ย้อนรอยที่มาปลาป่น กับการทำประมงที่ยั่งยืน

09 Jul 2014
ปลาป่น” เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการอบแห้งปลาสด และส่วนใหญ่จะใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ โดยเฉพาะอาหารสัตว์น้ำจะมีปลาป่นเป็นองค์ประกอบประมาณ ร้อยละ 7 - 10 แต่ในอาหารสัตว์บางชนิดจำเป็นต้องใช้ปลาป่นเป็นส่วนผสมถึง ร้อยละ 20 - 30 เพื่อให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของสัตว์ เช่น ในอาหารกุ้ง เป็นต้น ส่วนขั้นตอนวิธีการกว่าจะได้มาซึ่งปลาป่นคุณภาพ จะเป็นอย่างไรวันนี้จะพาท่านผู้อ่านไปย้อนรอยกัน

เริ่มจากการออกเรือของผู้ประกอบการประมงใน 23 จังหวัด ทั้งในแถบอันดามันและฝั่งอ่าวไทย โดยระบบฐานข้อมูลเรือประมงไทย จากสำนักวิจัยและพัฒนาประมงทะเล กรมประมง ระบุว่า มีเรือประมงกระจายอยู่ใน 23 จังหวัด มากถึง 57,141 ลำ เป็นเรือที่จดอาชญาบัตรเครื่องมือทำการประมง รวม 18,089 ลำ (ข้อมูลจากศูนย์สารสนเทศ กรมประมง) ที่เหลือส่วนมากเป็นเรือขนาดเล็กและเรือประมงพื้นบ้าน ที่ใช้เครื่องมือประมงเป็นเครื่องมือนอกพิกัด โดยชาวประมงต้องขอจดทะเบียนผู้ประกอบอาชีพการทำประมง ซึ่งปริมาณการจับสัตว์น้ำเค็มจากแหล่งธรรมชาติของเรือร่วม 5 หมื่นลำดังกล่าว เมื่อปี 2554 ประมาณ 1,610,400 ตัน ในจำนวนนี้เป็นปลา 1,273,700 ตัน ประกอบด้วยปลาเบญจพรรณ (Food Fish) สำหรับคนบริโภค อยู่ 917,900 ตัน ส่วนอีก 355,800 ตัน เป็นปลาเป็ด (by-catch Fish) หรือที่ชาวเรือเรียกว่า ปลาเรือ ซึ่งเป็นปลาที่คนไม่นิยมรับประทาน หรือไม่ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ ปลาเหล่านี้เองที่จะกลายมาเป็นปลาวัตถุดิบในการทำปลาป่น

ทั้งนี้ กรมประมงให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันการทำประมงในประเทศไทย เป็นการทำประมงในน่านน้ำของประเทศไทยจำนวน 50% อีก 50% ที่เหลือเป็นการทำประมงนอกน่านน้ำของประเทศไทย โดยเรือประมงก็มีหลากหลายประเภท หากจำแนกตามเครื่องมือประมง อาทิ อวนลาก อวนล้อมจับ อวนตา ส่วนการออกเรือก็จะมีรอบการออก หากเป็นเรือเล็ก ก็จะออกรอบละ 15 วัน ส่วนเรือใหญ่จะออกประมาณ 10 วัน บ้างก็ไปนานหลายเดือน โดยจะมีเรือทัวร์หรือเรือลำเล็กคอยขนถ่ายปลาที่จับได้มาส่งที่ฝั่ง บ้างก็เก็บปลาไว้ในท้องเรือแล้วนำขึ้นฝั่งคราวเดียว เมื่อนำปลามาที่ฝั่งแล้ว ที่ท่าปลาจะทำการคัดเอาปลาสำหรับบริโภคลงก่อน การทำงานขั้นตอนนนี้จะต้องแข่งกับเวลา โดยปกติต้องถ่ายเทปลาให้เสร็จใน 10 ชม. ระหว่างนี้จะมีพ่อค้ามาคัดปลาที่ต้องการเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ รวมถึงคนในอุตสาหกรรมปลากระป๋อง และซูริมิ (เนื้อปลาแปรรูป) มารับซื้อปลาเข้าโรงงาน ขณะที่บางเจ้าจะมีโรงงานปลาป่นมารับปลาเป็ดที่ท่าเรือ หรือบางที่เอาเรือเล็กล่องไปรับปลาเรือจากเรือใหญ่เพื่อนำไปทำปลาป่นทันที และโรงงานปลาป่นบางแห่งก็จะให้เรือประมงมาขึ้นปลาที่ท่าของโรงงานเลยก็มีสุดแล้วแต่การประสานงานของแต่ละโรงงาน

