รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ ประธานศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการร่างหลักสูตรโตไปไม่โกง เล่าให้ฟังว่า โครงการโตไปไม่โกง นี้เกิดขึ้นจากการที่กรุงเทพมหานครได้ขอความร่วมมือให้ศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคมฯ จัดทำหลักสูตรโตไปไม่โกงขึ้น โดยหลักสูตรจะเน้นการปลูกฝังค่านิยม 5 ประการ ได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความเป็นธรรมทางสังคม การมีจิตสาธารณะ กระทำอย่างรับผิดชอบ และเป็นอยู่อย่างพอเพียง ซึ่งในปีแรกของการดำเนินโครงการนั้น จะเริ่มที่นักเรียนระดับอนุบาล และขยายโครงการไปสู่ระดับชั้นที่สูงขึ้นตามลำดับ จนขณะนี้สามารถขยายโครงการสู่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
รูปแบบหลักสูตรจะเป็นการเรียนคุณธรรม จริยธรรมผ่านกิจกรรม ให้นักเรียนมีส่วนร่วมเพื่อให้ได้รับประสบการณ์โดยตรง เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน กระตุ้นให้เกิดความสนใจ ไม่เบื่อหน่าย ผ่านการคิดวิเคราะห์และเกิดการซึมซับความรู้ จนปลูกฝังเข้าไปในจิตสำนึกในที่สุด ซึ่งในทุกระดับชั้นทางศูนย์ฯ จะทำการฝึกอบรมคุณครูเพื่อให้เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับนักเรียน โดยที่ผ่านมา ทางศูนย์ฯได้ทำการอบรมครูระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครไปแล้วกว่า 5,000 คน รวมถึงการขยายเครือข่ายการอบรมไปยังครูโรงเรียนในเครือสภาการศึกษาคาทอลิก จำนวน 1,300 คน นอกจากนี้ยังมีครูโรงเรียนต่างๆ จากสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สังกัดตำรวจตระเวนชายแดน สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอื่นๆ
สำหรับโครงการโตไปไม่โกง ในปีนี้ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 มีการขยายโครงการจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งนักเรียนในกลุ่มนี้เป็นวัยรุ่น ดังนั้นการรับรู้สิ่งใดก็ตามจะต้องรับรู้จากประสบการณ์ของตนเองส่วนหนึ่ง จึงมีการจัดกิจกรรม Day Camp ให้กับนักเรียนมัธยมปลาย จำนวน 9 แห่ง 600 คน เพื่อปลูกฝังค่านิยม 5 ประการ ใช้กลยุทธ์ให้นักเรียนทำกิจกรรมด้วยตนเอง มีวิทยากรให้ความรู้ในเรื่องการประกอบการเพื่อสังคม (Social Enterprise) การรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Campaign for Change) และ การบริการสังคม (Social Engagement) โดยจะมีกิจกรรมฝึกการแสดง การทำภาพยนตร์ เพื่อให้เด็กนำการเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ มาออกแบบเป็นโครงการ “โตไปไม่โกง” และส่งผลงานเข้าประกวดเพื่อชิงทุนการศึกษา
“เป้าหมายสูงสุดของหลักสูตรโตไปไม่โกง คือการทำให้เยาวชนไทยซึ่งเป็นกำลังของชาติในอนาคตได้มีภูมิคุ้มกันต่อต้านคอร์รัปชั่น มนุษย์ทุกคนมีจิตสำนึกในเรื่องคุณธรรม จริยธรรมอยู่ภายในจิตใจ ซึ่งเป็นตัวตัดสินความผิดชอบชั่วดี ดังนั้นเราจึงควรปลูกฝังเรื่องนี้ให้กับเด็กตั้งแต่เล็กเหมือนการฉีดวัคซีน เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันต่อความไม่ดีทั้งหลายที่เกิดขึ้นในชีวิตและสังคม ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการไม่มีจิตสำนึกในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม การไม่รู้จักพอเพียง การไม่รู้จักการใช้ชีวิตอย่างพอประมาณ และการไม่มีสติในการดำรงชีวิต” รศ.ดร.จุรี กล่าว
ด้าน น.ส.ขวัญเรือน เนียมอ่ำ (กุ๊ก) นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนแก่นทองอุปถัมภ์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม Day Camp เล่าให้ฟังว่า ที่โรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรนี้มา 2 ปีแล้ว โครงการนี้มีประโยชน์สอนเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ควบคู่กับการทำกิจกรรม ทำให้เด็กที่ได้เรียนเข้าใจเรื่องนี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตนคิดว่าสิ่งแรกที่ตนและเพื่อนๆ ได้รับจากการเรียน คือเรื่องของความซื่อสัตย์ สุจริต ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคต เพราะหากเด็กทุกคนในวันนี้มีความซื่อสัตย์เป็นที่ตั้งประเทศไทยก็จะปราศจากการโกงนายอธิน และสุวรรณ (ฟร๊อง) นักเรียนชั้น ม. 4 โรงเรียนมัธยมสุวิทย์เสรีอนุสรณ์ กล่าวว่า การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ทำให้ตนเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มขึ้น ไม่ใช่จะเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องยึดปฏิบัติเท่านั้น แต่ในฐานะที่ตนเป็นนักเรียนก็สามารถดำเนินชีวิตตามทฤษฎีนี้ได้ คือการรู้จักอดออม ไม่ฟุ่มเฟือย ซื้อสิ่งของเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น นอกจากนี้ยังได้ในเรื่องของการมีสติที่จะยั้งคิดในการดำเนินกิจกรรมใดๆ ก็ตาม
นายสินธร ดีษะเกตุ (ก๊อต) นักเรียนชั้น ม. 4 โรงเรียนมัธยมสุวิทย์เสรีอนุสรณ์ กล่าวว่า ค่านิยม 5 ประการที่ตนได้เรียนในครั้งนี้ สิ่งที่ใกล้เคียงและสามารถนำไปประพฤติปฏิบัติได้ทันที คือการกระทำอย่างรับผิดชอบ และทุกการกระทำจะต้องควบคู่กับความซื่อสัตย์ สุจริต ซึ่งตนจะนำค่านิยมทั้ง 2 ข้อนี้มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตของตน เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเองมากที่สุด คนในสังคมทุกวันนี้ มองว่าถ้ามีแนวความคิด 2 ข้อนี้ในการดำเนินชีวิต ปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นก็จะมีน้อย หรือแทบไม่มีเลย ดังนั้น ทุกคนจึงควรตระหนักในหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองเป็นสิ่งสำคัญ
น.ส.ลินดา อังกุลดี (ดา) นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมัธยมนาคนาวาอุปถัมภ์ กล่าวว่า หลายๆ คนอาจมองข้ามเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากเราอยู่ในสังคมที่เล็กๆ เรื่องนี้อาจไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย แต่หากไปสู่สังคมเมือง หรือประเทศ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้น จึงควรเริ่มปลูกฝังเรื่องนี้ให้กับเยาวชนตั้งแต่เด็ก เพื่อเป็นรากฐานในการดำเนินชีวิตในวันข้างหน้า
ทั้งหมดนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการบ่มเพาะกล้าไม้ที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในอนาคต ให้เป็นคนที่มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ต่อสังคม วันนี้อาจเริ่มต้นได้เพียงกลุ่มเล็กๆ แต่กลุ่มเล็กๆ เหล่านี้จะเป็นกระบอกเสียงที่จะส่งต่อค่านิยม 5 ประการไปยังครอบครัวและชุมชน และหากทุกคนสามารถปฏิบัติตามได้ประเทศของเราของเราก็จะเกิดความสามัคคี ไร้ปัญหา ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit