นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า สำหรับปี 2557 สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอยังคงเดินหน้าสานต่อโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะที่ 2 โดยกำหนดยุทธศาสตร์ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคมใต้ คือ สงขลา ยะลา ปัตตานี สตูล และนราธิวาส ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิม โดยการพัฒนาองค์ความรู้ทั้งด้านการออกแบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี รวมถึงการขยายช่องทางและโอกาสทางการตลาดในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการพัฒนารากฐานความรู้และทักษะให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะโดยใช้แนวคิดจากประเพณี ศิลปะ และวัฒนธรรมของภาคใต้มาสร้างสรรค์ผลงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่มีความแตกต่าง โดยหวังพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีความพร้อมต่อการลงแข่งขันในตลาด AEC
นางสุทธินีย์ กล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์การส่งเสริมผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้พร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจึงทวีความสำคัญมากขึ้น อย่างไรก็ตามด้วยประเทศไทยมีความได้เปรียบจากปัจจัยหลายประการ อาทิ การเป็นศูนย์กลางทางด้านทำเลที่ตั้ง การคมนาคมขนส่ง ปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์ และแรงงานมีฝีมือที่มีความโดดเด่น จึงเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางสิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุลสิมของอาเซียนได้ไม่ยาก
ทั้งนี้ทางสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอจึงดำเนินงานภายใต้โครงการ “พัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะที่ 2” เพื่อเป็นการต่อยอดสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมสู่เชิงพาณิชย์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการเครื่องแต่งกายมุสลิม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถสร้างสรรค์ผลงานตอบโจทย์ผู้บริโภคในระดับสากล และมีความพร้อมในการแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และก้าวเข้าสู่การเป็นการศูนย์กลางและฐานผลิตผลิตภัณฑ์แฟชั่นมุสลิมของภูมิภาคในอนาคต
โดยในช่วง 4 เดือนแรก(ม.ค.-เม.ย.) ของปี 2557 การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยมีมูลค่า 2,423.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 0.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดอาเซียนที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดถึง 511.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 3.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด คือผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออก 483.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.82 เป็นผลมาจากผ้าผืนทำจากฝ้ายและผ้าผืนที่ทำจากเส้นใยประดิษฐ์ ลดลง 11.95 และ 4.68 ตามลำดับ สำหรับในประเทศสิงคโปร์ การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปสิงคโปร์ เดือนมกราคม-เมษายน 2557 มีมูลค่า 31.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวลดลงร้อยละ 10.6 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 สินค้าหลักที่ส่งออกได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม และผ้าผืน โดยเครื่องนุ่งห่มมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 สินค้าสำคัญคือคือ เสื้อทีเชิ้ต ประชากรมุสลิมทั่วโลกมีจำนวนถึง 2.08 พันล้านคน คิดเป็น 28.26 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรโลก ซึ่งมีมูลค่าตลาดของเครื่องแต่งกายมุสลิมรวมที่ 96 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอาเซียนมีประชากรมุสลิมกว่า 264 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 43.22 ของประชากรทั้งหมดในประเทศอาเซียน หรือร้อยละ 13 ของประชากรมุสลิมทั้งหมด มีมูลค่าตลาดของเครื่องแต่งกายมุสลิม 15.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในสิงคโปร์มีประชากรมุสลิมกว่า 0.84 ล้านคน มีมูลค่าตลาดเครื่องแต่งกายมุสลิม 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในไทยมีประชากรมุสลิม 6.62 ล้านคน มีมูลค่าตลาดของเครื่องแต่งกายมุสลิม 390 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นางสุทธินีย์ กล่าวสรุป
สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมฯ ได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 พระโขนง คลองเตย กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2713 5492 – 9 ต่อ 224 หรือเข้าไปที่ www.muslim-thti.org , www.thaitextile.org/muslim
HTML::image( HTML::image( HTML::image(