สำหรับปลาเป็ดที่จะนำมาทำปลาป่นนั้นก็มีหลายเกรด ปลาที่เกรดดีหน่อย ก็จะได้จากการจับปลาด้วยอวนดำ คือการใช้อวนล้อมจับปลาทั้งฝูง ซึ่งจะจับได้ในช่วงเดือนแรม ปลาที่ได้จะมีคุณภาพดี ส่วนปลาที่ได้จากอวนลาก ด้วยการลากอวนไปที่บริเวณพื้นทะเล จะลากได้ปลาผิวดินปลาหน้าดิน คุณภาพปลาจะรองลงมา และปลาที่จับโดยอวนรุน หรือเรือรุน คุณภาพปลาจะต่ำสุด เนื่องจากปลาจะติดโคลน อย่างไรก็ดีตามกฎหมายแล้วอวนรุนสามารถทำได้แต่ต้องออกเรือหาปลาห่างจากชายฝั่งมากกว่า 3 กม. เพื่อไม่ให้การลงอวนไปทำร้ายปะการังและปลาหน้าดิน

ปัจจุบันไทยมีโรงงานผลิตปลาป่น 86 แห่ง กระจายอยู่ใน 18 จังหวัด โดยจะใช้ปริมาณสัตว์น้ำในการผลิตปลาป่นรวมปีละ 1,287,709 ตัน แบ่งเป็น เศษปลาที่ได้จากโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ (by-product) เช่น โรงงานซูริมิ โรงงานผลิตทูน่ากระป๋อง โรงงานผลิตลูกชิ้นปลา รวม 783,824 ตัน คิดเป็น 61 % ของวัตถุดิบทั้งหมด และเป็นปลาที่จับได้แต่เหลือจากการบริโภคหรืออุตสาหกรรม (by-catch) ได้แก่ ปลาเป็ด 355,813 ตัน หรือ 28% ของวัตถุดิบทั้งหมด รวมถึงเป็นปลาอื่นๆอีก 148,072 ตัน คิดเป็น 11% ของวัตถุดิบทั้งหมด (ข้อมูลจากศูนย์สารสนเทศ กรมประมง) โดยปลาเหล่านี้จะรับซื้อจากเรือประมงหรือพ่อค้าคนกลางในพื้นที่ ซึ่งปริมาณปลาทั้งหมดสามารถผลิตเป็นปลาป่นได้ประมาณ 327,666 ตันต่อปี มีมูลค่า 8,607,529 บาท (คิดจากราคาหน้าโรงงานเฉลี่ยที่ 30.50 บาท) ทั้งนี้ ปลาป่นนับเป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกที่นำเงินตราต่างชาติเข้าประเทศไทย โดยมีประเทศปลายทางที่สำคัญได้แก่ เวียดนาม จีน มาเลเซีย และอินโดนิเซีย ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ในการทำปลาป่นของไทยยังคงมีข้อกังขาเกี่ยวกับที่มาของวัตถุดิบ ที่อาจได้มาจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้จัดทำระบบรับรองปลาป่น ซึ่งเป็นมาตรการด้านความยั่งยืนชุดแรกและมาตรการเดียวของไทย โดยเป็นระบบสมัครใจ มิได้มีการบังคับจากภาครัฐ และระบบการบันทึกยังคงเป็นการรับรองตัวเอง โดยชาวประมงเป็นผู้บันทึกข้อมูล ทั้งจุดจับปลา ประเภทของอุปกรณ์ที่ใช้จับปลา ประเภทของปลาที่จับได้ ลงในสมุดบันทึกการทำประมงด้วยตัวเอง เพื่อให้โรงงานผลิตปลาป่นนำไปใช้ โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรมประมงเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องในการบันทึก นี่จึงยังคงมีช่องโหว่ที่ทำให้ไม่สามารถยืนยันความถูกต้องของข้อมูลได้อย่างแท้จริง เพราะยังขาดแคลนเครื่องมือตรวจสอบ อาทิ ระบบระบุพิกัดผ่านดาวเทียม ที่จะช่วยบอกได้ว่าเรือประมงจับปลาตรงจุดที่รายงานจริงหรือไม่

