ที่โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ พระราม 3 กรุงเทพมหานคร นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงข่าวกิจกรรมรณรงค์วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ประจำปี 2557 พร้อมด้วยพระครูปลัดสัมพิพัฒนปัญญาจารย์ ผู้แทนด้านศาสนา นายแพทย์บัณฑิต ศรไพศาล ผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆ
นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการศึกษาปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรของสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ปี 2556 ที่ผ่านมา ร้อยละ 70.9 ตรวจพบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด และร้อยละ 60.1 มีระดับแอลกอฮอล์เกินระดับที่กฎหมายกำหนด(เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) ในจำนวนนี้ส่วนมากมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดขณะเสียชีวิตสูงถึง 189 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือสูงเกือบสี่เท่าของที่กฎหมายกำหนด และที่น่าเป็นห่วงคือ มีเยาวชนอายุน้อยกว่า 20 ปี ที่เสียชีวิตร้อยละ 56 ดื่มสุราก่อนเสียชีวิตและมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเฉลี่ยถึง 139 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ในส่วนของประเทศไทย ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1.ด้านการควบคุมการเข้าถึงทางเศรษฐศาสตร์และทางกายภาพ 2.ด้านการปรับเปลี่ยนค่านิยมและแรงสนับสนุนในการดื่ม 3.ด้านการลดอันตรายจากการบริโภค 4.ด้านการจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ในระดับพื้นที่ และ5.ด้านการพัฒนากลไก การจัดการและสนับสนุนที่เข้มแข็ง สำหรับกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการกำหนดมาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย โดยการผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งมีเจตนารมณ์ในการป้องกันควบคุมผลกระทบในทุกมิติที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อคุ้มครองเยาวชน และปกป้องประชาชนโดยทั่วไป
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจของเอแบคโพล โดยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุ 11 – 60 ปี ทั่วประเทส จำนวนรวมทั้งสิ้น 5,045 ตัวอย่าง พบว่า คนไทยรับรู้ว่ามีกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนา ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ถึงร้อยละ 91.40 และยังมีข้อเสนอแนะให้งดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มเติมในทุกวันพระ กับในเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ด้วย นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคได้สำรวจทัศนคติความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับโรคและภัยสุขภาพ DDC Poll (ดีดีซีโพล) ครั้งที่ 7 “เข้าพรรษา ลดเสี่ยง (อ้วน สูบบุหรี่ ดื่มสุรา)” โดยการสำรวจทั้งหมด 3,245 ตัวอย่าง ช่วงอายุ 15 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และส่วนภูมิภาค 4 ภาค รวม 24 จังหวัด พบว่า ในเพศชายร้อยละ 72.44 มีพฤติกรรมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าเพศหญิง และเพศชายร้อยละ 70.52 คิดว่าตั้งใจจะลดพฤติกรรมเสี่ยงการดื่มสุราในช่วงเข้าพรรษาปีนี้ จึงขอเชิญชวนชาวไทยทุกคนทำความดี ด้วยการงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา โดยประชาชนทุกคนสามารถร่วมลงนามปฏิญาณตนเข้าพรรษา งดสุรา ยาสูบ ทำความดีถวายในหลวง ได้ตั่งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ที่หน่วยงานราชการ ศาสนสถาน สถานศึกษา และโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะทำการรวบรวมรายชื่อทั้งหมดขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป
ด้านพระครูปลัดสัมพิพัฒนปัญญาจารย์ ผู้แทนด้านศาสนา กล่าวว่า ในโอกาสที่วันเข้าพรรษา เป็นวันที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้ประกาศเป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ในทางพระพุทธศาสนา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า สุราเป็นอบายมุข เป็นปากทางแห่งความเสื่อม และทรงแสดงโทษของการดื่มสุราไว้ 6 ประการ คือ 1.ทำให้เสียทรัพย์ 2.ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท 3.ทำให้เกิดโรคหลายอย่าง 4.ทำให้เสียชื่อเสียง 5.ทำให้ขาดความละอาย และ 6.ทำให้สติปัญญาเสื่อมถอย ซึ่งการงดดื่มสุรา เป็นการสร้างความรัก สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ทรัพย์ ไมตรี สุขภาพเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และสติปัญญา นับเป็นบุญกุศลให้กับตนเองและสังคม
ส่วนนายแพทย์บัณฑิต ศรไพศาล ผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2554 พบว่าเยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยง โดยมีอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 31.5 ลดลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ ปี 2544 ซึ่งเยาวชนมีอัตราการดื่มอยู่ที่ร้อยละ 32.7 อายุเฉลี่ยของการเริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ 20.4 ปี จำแนกเป็นเพศชายเริ่มดื่มที่อายุ 19.4 ปี และเพศหญิงเริ่มที่ 24.5 ปี มีข้อสังเกตว่าประชาชนกลุ่มอายุน้อยมีแนวโน้มเริ่มดื่มเร็วกว่าประชาชนในกลุ่มอายุมากกว่าโดยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดื่มของเยาวชน ประกอบด้วยปัจจัยหลัก เช่น ค่านิยมของสังคมในการเปิดรับสื่อโฆษณา กระตุ้นให้เยาวชนอยากรู้อยากลอง สถานการณ์ในครอบครัว เพื่อน และชุมชนที่เอื้อต่อการดื่มของเยาวชน และการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่าย เป็นต้น
นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอความร่วมมือหน่วยงานราชการ และภาคีเครือข่ายทุกหน่วยงาน ดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบจาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยต้องอาศัยการบูรณาการแผนงานเพื่อให้สอดประสานไปในทิศทางเดียวกัน และมีการส่งเสริมจรรยาบรรณขององค์กรด้านธุรกิจ ร่วมกันให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ถึงมาตรการการกำหนด วันเวลา สถานที่ในการห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กับห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ รวมถึงกิจกรรมการโฆษณาส่งเสริมการตลาดที่ผิดกฎหมายด้วย
ส่วนกิจกรรมรณรงค์วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ประจำปี 2557 ครั้งนี้ จัดขึ้นในวันพุธ ที่ 9 กรกฎาคม 2557 เวลา 11.00 - 17.00 น. ณ บริเวณศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โซนอีเดน ชั้น 1 เขตปทุมวันกรุงเทพมหานคร กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่หน่วยงานและบุคคลที่อุทิศตนเพื่อดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บูธนิทรรศการและบูธของหน่วยงานต่างๆ การแสดงบนเวที และการเสวนาเรื่อง “เยาวชนไทยรุ่นใหม่ กับภัยแอลกอฮอล์” หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โทร 02 590 3392 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit