บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีรัฐบาลไทยถือหุ้น 91% และที่เหลืออีก 9% ถือหุ้นโดยบริษัทสายการบินต่าง ๆ รัฐบาลไทยในฐานะรัฐภาคีขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization -- ICAO) ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบให้ความปลอดภัยในบริการขนส่งทางอากาศเหนือน่านฟ้าประเทศไทยได้มอบหมายให้บริษัทเป็นผู้ให้บริการจราจรทางอากาศ ซึ่งรวมถึงระบบและเทคโนโลยีสำหรับการเดินอากาศของประเทศซึ่งถือเป็นบริการหลักในการให้ความปลอดภัยแก่การขนส่งทางอากาศ ในปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ให้บริการดังกล่าวเพียงรายเดียวของประเทศ โดยมีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมเขตแถลงข่าวการบินกรุงเทพฯ (Bangkok Flight Information Region -- BKK FIR) พร้อมขอบเขตการให้บริการทั้งในส่วนของการจราจรทางอากาศ ข่าวสารการเดินอากาศ และเทคโนโลยีการเดินอากาศตามมาตรฐานและระเบียบวิธีขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ การดำเนินงานของบริษัทขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลเป็นสำคัญ โดยคณะกรรมการของบริษัทจำนวน 9 คนจาก 11 คนได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาล ส่วนอีก 2 คนเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นที่เป็นบริษัทสายการบินสมาชิก ซึ่งคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลส่วนใหญ่ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม ทั้งนี้ งบประมาณการลงทุนต้องได้รับการเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี ในขณะที่โครงสร้าง/อัตราค่าบริการควบคุมจราจรทางอากาศต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการการบินพลเรือน
เนื่องจากบริษัทเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร รูปแบบการคิดค่าบริการจึงมีลักษณะที่ต้องชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้น ทั้งนี้บริษัทยังสามารถปรับวิธีการคิดค่าบริการให้เหมาะสมได้ รายได้ของบริษัทมากกว่า 90% มาจากการให้บริการจราจรทางอากาศ ปริมาณการจราจรทางอากาศมีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมายต่าง ๆ เนื่องจากการเดินทางท่องเที่ยวทางอากาศถูกขับเคลื่อนจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและความกังวลต่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว โดยในช่วงปีงบประมาณ 2552 และ ปีงบประมาณ 2553 บริษัทมีค่าบริการรอเรียกเก็บจากบริษัทสายการบินสมาชิกเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยและความวุ่นวายทางการเมืองซึ่งส่งผลทำให้ปริมาณเที่ยวบินลดลงอย่างมาก โดยในปีงบประมาณ 2556 บริษัทได้ปรับค่าบริการรูปแบบใหม่ให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ ICAO เมื่อรวมกับการฝื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและความนิยมในการใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำส่งผลให้บริษัทมีค่าบริการเรียกเก็บเกินจากบริษัทสายการบินสมาชิกในระหว่างปีงบประมาณ 2554-2556 นอกจากนี้บริษัทยังสามารถลดค่าบริการรอเรียกเก็บสะสมจากบริษัทสายการบินสมาชิกได้ทั้งหมดด้วย
ในปีงบประมาณ 2556 บริษัทมีรายได้รวมเพิ่มสูงขึ้น 16.2% สู่ระดับ 7,996 ล้านบาท สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 คาดว่าบริษัทจะมีรายได้ 4,812 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 25% เมื่อเที่ยบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นและการปรับค่าบริการรูปแบบใหม่เป็นสำคัญ เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 1,186 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2555 เป็น 2,047 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2556 โดยเงินกู้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 4,543 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2555 เป็น 4,683 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2556 ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมปรับตัวดีขึ้นจาก 26.1% ในปีงบประมาณ 2555 เป็น 43.7% ในปีงบประมาณ 2556 ส่วนอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับคงที่ที่ 85% ในช่วงปีงบประมาณ 2555-2556 ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากบริษัทมีแผนการลงทุนจำนวน 8,377 ล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยการลงทุนหลักคือการลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการการเดินอากาศมูลค่าประมาณ 6,400 ล้านบาท ชึ่งจะเป็นการติดตั้งระบบการควบคุมการจราจรทางอากาศแบบใหม่ โดยระบบใหม่นี้จะช่วยปรับปรุงความสามารถของบริษัทในการจัดการการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต ทั้งนี้ เงินลงทุนส่วนใหญ่ของบริษัทจะใช้เงินกู้ยืมบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (AEROTHAI) อันดับเครดิตองค์กร: AA+แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit