ลดหย่อนภาษีด้วยการมีบ้าน

24 Jul 2014
บ้านคือส่วนสำคัญในการเติมชีวิตให้เต็ม การเริ่มต้นหลายๆ อย่างในชีวิต มีบ้านเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ต้องกล่าวถึง แต่ในขณะเดียวกันการซื้อบ้านต้องใช้เงินก้อนใหญ่ หรือหากไม่มีเงินก้อน และเลือกใช้วิธีขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ผลที่ได้มากับบ้านคือรายจ่ายก้อนใหญ่ที่สุดประจำเดือนและมีผลต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ต้องตรวจสุขภาพทางการเงินอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจซื้อ บางคนจึงเลือกที่จะรอเมื่อ “พร้อม” ค่อยซื้อบ้าน ซึ่งเป็นการเสียโอกาสบางอย่างไปอย่างน่าเสียดาย
ลดหย่อนภาษีด้วยการมีบ้าน

เนื่องจากบ้านเป็นของชิ้นใหญ่ที่มาพร้อมภาระ ภาครัฐจึงมีนโยบายเพื่อแบ่งเบาภาระในการผ่อนชำระให้กับประชาชน ในรูปแบบของการ ลดภาษีเงินได้ ที่ต้องจ่ายในแต่ละปีให้น้อยลง โดยกรมสรรพากรให้สิทธิ์ในการนำดอกเบี้ยงินกู้มาใช้ในการลดหย่อนภาษีดังนี้

กรณีกู้คนเดียว บุคคลที่มีเงินได้ในการนำดอกเบี้ยจากการผ่อนบ้านมาหัก ลดหย่อนภาษี ตามที่จ่ายจริงได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี

กรณีสามีภรรยากู้ร่วมกัน ในส่วนนี้จะแตกต่างออกไปเนื่องจาก ส่วนใหญ่แล้วคู่สมรสจะยื่นภาษีร่วมกัน ทำให้เกณฑ์การขอลดหย่อนภาษีต่างออกไป

กรณีสามีภรรยากู้ร่วมกัน โดยมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้นที่มีรายได้ เช่นสามีทำงานประจำ แต่ภรรยาเป็นแม่บ้านหรืองานอื่นเล็กน้อยที่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี สามีเป็นเพียงคนเดียวที่สามารถขอลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งมีสิทธิหักลดหย่อนอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาได้สมรสกัน

หมายถึงต่างคนต่างผ่อนบ้านอยู่ก่อนแล้ว และมาแต่งงานกัน โดยซื้อบ้านอีกหลังร่วมกัน ให้ยังคงหักลดหย่อน ดังนี้

ถ้าความเป็นสามีภริยามิได้อยู่ตลอดปีภาษีที่ขอหัก คือหย่ากันก่อนครบปีที่ต้องเสียภาษี ให้ต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับบ้านทั้งสองหลัง

ถ้าความเป็นสามีภริยามีอยู่ตลอดปีภาษีที่ขอหัก และ ภริยาไม่ได้ใช้สิทธิแยกยื่นภาษี ยังสมรสกันอยู่ตลอดปีภาษี และยื่นเสียภาษีเงินได้ร่วมกัน ให้หักลดหย่อนรวมกันแล้วไม่เกิน 100,000 บาท

ถ้าความเป็นสามีภริยามีอยู่ตลอดปีภาษีที่ขอหัก และภริยาใช้สิทธิแยกยื่นภาษี ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนได้กึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันไม่เกิน100,000 บาท

การขอลดหย่อนภาษีในกรณีกู้ร่วมจะลดหย่อนได้เท่าไหร่ขึ้นอยู่กับวิธีการยื่นภาษี ว่ายื่นร่วมกันหรือแยกกันหากก่อนสมรสต่างฝ่ายต่างมีภาระผ่อนบ้านอยู่ก่อนแล้ว เมื่อสมรสกันสิทธิลดหย่อนจะลดลงจากเดิม เหลือหักได้สูงสุดรวมแล้วไม่เกิน 100,000 บาท

สิทธิ์การขอลดหย่อนภาษีจากการซื้อที่อยู่อาศัยนี้ ครอบคลุมเฉพาะการซื้อแบบขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเท่านั้น เนื่องจากเป็นการนำดอกเบี้ยที่จ่ายให้สถาบันการเงินไปมาใช้ลดหย่อน การซื้อบ้านด้วยเงินสดไม่มีภาระส่วนนี้ จึงเสียสิทธิ์นี้ไป

แต่ในขณะเดียวกัน หากมีกำลังซื้อแต่ต้องการลดหย่อนภาษีจึงเลือกซื้อแบบผ่อนชำระกับสถาบันการเงิน ก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เนื่องจากดอกเบี้ยที่เสียให้กับธนาคารไปอาจไม่คุ้มค่ากับการลดหย่อนภาษี 100,000 บาทในแต่ละปี ควรคำนวณความคุ้มค่าก่อนการตัดสินใจ

การเลือกวิธีใช้เงินในการลงทุนซื้อบ้าน จึงต้องคิดให้รอบด้านและรอบคอบ

ที่มา www.terrabkk.com