หากกวาดตามองภาพรวมการทำประมงของไทยแล้ว ยังดีอยู่บ้างที่มีภาคส่วนที่ให้ความสำคัญและดำเนินการเกี่ยวกับมาตรฐานสู่ความยั่งยืน อย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ที่ได้เปิดตัวโครงการ “ทำประมงในอ่าวไทยอย่างยั่งยืน” ครั้งแรก เมื่อเดือนเมษายน 2013 เพื่อคุ้มครองอนาคตของน่านน้ำของประเทศไทยและเพื่อให้ชุมชนชาวประมงสามารถทำมาหากินได้ถึงรุ่นลูกหลาน โครงการของซีพีเอฟนี้ครอบคลุมปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจของการประมงผิดกฎหมาย โดยปัจจุบันได้บรรลุเป้าหมายแผน 10 ประการ (CPF 10 Point Plan) สู่ความยั่งยืน อาทิ การเลือกคู่ค้าหรือซัพพลายเออร์ที่ซื้อวัตถุดิบปลาป่นจากผลพลอยได้ หรือ by-product ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 42% และวางเป้าหมายไว้ที่ 70% ภายในปี 2016 ซึ่งขณะที่ซีพีเอฟกำลังเพิ่มสัดส่วนนี้ การพึ่งปลาที่เหลือจากการจับก็ลดลงเป็นจำนวนมหาศาล โดยมีผู้ค้าปลาป่นรายใหญ่ที่สุดของซีพีเอฟ คือ บริษัท Southeast Asian Packaging and Canning (SEAPAC) ในเครือ บริษัท Kingfisher Group ซึ่งใช้ผลพลอยได้จากทูน่าที่ได้จากมหาสมุทรแปซิฟิคและเป็นบริษัทปลาป่นรายแรกในทวีปเอเชีย ที่ได้รับมาตรฐานรับรองการผลิตที่ดี (GMP+) และการเป็นผู้ค้าที่รับผิดชอบ (responsible supply)

ผลจากการดำเนินมาตรการเพื่อรับรองการทำประมงอย่างถูกต้อง และรับผิดชอบ ภายใต้การตรวจสอบจากกรมประมง มาเป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่าขณะนี้ คู่ค้า 40 จากทั้งหมด 55 รายของบริษัทนี้ได้รับการรับรองภายใต้การตรวจสอบจากกรมประมงว่าด้วยการทำประมงอย่างถูกต้อง ซึ่งกำหนดให้โรงงานผู้ผลิตปลาป่นต้องยื่นเอกสารทั้งหมด รวมถึงเอกสารการซื้อสัตว์น้ำที่จับได้ หนังสือรับรองการจับสัตว์น้ำ คำแถลงของกัปตัน และหนังสือรับรองการทำประมง ซึ่งทั้งหมดคิดเป็น 73% ของคู่ค้าของซีพีเอฟ และได้ตั้งเป้าว่าจะทำให้ได้ 100% ภายในปี 2557 นี้

นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ได้สร้างแรงจูงใจโดยออกมาตรการให้ราคาพรีเมียม 3 บาทต่อกิโลกรัม ให้กับโรงงานปลาป่นซึ่งเป็นคู่ค้าที่ได้วัตถุดิบปลาจากแหล่งที่มาที่ถูกต้อง ไม่ทำประมงผิดกฎหมาย (supplier premium for non-IUU) โดยต้องมีเอกสารตรวจสอบที่มาของวัตถุดิบได้อย่างถูกต้องเป็นหลักฐานรับรอง และผ่านการตรวจสอบของกรมประมง การจ่ายค่าส่วนเพิ่มดังกล่าวเป็นขั้นตอนหนึ่งที่ซีพีเอฟตัดสินใจทำทันทีเพื่อสนับสนุนให้ผู้ค้าปลาป่นทุกรายเข้าร่วมในโครงการนี้ โดยซีพีเอฟถือเป็นผู้ผลิตรายเดียวที่จ่ายค่าส่วนเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองเต็มรูปแบบว่าไม่ได้มาจากการทำประมงผิดกฎหมายแก่คู่ค้า ซึ่งเมื่อสิ้นสุดปี 2556 บริษัทจ่ายค่าส่วนเพิ่มไปแล้วอีก 48.2 ล้านบาท

ขณะเดียวกันยังเดินหน้าการรับรองห่วงโซ่อุปทานอิสระผ่านทาง ห่วงโซ่อุปสงค์อุปทาน ด้วยการกำลังทำงานกับองค์กรปลาป่นสากล (International Fish Meal & Fish Oil Organization, IFFO) ในโครงการ IFFO RS IP (IFFO RS Improvers Program) ส่วนการทำงานกับรัฐบาลไทย ซีพีเอฟนับว่าเป็นผู้ผลิตรายใหญ่รายเดียวในเอเชียที่ทำงานกับรัฐบาลไทย โดยกรมประมง เพื่อช่วยผลักดันให้เกิดการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายประมง

อย่างไรก็ดี การทำประมงที่ยั่งยืนมิอาจเกิดขึ้นได้ด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หากแต่ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ให้หันมาช่วยกันเร่งพัฒนาการทำประมงอย่างถูกต้อง การทำตามกฎหมาย บนพื้นฐานการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็ต้องมีการควบคุมและตรวจสอบที่เข้มงวดรัดกุม ระบบนิเวศทางทะเล ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมปลาป่น และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่ยั่งยืนก็เกิดขึ้นได้ไม่ยากในบ้านเรา