นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ตำบลทรายขาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ก่อให้เกิดความเสียหายในพื้นที่เป็นบริเวณกว้างในจังหวัดเชียงรายรวม 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพาน แม่ลาว แม่สรวย เมืองเชียงราย เวียงชัย ป่าแดด และพญาเม็งราย ทำให้ระดับน้ำใต้ดินบางแห่งลดต่ำกว่าปกติและบางแห่งไม่สามารถใช้บริโภคได้เนื่องจากมีกลิ่นฉุนคล้ายกลิ่นของสารกำมะถันออกมาจากใต้พื้นดิน กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับความเสียหายสูงในอำเภอพาน แม่ลาว และแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม - 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา
สภาพความเสียหายต่อแหล่งน้ำบาดาลพบว่า มีทรายพุขึ้นมาในบ่อน้ำตื้น ทำให้ระดับน้ำในบ่อลดลง บ่อมีการยุบตัว และบางบ่อมีกลิ่นเหม็น ชาวบ้านไม่กล้าใช้ บางพื้นที่พบว่าถังเก็บปฏิกูลในห้องสุขาของแต่ละครัวเรือน รวมถึงวัสดุปูพื้นของแหล่งฝังกลบขยะประจำชุมชนที่อยู่ในระดับเดียวกับชั้นน้ำบาดาลระดับตื้นได้รับความเสียหายและมีรอยรั่ว ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อแหล่งน้ำบาดาลระดับตื้นที่ชาวบ้านขุดบ่อไว้ใช้ และมีโอกาสที่จะซึมลงสู่แหล่งน้ำบาดาลระดับลึกได้ หากชั้นหินแข็งที่รองรับอยู่มีรอยแตกรอยแยกที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากแผ่นดินไหว
ทั้งนี้ จากการเก็บตัวอย่างน้ำจากบ่อน้ำตื้นและบ่อน้ำบาดาลของชาวบ้านในพื้นที่ไปตรวจสอบ จำนวน 137 ตัวอย่าง พบว่าส่วนใหญ่คุณภาพน้ำบาดาลทางด้านเคมีอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นบ่อน้ำตื้นที่มีทรายไหลเข้าบ่อเท่านั้นที่มีความขุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานน้ำบาดาลที่จะใช้บริโภค สำหรับผลการวิเคราะห์ตัวอย่างบ่อน้ำตื้นที่มีกลิ่นเหม็นไม่พบซัลไฟด์หรือกำมะถัน สันนิษฐานว่ากลิ่นเหม็นอาจเป็นกลิ่นก๊าซที่เกิดจากกระบวนการหมักของเสีย สิ่งปฏิกูลที่ไหลรั่วของแต่ละครัวเรือน ไม่ใช่กลิ่นกำมะถันอย่างที่ประชาชนเข้าใจ โดยสอดคล้องกับผลวิเคราะห์คุณภาพน้ำทางแบคทีเรียของบ่อน้ำตื้นที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย อี.โคไล (E.coli) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่าปนเปื้อนมาจากสิ่งปฏิกูล
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีที่ชาวบ้านจะขุดบ่อน้ำตื้นเพื่อนำน้ำขึ้นมาอุปโภคบริโภคในระยะนี้ควรมีการเก็บตัวอย่างน้ำจากบ่อน้ำตื้นส่งให้ทางราชการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ ทั้งทางด้านกายภาพ เคมี และแบคทีเรีย ก่อนที่จะนำมาอุปโภคบริโภคเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบ่อน้ำตื้น นอกจากนี้แผ่นดินบริเวณแนวแตกแนวแยกที่มีทรายพุ รวมถึงบ่อน้ำตื้นของชาวบ้านที่มีทรายพุเต็มบ่อ มีโอกาสทรุดตัวได้ในอนาคต เนื่องจากชั้นน้ำบาดาลระดับตื้นมีความอ่อนตัวสูง จึงควรระมัดระวังในการฟื้นฟูบ่อน้ำตื้นดังกล่าว
สำหรับการปนเปื้อนของแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ติดตาม เฝ้าระวังทั้งในด้านคุณภาพน้ำและปริมาณน้ำไว้แล้ว และได้ดำเนินการก่อสร้างสถานีเครือข่ายสังเกตการณ์ เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำบาดาล และทำการสำรวจสภาพทางอุทกธรณีวิทยา รวมถึงศึกษาผลกระทบต่อแหล่งน้ำบาดาล โดยละเอียดต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit