นการสื่อความหมายว่า เราจะได้รู้จักและเข้าใจว่าความภาคภูมิใจที่พูดกันมาตลอดนั้นมีรูปแบบที่แท้จริงอย่างไร จากการได้สัมผัสและลองปฏิบัติตามอย่างถูกวิธี ซึ่งความเข้าใจที่ถ่องแท้จะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสืบทอดภูมิปัญญาและความภาคภูมิใจให้คงอยู่สืบไป” น้องหมิวอธิบายสรุป

ร่วมสืบหา “ความเป็นไทยที่ถูกละเลย” ผ่านนิทรรศการ “อย่าลืมฉัน” ตั้งแต่วันนี้ ถึง 29 มิถุนายน 2557 ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. ณ. ห้องนิทรรศการชั่วคราว มิวเซียมสยาม ท่าเตียน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร.02-225-2777 ต่อ 123 หรือ www.facebook.com/museumsiamfan และ www.museumsiam.org